home

ยุทธศาสตร์การเป็นแกนกลางทางทะเลโลกของอินโดนีเซีย

กรกฎาคม 24, 2015
ยุทธศาสตร์การเป็นแกนกลางทางทะเลโลกของอินโดนีเซีย

ยุทธศาสตร์การเป็นแกนกลางทางทะเลโลกของอินโดนีเซีย*
โดย ภาคิน นิมมานนรวงศ์
ผู้ช่วยผู้ประสานงานโครงการ “จับตาอาเซียน”

ตลอดเวลากว่า 8 เดือน ภายใต้การบริหารประเทศของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด หรือ “โจโกวี” นักวิเคราะห์ทั้งในและต่างประเทศ เริ่มตั้งข้อสังเกตตรงกันว่า อินโดนีเซียของนายโจโกวี อาจไม่ได้ก้าวหน้าอย่างที่หลายคนหวังไว้ ความขัดแย้งกับต่างประเทศ ทั้งในประเด็นเรื่องผู้อพยพผิดกฎหมาย การตัดสินประหารชีวิตนักโทษในคดียาเสพติดชาวต่างชาติ ตลอดจนการระเบิดเรือประมงที่ลุกล้ำน่านน้ำ เป็นปัจจัยที่สร้างเสียงวิจารณ์ว่า รัฐบาลของโจโกวีให้ความสำคัญกับนโยบายภายในมากเกินไป จนละเลยการรักษาภาพลักษณ์และความสัมพันธ์ในเวทีระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของนายโจโกวีให้น้ำหนักกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศไม่น้อยเช่นกัน ในวันรับตำแหน่ง เขาได้ประกาศหมุดหมายสำคัญของนโยบายด้านการระหว่างประเทศ นั่นคือการพัฒนาอินโดนีเซียให้กลายเป็น “แกนกลางทางทะเลของโลก”(Global Maritime Axis) เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางการค้าและเส้นทางยุทธศาสตร์ความมั่นคง ระหว่างสองมหาสมุทรสำคัญอย่างมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก ที่รายล้อมไปด้วยชาติมหาอำนาจต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยมีอินโดนีเซียเป็นแกนกลาง

นโยบายดังกล่าวประกอบด้วยเสาหลัก 5 ประการ ได้แก่ (1) อินโดนีเซียเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางทะเล จึงไม่สามารถแยกการพัฒนาประเทศออกจากการจัดการพื้นที่ทางทะเล (2) ต้องให้ความสำคัญกับการรักษาและจัดการทรัพยากรทางทะเล (3) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมโยงทางทะเลกับนานาชาติ (4) ต้องหยุดยั้งบ่อเกิดของความขัดแย้งทางทะเลต่างๆ และ (5) ต้องยกระดับความมั่นคงทางทะเลของตนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นายโจโกวีได้นำเสนอวิสัยทัศน์นี้ในเวทีการประชุมนานาชาติเป็นครั้งแรก ระหว่างการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกที่เมียนมาร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 ถ้อยแถลงดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีนักวิชาการอินโดนีเซียออกมาชื่นชมว่า ยุทธศาสตร์นี้สะท้อนว่ารัฐบาลของนายโจโกวีมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า เป้าหมายในการพัฒนาชาติของอินโดนีเซีย แยกไม่ออกจากตำแหน่งแห่งที่ทางภูมิศาสตร์ของประเทศ ซึ่งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่กำลังทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน ผู้นำต่างชาติ อาทิ นายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ได้แสดงความชื่นชมในวิสัยทัศน์นี้ และย้ำว่าญี่ปุ่นพร้อมเป็นพันธมิตรทางทะเลกับอินโดนีเซีย เพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

กระนั้น นายโจโกวีทราบดีว่า นโยบายดังกล่าวต้องอาศัยเวลาและการเตรียมการในหลายมิติ ปัจจุบันอินโดนีเซียต้องเผชิญความท้าทายที่สำคัญที่สุดอย่างน้อย 2 เรื่อง ได้แก่ ข้อจำกัดด้านงบประมาณทางทหารและโครงสร้างพื้นฐานทางทะเล ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะทำให้อินโดนีเซียกลายเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการค้า การลงทุน และการคมนาคมทางทะเลระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แม้งบประมาณด้านความมั่นคงของอินโดนีเซียในรอบทศวรรษที่ผ่านมา จะเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าตัว จาก 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.7 หมื่นล้านบาท) ในปี 2544 เป็น 8.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.8 แสนล้านบาท) ในปี 2556 แต่งบประมาณดังกล่าวกลับมีสัดส่วนคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.9 ของ GDP ของประเทศ น้อยกว่ามหาอำนาจในเอเชียอื่นๆ ทั้งในแง่สัดส่วนที่หลายประเทศมักมีงบประมาณด้านการทหารคิดเป็นราวร้อยละ 2 ของ GDP และในแง่จำนวนเงิน ซึ่งหลายประเทศทุ่มงบประมาณด้านความมั่นคงเป็นหลักหมื่นถึงแสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ยังไม่นับว่าแสนยานุภาพของกองทัพเรือของอินโดนีเซีย รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานอย่างเช่นท่าเรือต่างๆ ของอินโดนีเซีย ยังด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอีกหลายประเทศ

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว นายโจโกวีจึงประกาศแผนเพิ่มงบประมาณด้านการทหาร ให้มีสัดส่วนเป็นร้อยละ 1.5 ของ GDP เพื่อจัดสรรให้กับการยกระดับประสิทธิภาพของกองทัพเรือ ให้พร้อมรับมือกับภัยคุกคามทางทะเล และรักษาเสถียรภาพของน่านน้ำสำคัญของโลกทั้งสองแห่ง ขณะเดียวกัน เขายังวางแผนดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางทะเลของอินโดนีเซียอีกด้วย

ตัวอย่างของการดำเนินนโยบายในลักษณะที่สอง เห็นได้จากการเดินทางเยือนญี่ปุ่นและจีนในช่วงต้นปี 2558 ในการหารือกับประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ผู้นำจีนได้ยืนยันว่าพร้อมผลักดันให้นักลงทุนจีนเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียผ่านการสนับสนุนของ “ธนาคารเพื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย” (Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB) และ “กองทุนเส้นทางสายไหม”(Silk Road Fund) โดยจีนเห็นว่าอินโดนีเซียเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญบนเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 ทำให้แผนยุทธศาสตร์ทางทะเลของทั้งสองประเทศสอดคล้องกัน

ขณะที่ในการหารือกับนายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ ของญี่ปุ่น ทั้งสองได้ตกลงที่จะจัดการประชุมทางทะเลระดับทวิภาคีร่วมกัน ผู้นำญี่ปุ่นกล่าวว่า พร้อมร่วมมือกับอินโดนีเซียในการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมทางทะเลของอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังพร้อมให้ความช่วยเหลือในด้านการยกระดับความสามารถ ในการรักษาความปลอดภัยทางทะเลและการลาดตระเวนชายฝั่ง

น่าจับตาต่อไปว่ารัฐบาลนายโจโกวีจะผลักดันยุทธศาสตร์ดังกล่าว ให้พัฒนาไปได้ไกลเพียงใด ความสำเร็จของการเป็นแกนกลางทางทะเลโลก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารงานของรัฐบาลเท่านั้น แต่อุปสรรคในแง่งบประมาณด้านความมั่นคง และขีดจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานดังที่กล่าวไป ยังเป็นปัจจัยชี้ขาด แม้นายโจโกวีจะตระหนักถึงความจำเป็นในการก้าวข้ามอุปสรรคดังกล่าว แต่หนทางข้างหน้ายังเต็มไปด้วยโอกาส และความท้าทายที่ยากจะคาดเดา โดยเฉพาะในกรณีของการเพิ่มงบประมาณให้กับกองทัพเรือ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า อาจสร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายกองทัพบกซึ่งยังเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลทางการเมืองอยู่มากในอินโดนีเซีย และอาจกลายเป็นชนวนความขัดแย้ง ที่กระทบต่อความมั่นคงทางการเมืองของนายโจโกวีได้เช่นกัน.

* บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 9 กรกฎาคม 2558

ภาพ: futurecenter.ae

Leave A Response

คลังข้อมูล

พบกับเราที่ Facebook

Tweets ล่าสุด

No tweets found.

แผนที่อาเซียน