home

Five Facts about the ASEAN Economic Community

สิงหาคม 24, 2015
Five Facts about the ASEAN Economic Community

Five Facts about the ASEAN Economic Community*
(ข้อเท็จจริง 5 ประการเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน – AEC)
โดย Sanchita Basu Das**

 เกริ่นนำ

กำหนดการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปลายปี 2558 กำลังใกล้เข้ามาถึง แต่แผนการต่างๆ ที่อาเซียนวางไว้กลับประสบกับแรงต้านมากกว่าการสนับสนุน หลายคนวิจารณ์ว่าเป้าหมายของการส่งเสริมการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และแรงงานฝีมืออย่างเสรีของอาเซียนจะไม่สำเร็จทันปลายปีนี้ ข้อวิจารณ์นี้เป็นความจริงอยู่บ้าง แต่เราควรถามตัวเองเช่นกันว่าความหมายเริ่มแรกของ AEC คืออะไร เราจะโทษอาเซียนได้มากน้อยเพียงใดหาก AEC ไม่บรรลุเป้าหมายดังที่หวัง เราควรโทษ AEC ว่าเป็นตัวการในการทำให้นโยบายเศรษฐกิจภายในของชาติสมาชิกเปลี่ยนไปและต้องรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ในแง่ลบที่อาจเกิดขึ้นตามมาหรือไม่ การตอบคำถามเหล่านี้อาจเริ่มจากการทบทวนข้อเท็จจริง 5 ประการเกี่ยวกับการก่อตั้ง AEC

ข้อเท็จจริงประการที่ 1: AEC ไม่ได้พัฒนาตามโมเดลของสหภาพยุโรป ถึงแม้เราจะสามารถเรียนรู้บทเรียนบางอย่างจากสหภาพยุโรปได้

AEC ไม่ได้เดินตามแนวทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจของยุโรป แต่ก่อตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับการสร้างอัตลักษณ์ร่วมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับตั้งแต่การก่อตั้งอาเซียน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของชาติสมาชิกดำเนินไปด้วยความสมัครใจ เป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไป และมีเป้าหมายในระยะยาว หาได้มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับแน่นอนตายตัวและไม่ใส่ใจต่อลักษณะทั่วไปทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกและบริบทโลกที่กำลังเปลี่ยนไป

ความร่วมมือของอาเซียนแตกต่างจากสหภาพยุโรปในหลายมิติ อาทิ ในขณะที่สหภาพยุโรปอาจอนุญาตให้พลเมืองชาติสมาชิกสามารถเดินทาง ทำงาน และศึกษาเล่าเรียนในประเทศอื่นๆ ได้อย่างเสรี มาตรการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ยากในอาเซียน วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เตือนอาเซียนให้ดำเนินความร่วมมืออย่างระมัดระวังและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความหลากหลาย

ข้อเท็จจริงประการที่ 2: แม้ AEC จะเป็นความร่วมมือระดับภูมิภาค แต่การดำเนินงานต่างๆ ย่อมเกิดขึ้นในระดับภายในประเทศ

ถึงแม้ AEC จะเป็นความร่วมมือในระดับภูมิภาค แต่การดำเนินงานตามข้อตกลงต่างๆ ย่อมเกิดขึ้นในระดับภายในประเทศ มาตรการริเริ่มต่างๆ อาทิ การยกเลิกการกีดกันทางการค้า การเปิดเสรีภาคบริการ การปฏิรูประบบศุลกากร ฯลฯ ล้วนต้องอาศัยการตัดสินใจและการปรับเปลี่ยนนโยบายภายในของประเทศสมาชิก ข้อตกลงต่างๆ ภายใต้แผนการร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียนเกี่ยวกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก ฉะนั้น ต่อให้ชาติสมาชิกหาข้อสรุประหว่างกันได้ในเวทีการประชุมของอาเซียน แต่การนำข้อตกลงไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมภายในประเทศสมาชิกแต่ละประเทศก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่ดี

ประเทศที่มีระดับการพัฒนาต่างกันมีเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ชาติอาเซียนมีเวลาเพียงหนึ่งทศวรรษในการปรับมาตรการภายในให้สอดคล้องกับหลักการในพิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ขณะเดียวกัน วิกฤตเศรษฐกิจในต้นทศวรรษ 2550 ยังทำให้หลายประเทศต้องหันไปแก้ไขปัญหาภายในของตนเองมากกว่าเน้การส่งเสริมการบูรณาการระดับภูมิภาค เราต้องไม่ลืมว่า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จในอดีตล้วนแต่ต้องอาศัยระยะเวลาที่ยาวนานด้วยกันทั้งสิ้น ความร่วมมือของประชาคมเศรษฐกิจยุโรปใช้เวลากว่า 40 ปีกว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเป็นตลาดเดียวได้สำเร็จ

ด้วยเหตุนี้ การกล่าวโทษองค์กรอาเซียนว่าไม่มีประสิทธิภาพในการผลักดันให้ข้อตกลงต่างๆ ของ AEC เกิดขึ้นได้จริงตามกำหนดเวลาจึงไม่ถูกต้องนัก ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่า AEC จะประสบความสำเร็จหรือมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ วิธีที่ดีกว่าคือการประเมินมาตรการริเริ่มและพัฒนาการต่างๆ ภายในประเทศสมาชิกแต่ละประเทศเป็นรายกรณีไป ซึ่งจะช่วยให้เราเห็นภาพความสำเร็จและอุปสรรคตามความเป็นจริง

ข้อเท็จจริงประการที่ 3: เราไม่ควรกล่าวโทษ AEC ว่าเป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงนโยบายภายในทุกอย่างของประเทศสมาชิก

กำหนดการเข้าสู่ AEC ที่กำลังใกล้เข้ามาสร้างความหวั่นวิตกให้กับประเทศสมาชิกที่มองว่าตนเองกำลังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของบางประเทศอาจไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ นำไปสู่การตกงานของประชาชนจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม AEC ไม่ใช่สาเหตุ ทว่าเป็นผลลัพธ์ของกระแสการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา วิกฤตการเงินเอเชียในทศวรรษ 2530 ทำให้ชาติในเอเชียต้องกลับมาคิดถึงการสร้างกลไกในการช่วยเหลือตนเองให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมกว่าที่เคยมีอยู่ การสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจผ่าน AEC เป็นทางออกหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้ประเทศในภูมิภาคสามารถร่วมมือและปรับตัวท่ามกลางบริบทเศรษฐกิจโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปได้ดีขึ้น

เราไม่ควรโทษว่า AEC เป็นสาเหตุของการปรับเปลี่ยนนโยบายทางเศรษฐกิจและต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบในแง่ลบที่อาจเกิดขึ้นจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจของชาติอาเซียน เพราะแต่ละชาติไม่ได้มีกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพียงกรอบเดียว ชาติที่เศรษฐกิจค่อนข้างก้าวหน้า เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ต่างทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีกับคู้ค่าจำนวนมาก ความร่วมมือเหล่านั้นครอบคลุมทั้งด้านการค้าการลงทุน ไปจนถึงความร่วมมือด้านการศึกษา เราจึงไม่ควรมองว่า AEC เป็นต้นเหตุของความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะไม่ว่าประเทศใดก็ตามก็ล้วนเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดโลก และจำต้องปรับตัว ปรับนโยบายภายในให้สอดคล้องและรับมือกับความท้าทายต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

ข้อเท็จจริงประการที่ 4: AEC เป็นความร่วมมือจากบนลงล่าง ดังนั้น การตระหนักรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจึงน้อยและไม่เท่ากันในแต่ละที่

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจค่อยๆ กลายเป็นรูปแบบวิธีการทางการทูตของอาเซียนผ่านการหารือในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศร่วมกับรัฐมนตรีการคลังและการค้าของประเทศสมาชิก ที่ผ่านมา การบูรณาการทางเศรษฐกิจของชาติอาเซียนมักได้รับการผลักดันผ่านเวทีเจรจาหารือของชนชั้นนำในแต่ละประเทศ โดยที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคส่วนอื่นๆ แทบไม่มีส่วนร่วมในการเจรจาเลย การตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับประชาชนจึงยังมีน้อยกว่าในระดับผู้นำประเทศและชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ

ภาคเอกชนในอาเซียนทยอยหันมาแสดงความกังวลต่อผลลัพธ์ของการบูรณาการทางเศรษฐกิจและให้ความสำคัญกับมาตรการความร่วมมือต่างๆ ในระดับภูมิภาคในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเท่านั้น น่าสนใจว่าภาคเอกชนโดยทั่วไปต่างแสดงความกังวลต่อมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีมากเป็นพิเศษ กระนั้นก็ตาม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ ย่อมมีจุดยืนที่สนับสนุนความร่วมมือทางการค้าที่แตกต่างกันไป ขณะเดียวกัน หน่วยงานต่างๆ ของรัฐยังคงมีความรู้เกี่ยวกับ AEC จำกัด และมักไม่ได้เห็นตรงกันในประเด็นเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

ข้อเท็จจริงประการที่ 5: เราควรมอง AEC ร่วมกับประชาคมการเมือง-ความมั่นคงและประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

การสร้างประชาคมอาเซียนเป็นกระบวนที่ครอบคลุมความร่วมมือในหลายมิติ การสร้างสำนึกถึงอัตลักษณ์ของภูมิภาคจะเกิดขึ้นได้จากการทำงานอย่างบูรณาการระหว่างความร่วมมือภายใต้กรอบ AEC หรือ ประชาคมเศรษฐกิจ ประชาคมการเมือง-ความมั่นคง และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม หากความร่วมมือทั้งสามเสาประสบความสำเร็จ ประชาคมอาเซียนในอนาคตก็อาจเป็นประชาคมที่ยึดโยงกันทางการเมือง บูรณาการกันทางเศรษฐกิจ และสามารถร่วมมือกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่ควรพิจารณา AEC โดยแยกขาดจากเสาหลักอื่นๆ และไม่ควรประเมินความสำเร็จของการสร้างประชาคมอาเซียนด้วยการตัดสินจาก AEC เพียงอย่างเดียว อาเซียนมุ่งมั่นสร้างสันติภาพในภูมิภาคมาอย่างยาวนาน ประเทศสมาชิกหลายประเทศร่วมมือกับประเทศมหาอำนาจในการผลักดันความร่วมมือที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลางในหลายมิติ ทั้งในด้านการเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ความสำเร็จและความพยายามเหล่านี้ต่างมีส่วนช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับภูมิภาคในระยะยาว

โดยสรุป เราไม่ควรใช้ AEC เป็นเกณฑ์วัดความสำเร็จของกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน พิมพ์เขียวของ AEC เป็นเอกสารที่มีรายละเอียดมากและมีความซับซ้อน แม้มาตรการบางอย่างจะล้มเหลว แต่ยังคงเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่า AEC จะไม่ประสบความสำเร็จในอนาคต หนทางที่มีประสิทธิภาพกว่าในการประเมินผลสำเร็จของ AEC คือการประเมินจากมาตรการริเริ่มและการดำเนินงานของประเทศสมาชิกเป็นรายกรณีไป เราควรมอง AEC เป็นกระบวนการที่ประสบความสำเร็จในบางเรื่องและยังคงต้องเผชิญความท้าทายในอีกหลายเรื่อง

ความร่วมมือสู่การบูรณาการเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางสังคมและเศรษฐกิจเพิ่มเริ่มต้นได้ไม่กี่ทศวรรษ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ถึงความอ่อนแอเชิงสถาบันและการขาดความตระหนักรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับประชาชน เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าสถานการณ์ของอาเซียนจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด.

* แปลและเรียบเรียงจาก Sanchita Basu Das. (2015). “Five Facts about the ASEAN Economic Community,” ISEAS Perspectives (23 April 2015).

** Sanchita Basu Das เป็นนักวิจัยและหัวหน้าโครงการวิจัย (ด้านเศรษฐกิจ) ประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ประเทศสิงคโปร์

Leave A Response

คลังข้อมูล

พบกับเราที่ Facebook

Tweets ล่าสุด

No tweets found.

แผนที่อาเซียน