home

ความรุนแรงกับกระบวนการสันติภาพในฟิลิปปินส์

มิถุนายน 24, 2015
ความรุนแรงกับกระบวนการสันติภาพในฟิลิปปินส์

ความรุนแรงกับกระบวนการสันติภาพในฟิลิปปินส์*
โดย สรพงษ์ ลัดสวน
ผู้ช่วยผู้ประสานงานโครงการ “จับตาอาเซียน”

กระบวนการสันติภาพมินดาเนาของฟิลิปปินส์ กำลังเข้าสู่ช่วงเวลาสำคัญ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีกำหนดลงมติร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร (Bangsamoro Basic Law) ภายในเดือนมิถุนายนนี้ร่างกฎหมายนี้ระบุถึงการจัดตั้งรูปแบบเขตปกครองตนเองขึ้นใหม่ ในพื้นที่เกาะมินดาเนา หลังจากที่รัฐบาลและแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front – MILF) ได้ลงร่วมลงนาม “ข้อตกลงบังซาโมโรที่ครอบคลุม” (Comprehensive Agreement of Bangsamoro) เมื่อเดือนมีนาคม 2557 อันเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของโรดแมพสันติภาพ หลังจากที่มีความพยายามพูดคุยเจรจากันมากว่า 17 ปี

ในช่วงที่สภากำลังพิจารณาร่างกฎหมายนี้ เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม เมื่อตำรวจคอมมานโดจากกองกำลังพิเศษ เข้าปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย โดยมุ่งจับกุมผู้ก่อการร้ายคนสำคัญที่กบดานอยู่ในพื้นที่เมืองมามาซาปาโนทางตะวันตกของเกาะมินดาเนา ทว่า กลับต้องเผชิญหน้ากับกองกำลังแนวร่วมของ MILF โดยบังเอิญทำให้เกิดการต่อสู้กันนานถึง 11 ชั่วโมง เป็นเหตุให้ตำรวจคอมมานโด 44 ราย MILF 18 ราย และพลเรือนอีก 4 ราย เสียชีวิต ฝ่าย MILF ระบุว่าหน่วยงานราชการไม่ประสานงานกัน อีกทั้งยังไม่ประสานมายัง MILF เพื่อเข้ามาปฏิบัติการในพื้นที่ ทำให้เกิดความสับสน

โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นส่งผลโดยทันทีต่อกรอบเวลาของกระบวนการสันติภาพ รวมทั้งยังส่งผลต่อการพิจารณาร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโรในรัฐสภา ภายหลังจากที่คณะกรรมการเฉพาะกิจของสภาผู้แทนราษฎร และสภาชิกวุฒิสภาบางส่วน ลงมติชะลอการรับร่างกฎหมายไว้พิจารณา ทางด้านสถานีตรวจสภาพสังคม (Social Weather Stations-SWS) ได้สำรวจความคิดเห็นของชาวฟิลิปปินส์ ต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ภายหลังเหตุการณ์ 25 มกราคม พบว่าชาวฟิลิปปินส์เพียงร้อยละ 23 เท่านั้น ที่สนับสนุนร่างกฎหมายนี้ ทั้งนี้ หลายฝ่ายต้องการให้สืบหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ ก่อนที่จะมุ่งแต่ดำเนินกระบวนการสันติภาพ

อย่างไรก็ตาม การจัดการความรุนแรงด้วยการค้นหาความจริงในโศกนาฏกรรมดังกล่าว ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการสันติภาพมินดาเนา เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม ไม่เพียงหน่วยงานรัฐบาลเท่านั้นที่เข้าไปดำเนินการ แต่คู่กรณีคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ และกลุ่ม MILF รวมทั้งวุฒิสภา ได้พยายามค้นหาความจริงเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอีกด้วยขณะที่ “สภาเพื่อสันติภาพของฟิลิปปินส์”(Peace Council) ได้เรียกร้องให้รัฐสภาหันกลับมาพิจารณาร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโรโดยเสนอว่า“เราหวังว่ารัฐสภาและประชาชนสามารถเอาชนะอคติที่มีได้ เราไม่สามารถแสวงหาสันติภาพ บนพื้นฐานของความกลัวและความไม่ไว้วางใจกัน ทุกคนต้องพยายามช่วยกันค้นหาเพื่อสร้างความยุติธรรม ความจริง ความนอบน้อม ความรัก และความสงบสุข”ต่อมาคณะกรรมการเฉพาะกิจของสภาผู้แทนราษฎร จึงหยิบยกร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง โดยระบุว่าต้องการแยกการพิจารณาร่างกฎหมายออกจากเหตุการณ์การปะทะวันที่ 25 มกราคม

ในส่วนของประธานาธิบดีอาคีโนเอง ก็มีเป้าหมายชัดเจนที่ต้องการยุติการสู้รบระหว่างรัฐบาลกับ MILF ก่อนที่เขาจะหมดวาระในกลางปี2559 โดยในเดือนมีนาคม ประธานาธิบดีได้เชิญตัวแทนภาครัฐและภาคสังคมต่างๆไม่ว่าจะเป็นผู้นำองค์กรศาสนา อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ขบวนการสันติภาพ ตัวแทนภาคประชาสังคม คณบดีคณะนิติศาสตร์ ผู้นำนักธุรกิจ และอดีตผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 1987 เข้าร่วมประชุมศึกษาร่างกฎหมาย เพื่อช่วยสร้างความกระจ่างให้แก่สังคม รวมถึงพิจารณาประเด็นต่างๆ ของข้อเสนอกฎหมาย โดยประธานาธิบดีและรัฐบาลหวังว่า การสร้างการมีส่วนร่วมจะทำให้ร่างกฎหมายนี้ผ่านรัฐสภาได้ง่ายขึ้น

ในปัจจุบันร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร ได้ผ่านการปรึกษาหารือสาธารณะจากหลายภาคส่วนไม่ใช่เพียงชาวมุสลิมในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังมีชาวคริสต์ ชนพื้นเมือง และองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ โดยในขั้นตอนสุดท้าย ชาวฟิลิปปินส์ต้องมีส่วนร่วมในการลงประชามติ ขณะที่แนวโน้มการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นไปในทางที่ดี เมื่อคณะกรรมการเฉพาะกิจของสภาผู้แทนราษฎร ใช้เวลากว่า 12 ชั่วโมง ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม พิจารณาลงมติผ่านร่างกฎหมายด้วยคะแนน 50 ต่อ 17 เสียง ในขั้นนี้มีการแก้ไข 32 จุด (32 amendments) โดยเฉพาะประเด็นประมุขเชิงสัญลักษณ์ (ceremonial president) หรือ “Wali” ของเขตบังซาโมโร เนื่องจากข้อถกเถียงเรื่องการเป็นรัฐซ้อนรัฐ และแนวโน้มของการแบ่งแยกอำนาจทางการปกครองของรัฐบาล คณะกรรมการฯจึงได้ลงมติตัดประเด็นดังกล่าวออกไป

ถึงแม้ว่าร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร จะสามารถผ่านการพิจารณาในชั้นกรรมการเฉพาะกิจไปได้ แต่ในชั้นรัฐสภาคงมีการอภิปรายกันเต็มที่ก่อนลงมติ ขณะที่อุปสรรคของการผ่านกฎหมายนี้ยังอยู่ที่ปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในประเด็นอำนาจพิเศษที่อาจกระทบต่ออธิปไตยของชาติ ดังนั้น ความเข้าใจในรัฐธรรมนูญและการแก้ไขร่างกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้า และเป็นผลผลิตชิ้นงามจากต้นทุนความสูญเสียมากมายจากอดีตที่ผ่านมา

* บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 11 มิถุนายน 2558

Leave A Response

คลังข้อมูล

พบกับเราที่ Facebook

Tweets ล่าสุด

No tweets found.

แผนที่อาเซียน