home

Malaysia as ASEAN Chair in 2015: What To Expect

มกราคม 10, 2015
Malaysia as ASEAN Chair in 2015: What To Expect

มาเลเซียกับตำแหน่งประธานอาเซียน 2558*
(Malaysia as ASEAN Chair in 2015: What To Expect)
โดย Prashanth Parameswaran**

แปลและเรียบเรียงโดย
ภาคิน นิมมานนรวงศ์

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 25 ณ กรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมาร์ ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ของเมียนมาร์ ได้มอบตำแหน่งประธานอาเซียนครั้งต่อไปในปี 2558 ให้กับนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ในฐานะหนึ่งในห้าประเทศก่อตั้งของอาเซียน มาเลเซียจะทำหน้าที่เป็นผู้นำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในหนึ่งปีที่เต็มไปด้วยพัฒนาการสำคัญ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการก่อตั้งประชาคมอาเซียน การบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และการส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับสถาปัตยกรรมระดับภูมิภาค

การสร้างประชาคมระดับภูมิภาคเป็นเป้าหมายสูงสุดของอาเซียนในปีนี้ มาเลเซียต้องรับบทบาทในการประคับประคองให้การก่อตั้งประชาคมอาเซียนเกิดขึ้นจริงภายในวันที่ 31 ธันวาคม แม้หลายฝ่ายยังคงตั้งข้อกังขาว่าประชาคมอาเซียนจะเกิดขึ้นทันกำหนดเวลาหรือไม่ นอกจากนี้ มาเลเซียยังจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดแผนการดำเนินงานของอาเซียนหนึ่งทศวรรษหลังปี 2558 (2559-2568) อีกด้วย

การบูรณาการทางเศรษฐกิจเป็นอีกหนึ่งหน้าที่หลักของมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียน ส่วนสำคัญของการบูรณาการดังกล่าวอยู่ที่การผลักดันการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ให้เป็นผลสำเร็จและมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน มาเลเซียจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยหาข้อสรุปให้กับความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งหากสำเร็จ ข้อตกลงดังกล่าวจะกลายเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมทั้งกลุ่มประเทศอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นไปได้ว่าหากประเทศสมาชิกของข้อตกลง RCEP สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้จริง สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ คือข้อถกเถียงนานัปการเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการบูรณาการเอเชียรูปแบบใหม่ รวมถึงทิศทางและบทบาทของจีนกับสหรัฐอเมริกาในเอเชีย

อีกด้านหนึ่ง ประเด็นเรื่องอนาคตของสถาปัตยกรรมระดับภูมิภาคเป็นความท้าทายที่สำคัญเช่นกัน ประการแรก การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย จะครบรอบหนึ่งทศวรรษในปีนี้ หลายฝ่ายจึงคาดการณ์ว่า น่าจะมีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมบางอย่างเกิดขึ้นในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาปัตยกรรมสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกแห่งนี้ ขณะเดียวกัน มาเลเซียยังต้องมีบทบาทนำในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถาบันต่าง ๆ ของอาเซียน ทั้งยังต้องพยายามโน้มน้าวประเทศสมาชิกให้สนับสนุนการทำงานของอาเซียนในด้านต่าง ๆ ให้มากขึ้นกว่าเดิม

ด้วยภารกิจนานัปการ กอปรกับการที่มาเลเซียได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรประจำคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ในปีเดียวกัน รัฐบาลมาเลเซียจึงคาดหวังอย่างยิ่งว่าข้อพิพาทในทะเลจีนใต้จะไม่ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง แม้ว่ามาเลเซียจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีส่วนได้ส่วนเสียในความขัดแย้งครั้งนี้ แต่ตลอดมา มาเลเซียเลือกที่จะเจรจาเพื่อแก้ไขความขัดแย้งอย่างสงบ เพื่อรักษาสมดุลระหว่างผลประโยชน์แห่งชาติกับความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ความขัดแย้งในน่านน้ำแห่งนี้ดังเช่นที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว อาจทำให้ชาติอาเซียนต้องแตกแยกกันเอง หรืออาจบีบให้ประธานอาเซียนต้องออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนของตนเป็นการเฉพาะ อีกทั้ง ท่าทีอันแข็งกร้าวของจีนต่อเวียดนามหรือฟิลิปปินส์ หรือคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการต่อกรณีที่ฟิลิปปินส์ฟ้องร้องว่าจีนละเมิดน่านน้ำของตน อาจเป็นชนวนที่ปลุกความขัดแย้งดังกล่าวให้รุนแรงขึ้นอีกครั้ง สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นบททดสอบสำคัญว่ามาเลเซียมีความสามารถในการต่อรอง โน้มน้าว และหาทางออกให้กับความขัดแย้งอย่างประนีประนอมมากน้อยเพียงใด

นอกเหนือไปจากเป้าหมายข้างต้น คำขวัญสำหรับการเป็นประธานอาเซียนที่ว่า “ประชาชนของเรา ประชาคมของเรา วิสัยทัศน์ของเรา” ยังสะท้อนว่ามาเลเซียมุ่งหมายที่จะ “ทำให้อาเซียนใกล้ชิดกับประชาชนมากยิ่งขึ้น” ตามที่นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค เคยประกาศไว้ บางคนอาจเห็นว่าข้อความดังกล่าวเป็นเพียงเรื่องตลก เนื่องจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองยังคงถูกครอบงำโดยระบอบการเมืองอำนาจนิยมหรือกึ่งอำนาจนิยมเป็นหลัก ขณะที่พรรครัฐบาลมาเลเซียเองก็เพิ่งสูญเสียคะแนนนิยมจากประชาชนไปมากในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2556 อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของการสร้าง “อาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ก็เป็นสิ่งที่น่ายกย่องอยู่ดี เพราะในทุกวันนี้ ประชาชนยังคงมีความตระหนักในความสำคัญอยู่อาเซียนไม่มากนัก และการดำเนินโครงการต่าง ๆ ยังคงอยู่ภายใต้แรงผลักดันของชนชั้นนำเป็นหลัก

ปี 2558 จะเป็นปีที่สำคัญยิ่งต่ออาเซียนเอง และเป็นเรื่องดีที่หนึ่งในสมาชิกก่อตั้งของอาเซียนจะเป็นผู้คอยถือหางเสือประคับประคองอาเซียนเอาไว้ มาเลเซียได้ไล่เรียงแผนงานและเป้าหมายของการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ด้วยความชัดเจนและกระตือรือร้น ต้องติดตามดูกันต่อไปว่า ในปีนี้ มาเลเซียจะสามารถทำหน้าที่ได้ตามที่ประกาศไว้หรือไม่

*แปลและเรียบเรียงจาก Prashanth Parameswaran. (2014). “Malaysia as ASEAN Chair in 2015: What To Expect”. The Diplomat. Retrieved from http://thediplomat.com/2014/11/malaysia-as-asean-chair-in-2015-what-to-expect/

**Prashanth Parameswaran เป็นรองบรรณาธิการนิตยสาร The Diplomat และเป็นนักศึกษาปริญญาเอกด้านกฎหมายและการทูตที่มหาวิทยาลัยทัฟทส์ (Tufts University)

Leave A Response

คลังข้อมูล

พบกับเราที่ Facebook

Tweets ล่าสุด

No tweets found.

แผนที่อาเซียน