home

Southeast Asia’s War on Drugs Is a Grotesque Failure, but Why Stop?

สิงหาคม 22, 2014
Southeast Asia’s War on Drugs Is a Grotesque Failure, but Why Stop?

Southeast Asia’s War on Drugs Is a Grotesque Failure, but Why Stop?*
(สงครามยาเสพติดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นความล้มเหลวที่ยิ่งลุกลาม แต่จะหยุดกระนั้นหรือ?)
Samuel Oakford

แปลและเรียบเรียงโดย
ภาคิน นิมมานนรวงศ์

ข่าวคราวความสำเร็จในการควบคุมและปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดด้วยกฎหมายในสหรัฐอเมริกาและอุรุกวัย อาจทำให้เราหลงลืมไปได้ง่าย ๆ ว่า สงครามต่อต้านยาเสพติดยังคงดำเนินอยู่ในหลายพื้นที่ในโลก และไม่มีที่ใดที่สงครามครั้งนี้จะฝังรากลึกได้เท่ากับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในปี 2541 ขณะที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้จัดประชุมวาระพิเศษพร้อมประกาศว่า “โลกที่ปลอดยาเสพติด” นั้นเป็นไปได้จริง อาเซียนได้ทำสิ่งเหลือเชื่อกว่าด้วยการประกาศเป้าหมายในการทำให้ทั้งภูมิภาค “ปลอดยาเสพติด” ภายในปี 2558

ทว่าเพียงไม่ถึงหนึ่งปีหลังจากนั้น ผลลัพธ์ที่อาเซียนได้กลับเป็นในทางตรงกันข้าม อัตราการปลูกฝิ่นในสามเหลี่ยมทองคำ ดินแดนซึ่งขึ้นชื่อเรื่องสิ่งผิดกฎหมายบริเวณรอยต่อของลาว เมียนมาร์ และไทย ที่เริ่มลดลงในกลางทศวรรษ 2540 กลับเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัวในรอบสิบปีหลังสุด และคิดเป็นร้อยละ 30 ของการปลูกฝิ่นทั่วโลกในปัจจุบัน

พื้นที่การปลูกฝิ่นในเมียนมาร์ ประเทศผู้ปลูกฝิ่นรายใหญ่อันดับสองของโลก ขยายตัวขึ้นสามเท่านับแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ผู้คนตามเมืองต่าง ๆ เสพเฮโรอีนกันอย่างเปิดเผยและบางครั้งก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาร่วมวงอยู่ด้วย ทั้งที่เมื่อสิบปีก่อน เมืองบางเมืองแทบจะไม่เหลือพื้นที่สำหรับปลูกฝิ่นอยู่แล้ว แต่เนื่องจากหนทางในการหาเลี้ยงชีพที่มีอยู่จำกัด ผู้คนจึงแทบไม่เหลือทางเลือกใดนอกเสียจากหันกลับมาปลูกฝิ่นอีกครั้ง

ในเวลาเดียวกัน ยาเสพติดประเภทเมทแอมเฟตามีน และ “วัตถุที่มีส่วนผสมของแอมเฟตามีน” อื่น ๆ ต่างแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นแหล่งขนส่งยาเสพติด ปัจจุบันได้กลายเป็นที่ตั้งของห้องแล็บและเป็นตลาดค้ายาเสพติดขนาดใหญ่ นับตั้งแต่ปี 2551 จำนวนการจับกุมผู้ค้าและผู้เสพยาเสพติดในเอเชียตะวันออก ตะวันออกเฉียงใต้ โอเชียเนีย และแปซิฟิก เพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าตัว

ยาเสพติดประเภทเมทแอมเฟตามีนที่ผลิตในห้องแล็บในสามเหลี่ยมทองคำและในรัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ ส่งต่อไปทั่วทั้งภูมิภาคในรูปของ “ยาบ้า” อัดเม็ดผสมคาเฟอีนและมีสีสันสดใส ผู้เสพติดยาราคาถูกนี้มีตั้งแต่เด็ก โสเภณี แรงงานชนชั้นกลาง ไปจนถึงคนขับรถบัส ตามรายงานของสหประชาชาติพบว่า คนไทยที่เข้าบำบัดอาการติดยาเสพติดในปี 2555 ร้อยละ 80 เป็นผู้เสพยาประเภทเมทแอมเฟตามีน

ผู้ค้ายาท้องถิ่นที่เข้าไปพัวพันกับการค้ายาประเภทเมทแอมเฟตามีนได้สร้างสายสัมพันธ์กับพ่อค้ายาเสพติดที่อยู่ต่างทวีปอย่างเช่นในไนจีเรีย ระหว่างปี 2552-2556 ชาวต่างชาติเกินครึ่งหนึ่งที่ถูกจับกุมในสนามบินนานาชาติกรุงลากอสในข้อหาลักลอบค้ายาที่มีส่วนผสมของแอมเฟตามีนเป็นชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มาร์ติน เยลส์มา ผู้ประสานงานโครงการยาเสพติดและประชาธิปไตยของ Transnational Institute (TI) และผู้เขียนรายงานเรื่อง “Relapse in the Golden Triangle” ให้ความเห็นว่า “เส้นตายของการสร้างภูมิภาคที่ปลอดยาเสพติดเป็นเรื่องไร้สาระ” และ “การเชื่อว่าคุณสามารถขจัดการค้ายาเสพติดให้หมดไปได้จริงเป็นเพียงภาพลวงตา ในเมื่อความจริงคือขนาดของตลาดการค้ายาเสพติดไม่ได้ลดลงเลยแม้แต่น้อย”

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ผู้นำสิบชาติอาเซียนได้หารือกันในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนว่าด้วยยาเสพติด ครั้งที่ 35 ณ กรุงมะนิลา ทว่าแทบไม่มีการถกเถียงกันเกี่ยวกับประเด็นนี้แต่อย่างใด

กลอเรีย ไล ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียจากสถาบัน International Drug Policy Consortium ซึ่งเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ด้วย ให้ความเห็นว่า “ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปนโยบายหรือกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นเรื่องต้องห้าม ขณะที่กระบวนการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับยาเสพติดในอาเซียนเองก็ไม่ค่อยเปิดพื้นที่ให้กับการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและทัศนะเกี่ยวกับยาเสพติดในแง่มุมอื่น ๆ เลย” นอกจากนี้ “หลายคนดูเหมือนจะเห็นด้วยกับนโยบายและการรณรงค์เพื่อควบคุมการระบาดของยาเสพติด โดยไม่ค่อยเห็นใจผู้ที่ค้าหรือเสพยาเสพติดเท่าใดนัก”

นโยบายเกี่ยวกับยาเสพติดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนมากแล้วเป็นมรดกจากยุคอาณานิคม กฎหมายภาษีของเมียนมาร์ฉบับปี 2448 ระบุห้ามไม่ให้ใครก็ตามใช้หรือพกพาเข็มฉีดยาโดยไม่มีใบอนุญาต โดยผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับเป็นเงินรูปี ซึ่งเป็นค่าเงินที่เมียนมาร์เลิกใช้มาแล้วกว่า 60 ปี

หลังสิ้นยุคอาณานิคม โลกหันมาประกาศให้กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเป็นอาชญากรรม ภายใต้การนำของสหรัฐ รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ พบช่องทางในการควบคุมประชากรของตนด้วยการทำสงครามต่อต้านยาเสพติด โดยที่กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้กำหนดบทลงโทษไว้รุนแรงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ผู้กระทำผิดที่แม้จะไม่ได้ก่อความรุนแรงใด ๆ มักถูกลงโทษประหารชีวิต เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เวียดนามเพิ่งสั่งประหารชีวิตผู้ลักลอบขนเฮโรอีนถึง 30 คน ขณะที่เมื่อสี่ปีก่อน อินโดนีเซียได้เพิ่มโทษจำคุกขั้นต่ำสำหรับคดียาเสพติด ทำให้ทุกวันนี้ ในบาหลี การถูกจับกุมในข้อหามีสารเสพติดในครอบครองแค่ 0.05 กรัมอาจทำให้ต้องติดคุกสองถึงสามปี ขณะที่การครอบครองเฮโรอีนเกิน 5 กรัมขึ้นไปอาจถูกสั่งจำคุกตลอดชีวิต

อย่างไรก็ตาม กฎหมายเหล่านี้ไม่อาจหยุดการค้ายาเสพติดได้ มิหนำซ้ำยังทำลายชีวิตของผู้ที่เสพยารายย่อยและผลักให้ผู้ติดยาเสพติดไปอยู่ในมุมมืดของสังคมจนไม่ได้รับการรักษาทางการแพทย์หรือการเยียวยาที่เหมาะสม หนึ่งในห้าของผู้เสพยาเสพติดในไทย เมียนมาร์ และกัมพูชาติดเชื้อเฮชไอวี ส่วนในอินโดนีเซีย ตัวเลขคิดเป็นร้อยละ 36 ของผู้เสพยาทั้งหมด

ในบรรดาชาติอาเซียนด้วยกันเอง ประเทศไทยซึ่งมีนักโทษอยู่กว่า 300,000 คน มากกว่านักโทษในฝรั่งเศส สเปน อาร์เจนติน่า อียิปต์ และออสเตรเลียรวมกัน เป็นประเทศที่ทำสงครามปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มข้นที่สุด องค์กร Human Rights Watch ประเมินว่า เฉพาะในปี 2546 รัฐบาลไทยได้ใช้กระบวนการนอกกฎหมายตัดตอนผู้ที่อาจเกี่ยวข้องกับยาเสพติดไปกว่า 2,800 คน ขณะเดียวกัน ยังมีรายงานว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน บังคับใช้แรงงาน และทรมานผู้ที่เข้ารับการบำบัดอาการติดยาเสพติดในหลายประเทศ อาทิ เวียดนาม กัมพูชา และลาว

ถึงกระนั้น แม้จะมีรายงานถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการทำสงครามต่อต้านยาเสพติดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ซึ่งมีกำหนดจะทบทวนแผนการสร้างภูมิภาคปลอดยาเสพติดของอาเซียนในปลายปีนี้ ยังคงสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินจำนวนหลายล้านดอลลาร์ต่อไปจนถึงปี 2560 อันที่จริง UNODC ได้รับทุนสนับสนุนจากกลุ่มประเทศตะวันตกที่เป็นกังวลว่ายาเสพติดเหล่านี้จะตกถึงมือพลเมืองของพวกเขา โดยไม่ค่อยใยดีกับผลกระทบของสงครามต่อต้านยาเสพติดที่เกิดขึ้นกับชีวิตของผู้คนในประเทศที่ห่างไกล

กลอเรีย ไล ให้ความเห็นว่า “ผลกำไรมหาศาลจากการค้ายาเสพติดได้บ่อนทำลายกลไกการทำงานของรัฐบาลจากการคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐเอง”  ไม่นานมานี้ รัฐบาลเมียนมาร์เพิ่งออกมายอมรับว่าพวกเขาไม่สามารถขจัดการปลูกฝิ่นให้หมดไปก่อนกำหนดการณ์เดิมในปี 2557 (พร้อมขอขยายเวลาไปอีกห้าปี) ขณะเดียวกัน บางคนประเมินว่า ปัจจุบัน เมียนมาร์คือแหล่งผลิตยาเสพติดประเภทเมทแอมเฟตามีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปัญหาสำคัญเกิดจากนโยบายในการปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลเมียนมาร์ที่เน้นไปที่การเผาทำลายไร่ฝิ่น แทนที่จะจัดการกับการสมรู้ร่วมคิดและเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ของเจ้าหน้าที่รัฐเอง

การเผาทำลายไร่ฝิ่นทำให้ชาวบ้านผู้ปลูกต้องย่ำอยู่กับความยากจนต่อไป ไลกล่าวว่า “ฝิ่นมีคุณประโยชน์ทางการแพทย์และทางวัฒนธรรม นอกจากนี้ ผู้ปลูกฝิ่นยังมักเป็นชาวนายากจนในพื้นที่ห่างไกลที่ต้องการตอบสนองความจำเป็นทางเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานของตนเอง” การขยายตัวของการปลูกฝิ่นจึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับการขาดแคลนทางเลือกในการเลี้ยงชีพของคนในชนบท

โมเดลการจัดการปัญหายาเสพติดที่น่าสนใจอยู่ในลาตินอเมริกา เมื่อรัฐบาลโบลิเวียสามารถลดการปลูกโคเคนได้ด้วยการทำให้โคเคนเป็นสิ่งถูกกฎหมายตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและอาศัยความร่วมมือกับสหภาพของเกษตรกรผู้ปลูกโคเคน จนทำให้พวกเขาได้รับรายได้ที่แน่นอนและมั่นใจว่าไร่นาของตนจะไม่ถูกเผาทำลาย

อย่างไรก็ตาม เรายังคงต้องรอดูพัฒนาการของนโยบายเกี่ยวกับยาเสพติดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป อย่างน้อยที่สุดในช่วงปลายปีที่จะถึงนี้ หลังจาก UNODC ได้ทบทวนแผนการสร้างภูมิภาคที่ปลอดยาเสพติดของอาเซียนเรียบร้อยแล้ว

*แปลและเรียบเรียงจาก Samuel Oakford. (2014). “Southeast Asia’s War on Drugs Is a Grotesque Failure, but Why Stop?”. VICE. Retrieved from https://news.vice.com/article/southeast-asias-war-on-drugs-is-a-grotesque-failure-but-why-stop

Leave A Response

หมวดหมู่

'; collapsItems['collapsCat-51:3'] = '
    '; collapsItems['collapsCat-52:3'] = '
      '; collapsItems['collapsCat-85:3'] = '
        '; collapsItems['collapsCat-86:3'] = '
          '; collapsItems['collapsCat-87:3'] = '
            '; collapsItems['collapsCat-88:3'] = '
              '; collapsItems['collapsCat-94:3'] = '
                '; collapsItems['collapsCat-3:3'] = ''; collapsItems['collapsCat-25:3'] = '
                  '; collapsItems['collapsCat-33:3'] = '
                    '; collapsItems['collapsCat-34:3'] = '
                      '; collapsItems['collapsCat-35:3'] = '
                        '; collapsItems['collapsCat-36:3'] = '
                          '; collapsItems['collapsCat-37:3'] = '
                            '; collapsItems['collapsCat-38:3'] = '
                              '; collapsItems['collapsCat-39:3'] = '
                                '; collapsItems['collapsCat-40:3'] = '
                                  '; collapsItems['collapsCat-41:3'] = '
                                    '; collapsItems['collapsCat-42:3'] = '
                                      '; collapsItems['collapsCat-31:3'] = ''; collapsItems['collapsCat-29:3'] = '
                                        '; collapsItems['collapsCat-30:3'] = '
                                          '; collapsItems['collapsCat-48:3'] = '
                                            '; collapsItems['collapsCat-76:3'] = '
                                              '; collapsItems['collapsCat-32:3'] = ''; collapsItems['collapsCat-45:3'] = '
                                                '; collapsItems['collapsCat-46:3'] = '
                                                  '; collapsItems['collapsCat-47:3'] = '
                                                    '; collapsItems['collapsCat-43:3'] = ''; collapsItems['collapsCat-49:3'] = '
                                                      '; /* Collapse Functions, version 2.0 * *--------------------------------------------------------------------------*/ String.prototype.trim = function() { return this.replace(/^\s+|\s+$/g,""); } function createCookie(name,value,days) { if (days) { var date = new Date(); date.setTime(date.getTime()+(days*24*60*60*1000)); var expires = "; expires="+date.toGMTString(); } else { var expires = ""; } document.cookie = name+"="+value+expires+"; path=/"; } function readCookie(name) { var nameEQ = name + "="; var ca = document.cookie.split(';'); for(var i=0;i ', 'collapse', 0)// ]]>

                                                      คลังข้อมูล

                                                      พบกับเราที่ Facebook

                                                      Tweets ล่าสุด

                                                      ประชุมคณะกรรมการจัดการภัยพิบัติอาเซียน ครั้งที่ 22 ประกาศรื้อการประชุมระดับรัฐมนตรี (AMMDM… http://t.co/WmWTAcz3Zb

                                                      อินโดนีเซีย (5-11 มิ.ย. 56): หน่วยต้านก่อการร้ายอินโดนีเซียถูกวิจารณ์ ทำเกินกว่าเหตุ หน่วยงาน… http://t.co/lapRxcLYyh

                                                      สิงคโปร์ (5-11 มิ.ย. 56): ชาวสิงคโปร์ประท้วงกฎหมายควบคุมเน็ต ชาวสิงคโปร์หลายร้อยคน รวมตัวกัน… http://t.co/txPGxhXgGd

                                                      ชาวสิงคโปร์ประท้วงกฎหมายควบคุมเน็ต: ชาวสิงคโปร์หลายร้อยคน รวมตัวกันประท้วงกฎหมายใหม่ของรัฐบาล… http://t.co/6ucq2Bwvs2

                                                      แผนที่อาเซียน