home

อาเซียนจัดประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งที่ 47 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ ประเทศมาเลเซีย

กันยายน 3, 2015
อาเซียนจัดประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งที่ 47 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ ประเทศมาเลเซีย

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา อาเซียนได้จัดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 47 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการดําเนินการสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 4 เดือนข้างหน้า และการจัดทําวิสัยทัศน์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2568 รวมทั้งการเตรียมการสําหรับการหารือกับประเทศคู่เจรจาในระหว่างการประชุมด้านเศรษฐกิจอื่นๆ วันที่ 23-24 สิงหาคม นี้

ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้รับทราบผลการดําเนินการตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก โดยอาเซียนดําเนินการในมาตรการที่มีความสําคัญลําดับสูงให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 ได้ร้อยละ 91.5  การจัดทําแผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์ SME ของอาเซียน การบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันของ 8 ประเทศสมาชิกอาเซียน การจัดทําความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่จีน ญี่ปุ่น เกาหลีอินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ โดยที่ประชุมขอให้ประเทศสมาชิกร่วมมือกันผลักดันการดําเนินมาตรการที่เหลือให้แล้วเสร็จตามกําหนดเวลา อาทิ การจัดทําข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 10 ภายใต้ความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน การมีผลบังคับใช้ความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอํานวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน เป็นต้น

รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ให้การรับรองในหลักการของแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2568 (AEC 2025 Blueprint) ซึ่งเป็นเอกสารสําคัญที่ชี้ทิศทางการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนในระยะ 10 ปีข้างหน้า โดยอาเซียนจะมุ่งเน้นการรวมตัวและเชื่อมโยงที่ลึกซึ้งมากขึ้น โดยจะมีการจัดทําแผนปฏิบัติการในแต่ละด้านตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2568 เพื่อรองรับการดําเนินการและติดตามผลการดําเนินการต่อไป ทั้งนี้แผนงานฉบับนี้จะนําไปผนวกรวมกับแผนงานของอีกสองเสาประชาคมอาเซียน เพื่อเสนอให้ผู้นําอาเซียนให้การรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27 ในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้   นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เน้นถึงความสําคัญกับการสื่อสารให้ประชาชนอาเซียนได้เข้าใจและใช้ประโยชน์จากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเพิ่มเติมช่องทางสื่อสารใหม่ๆ นอกเหนือจากการจัดทำเอกสาร ASEAN Integration Report (AIR) 2558 และเอกสาร AEC Scorecard Report

การประชุมรัฐมนตรี RCEP ครั้งที่ 3 หรือ (Regianl Comprehensive Economic Partnership Ministerial Meeting) โดยที่ประชุมได้พิจารณาสภาวะเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก RCEP ที่ยังมีความแข็งแกร่งในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเติบโตได้ชัา โดยมีมูลค่าส่งออกที่ 22.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2557 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 29.3 ของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเชื่อว่า กลุ่มภูมิภาค RCEP ยังมีศักยภาพการเติบโตและเข้าถึงตลาดได้ดี มีการบูรณาการเศรษฐกิจอย่างแนบแน่น ตลอดจนการแบ่งปันโอกาส การปรับปรุงมาตรฐานการใช้ชีวิตของประชาชนในภูมิภาค

สำหรับการเจรจาข้อตกลง RCEP นั้น ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการเจรจาการค้า RCEP เร่งกระชับการทำงานโดยเฉพาะในประเด็นที่ยังคั่งค้างและดำเนินงานตามกรอบที่ตกลงกันไว้ โดยจะต้องนำขึ้นหารือกันในที่ประชุมคณะกรรมการเจรจา RCEP ครั้งที่ 10 ที่เกาหลีใต้ในเดือนตุลาคมนี้ ทั้งนี้ที่ประชุมรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่า ควรให้ได้ข้อสรุปการเจรจาภายในสิ้นปี 2558 และปัญหาในทางเทคนิคต่างๆ จะต้องได้รับการแก้ไขให้ได้ภายในปี 2559

การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกครั้งที่ 3 หรือ (EAS Economic Ministers’ Meeting) ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกทั้งด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้หารือกันเกี่ยวกับพัฒนาการเติบโตเศรษฐกิจโลกและภูมิภาค โดยได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นต่อการมีส่วนร่วมในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยเฉพาะการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียแปซิฟิก ทั้งนี้ ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกยังได้สนับสนุนความพยายามของอาเซียนที่จะสร้างประชาคมเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นจริงในปลายเดือนธันวาคม ซึ่งจะมีส่วนต่อความยืดหยุ่น ความสงบสุขและความรุ่งเรืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและของโลก

ในอีกประการหนึ่งนั้น ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกยังแสดงความยินดีต่อความก้าวหน้าในการวิจัยของ ERIA ไม่ว่าจะเป็น แผนพัฒนาเอเชียที่ครอบคลุม 2.0: โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเชื่อมโยงและนวัตกรรม  (Comprehensive Asia Development Plan (CADP) 2.0: Infrastructure for Connectivity and Innovation) ทางพลังงาน เช่น เทคโนโลยีและถ่านหินสะอาด ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับ UNCTAD ซึ่งจะผลการวิจัยจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศ CLMV  และที่ประชุมคาดว่า CADP 2.0 จะนำไปสู่การพัฒนาโครงการพื้นฐานที่ดีของภูมิภาค

ขณะที่ผลการประชุมรัฐมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA Council)  ครั้งที่ 29  ที่ประชุมรับทราบการดําเนินการด้านการค้าสินค้ามีความคืบหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะการลดภาษีระหว่างกันได้ถึงร้อยละ 90.86 ของรายการสินค้าทั้งหมดและจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 98.67 ในปี 2561 เมื่ออาเซียนใหม่ ได้แก่กัมพูชา ลาว เมียนมา และกัมพูชา ลดภาษีสินค้าที่เหลืออยู่อีกบางส่วนให้ครบตามข้อผูกพันภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน  ขณะที่อาเซียนประกาศใช้พิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ของอาเซียนฉบับปี 2555 อย่างเป็นทางการ ซึ่งนับจากนี้ไปผู้ประกอบการค้าของอาเซียนจะต้องระบุพิกัดศุลกากรระบบใหม่ดังกล่าวในเอกสารการส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนแทนการใช้พิกัดศุลกากรในระบบเดิม

อาเซียนได้มีความริเริ่มสําคัญในการลดปัญหาอุปสรรคทางการค้า โดยเห็นชอบการจัดทําเวปไซต์ให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนสามารถรายงานปัญหาอุปสรรคจากการดําเนินธุรกิจการค้าและการลงทุนภายในอาเซียนต่อภาครัฐ (ASEAN Solutions for Investment, Services and Trade: ASSIST) ซึ่งสหภาพยุโรปจะให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค และกําหนดจะเปิดตัวระบบดังกล่าวอย่างเป็นทางการค้าพร้อมกับเวปไซต์คลังข้อมูลทางการค้าของอาเซียน (ASEAN Trade Repository) ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลมาตรการภาษีและกฎระเบียบด้านการค้าสินค้าของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศไว้ณ จุดเดียวในเดือนพฤศจิกายน 2558

แหล่งที่มา asean.org และ dtn.go.th

Leave A Response

คลังข้อมูล

พบกับเราที่ Facebook

Tweets ล่าสุด

No tweets found.

แผนที่อาเซียน