home

Current Issues 01/59: การผลัดเปลี่ยนผู้นำการเมืองในอาเซียน

มีนาคม 29, 2016
Current Issues 01/59: การผลัดเปลี่ยนผู้นำการเมืองในอาเซียน

“การผลัดเปลี่ยนผู้นำการเมืองในอาเซียน”
โดย กองบรรณาธิการจุลสาร “จับตาอาเซียน”

ปี 2559 เป็นปีที่มีความสำคัญยิ่งต่อภูมิทัศน์ทางการเมืองในภูมิภาค เมื่อหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองของตน ผู้นำหรือคณะผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศของชาติอาเซียนที่ผลัดเปลี่ยนในช่วงปี 2559 มีด้วยกัน 4 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา เวียดนาม ลาว และฟิลิปปินส์

การเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองในประเทศข้างต้นไม่เพียงสะท้อนกระบวนการทางการเมืองภายในที่มีวาระของการเปลี่ยนแปลงตามระบบการเมืองของประเทศ ไม่ว่าจะปกครองแบบคอมมิวนิสต์หรือมีกระบวนการเลือกตั้งตามแนวทางประชาธิปไตย ทว่ายังมีนัยสำคัญต่อบริบทของอาเซียนและความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับมหาอำนาจ

การผลัดเปลี่ยนผู้นำประเทศจะส่งผลโดยตรงต่อทิศทางการกำหนดนโยบายของแต่ละประเทศนั้นๆ ในระยะต่อไป ทั้งนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการบูรณาการของอาเซียนและนโยบายต่อชาติมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของประเทศที่เกี่ยวข้องกับกรณีพิพาททะเลจีนใต้เช่นเวียดนามและฟิลิปปินส์

ผู้นำพลเรือนใต้อิทธิพลการเมืองของกองทัพ?

สำหรับเมียนมา นับเป็นครั้งแรกในรอบค่อนศตวรรษนับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2505 ที่ประเทศได้ผู้นำที่มาจากพลเรือน นั่นคือ อู ถิ่น จ่อ (U HtinKyaw) สหายคนสนิทของนางออง ซาน ซูจี

เมียนมาได้จัดการเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) นำโดยนางออง ซาน ซูจี กวาดที่นั่งในสภาต่างๆ รวมกัน 880 ที่นั่งหรือกว่าร้อยละ 77 ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด ทำให้ได้รับสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาล ขณะที่พรรครัฐบาลเดิมคือ พรรคสหภาพสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ได้ที่นั่งในสภาทั้งหมดรวมกันเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น

ถึงแม้พรรค USDP ซึ่งเป็นเสาหลักทางการเมืองของกองทัพเมียนมาได้ออกมายอมรับความพ่ายแพ้ให้กับพรรค NLD แต่เส้นทางการมีประธานาธิบดีพลเรือนมิได้ราบรื่นนัก เนื่องจากรัฐธรรมนูญที่มีการลงประชามติและประกาศใช้เมื่อปี 2553 บัญญัติไว้ว่า รัฐสภาแห่งชาติเมียนมา (สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) จะทำหน้าที่เลือกประธานาธิบดี โดยที่มาของผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจะมาจาก 3 ทาง คือ (1) สภาผู้แทนราษฎรเสนอชื่อ 1 รายชื่อ ซึ่งในครั้งนี้ นายถิ่น จ่อ ผู้แทนจากพรรค NLD เป็นตัวแทนจากฝั่งสภาผู้แทนราษฎร (2) วุฒิสภาเสนอชื่อ 1 รายชื่อ โดยเลือกนายเฮนรี วาน ติอู (Henry Van Thio) ผู้แทนชาติพันธุ์ฉิ่นจากพรรค NLD ให้เป็นตัวแทน  และ (3) กองทัพเสนอ 1 รายชื่อ โดยตัวแทนจากกองทัพ คือนายมยินท์ ส่วย (Myint Swe) มุขมนตรีนครย่างกุ้ง

จากนั้นในวันที่ 15 มีนาคม 2559 รัฐสภาเมียนมาได้ลงคะแนนเสียงเลือกนายถิ่น จ่อ ให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ด้วยคะแนน 360 เสียง จาก 652 เสียง ขณะที่นายมยินท์ ส่วย และนายเฮนรี วาน ติอู ได้คะแนนเสียงรองลงมา รับตำแหน่งรองประธานาธิบดีลำดับที่ 1 และ 2 ไปตามลำดับ

กระนั้นก็ดี ชัยชนะของฝ่ายพลเรือนและพรรค NLD ไม่ได้หมายความว่าการเมืองของเมียนมาจะปลอดพ้นจากอิทธิพลของกองทัพและการก้าวสู่ประชาธิปไตยของเมียนมาจะดำเนินไปอย่างราบรื่น พรรครัฐบาล NLD รู้ดีกว่าพวกเขาจำเป็นต้องปฏิรูปการเมืองเพื่อสร้างฐานอำนาจใหม่ให้กับตัวเอง หลังการเมืองเมียนมาต้องยุคอยู่ใต้อิทธิพลของทหารมากว่า 5 ทศวรรษ

การประกาศลดจำนวนรัฐมนตรีและปรับลดกระทรวงที่ซ้ำซ้อนกันเป็นความพยายามหนึ่งที่นอกจากจะช่วยลดความซ้ำซ้อนยุ่งยากในการปฏิบัติงานและลดภาระงบประมาณที่สิ้นเปลืองแล้ว ยังเป็นการลดทอนโอกาสที่ตัวแทนจากกองทัพจะเข้ามามีบทบาทในการบริหารประเทศอีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม กองทัพเมียนมายังคงสงวนสิทธิ์การมีส่วนร่วมทางการเมืองตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำให้ถึงแม้ว่าประธานาธิบดีจะเป็นพลเรือนจากการเลือกตั้ง แต่ดูเหมือนรองประธานาธิบดีจากกองทัพจะยังเป็นตัวละครสำคัญที่มีบทบาทต่อการตัดสินทางการเมืองและการดำเนินนโยบายของรัฐบาลต่อไป

ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของเมียนมาเช่นนี้ ต้องพิจารณาจากความเป็นจริงที่ว่าคณะทหารมีประสบการณ์ในการบริหารประเทศมาหลายทศวรรษ แม้พวกเขาจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความรู้และความสามารถในการบริหารราชการ แต่นัยสำคัญอยู่ที่ฝ่ายทหารมีความคุ้นเคยกับระบบราชการมากกว่า

การเปลี่ยนผ่านอำนาจการบริหารไปสู่มือของพลเรือนทั้งหมดโดยตรงเป็นความเปราะบางที่น่ากังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ที่ถิ่น จ่อ เตรียมปรับลดขนาดโครงสร้างการบริหารจาก 36 กระทรวงให้เหลือ 21 กระทรวง ซึ่งเท่ากับเป็นการปรับรื้อระบบราชการครั้งใหญ่ และต้องอาศัยความร่วมมือจากฝ่ายระบบราชการอย่างมาก

ขณะเดียวกัน รัฐบาลพลเรือนของถิ่น จ่อยังต้องเตรียมเผชิญกับความท้าทายที่อาจเปิดโอกาสให้กลุ่มอำนาจของกองทัพเข้ามาแทรกแซงและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางการเมืองหลายประการ เป็นต้นว่า รัฐบาลใหม่จะต้องตอบสนองต่อข้อเรียงร้องของกลุ่มพลังทางสังคมและประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่ถูกปิดปากมาตลอดภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลทหาร ต้องรับมือกับความคาดหวังของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่จะเคลื่อนย้ายการลงทุนสู่เมียนมาอย่างมหาศาล ตลอดจนตอบสนองต่อกระแสการกระจายอำนาจสู่ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นที่จะต้องรองรับความคิดเห็นและเปิดพื้นที่การแสดงออกให้กับคนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้มากขึ้น

ในประเด็นหลัง ถึงแม้รัฐบาลใหม่จะเสนอให้จัดตั้งกระทรวงกิจการชาติพันธุ์ (Ministry for Ethnic Affairs) เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาความแตกแยกที่มีรอยร้าวมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม ทว่าแนวคิดเรื่องความสมานฉันท์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ภายในชาติยังคงถูกตั้งคำถามว่าจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมได้อย่างไร

ไม่นับว่าบทบาทของกองทัพในฐานะกองกำลังที่เผชิญหน้ากับกลุ่มชาติพันธุ์ตามชายแดนของประเทศ อาทิ กลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่น จะเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของนโยบายนี้ ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ของเมียนมายังคงต้องต่อรองและอาศัยความร่วมมือจากขั้วอำนาจเดิมอย่างกองทัพ ซึ่งยังคงยืนยันจะสงวนบทบาททางการเมืองและการทหารของตนในการเมืองเมียนมาต่อไป

การขับเคี่ยวของสองขั้วอำนาจในเวียดนาม

ในเวียดนาม พรรครัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้จัดประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 21-28 มกราคม วาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้อยู่ที่การเลือกตั้งคณะกรรมการกรมการเมือง (Politburo) และการเลือกคณะผู้นำประเทศชุดใหม่ทดแทนชุดเก่าซึ่งจะหมดวาระลงในปลายปี 2559

การประชุมสมัชชาพรรคฯ ถือเป็นกระบวนการทางการเมืองปกติของประเทศคอมมิวนิสต์เช่นเวียดนามที่จะต้องมาประชุมหารือเพื่อทบทวนนโยบายการพัฒนาประเทศและการพิจารณาเลือกตั้งคณะกรรมการกรมการเมืองทุกๆ 5 ปี อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่คณะกรรมการกรมการเมืองได้เลือกกำหนดตัวบุคคลไว้ในตำแหน่งสำคัญทางการเมืองทั้ง 3 ตำแหน่ง ได้แก่ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และประธานรัฐสภา ซึ่งเมื่อรวมตำแหน่งเลขาธิการที่จะมีการเลือกกันภายในการประชุมอยู่แล้ว ก็หมายความว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นตัวกำหนดผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญสูงสุดทั้ง 4 ตำแหน่งของประเทศ

ผลการเลือกตั้งคณะกรรมการกรมการเมืองปรากฏว่า นายเหงวียน ฟู จ่อง (Nguyen Phu Trong) ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคซึ่งมีฐานะในทางพฤตินัยเทียบเท่ากับผู้นำสูงสุดของประเทศต่ออีกสมัยหนึ่ง จากนั้นคณะกรรมการกรมการเมืองได้ลงมติเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งระดับผู้นำของประเทศทั้ง 3 ตำแหน่ง ได้แก่ นายเหงวียน ซวน ฟุก (Nguyen Xuan Phuc) รองนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ. เจิ่น ด่าย กวาง (Tran Dai Quang) ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และนางเหงวียน ถิ กิม เงิน (Nguyen Thi Kim Ngan) รองประธานรัฐสภาคนปัจจุบันได้รับเลือกให้ขึ้นเป็นประธานรัฐสภา

ช่วงปลายเดือนมีนาคมต่อต้นเดือนเมษายน เวียดนามจัดประชุมรัฐสภาสมัยสุดท้าย ซึ่งรัฐสภาจะรับรองรายชื่อบุคคลที่คณะกรรมการกรมการเมืองเสนอมาอย่างเป็นทางการ

สื่อหลายสำนักวิจารณ์ว่า การประชุมสมัชชาพรรคฯ ถือเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ใกล้ชิดกับจีนกับฝ่ายปฏิรูปที่มีกระแสเอียงไปทางเสรีนิยม ในแง่นี้ การต่อสู้ระหว่างสองขั้วอำนาจจึงถูกเชื่อมโยงเข้ากับตัวบุคคลสำคัญในพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม กล่าวคือ นายเหงวียน ฟู จ่อง เลขาธิการพรรค ได้รับการพิจารณาว่าเป็นตัวแทนของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ขณะที่เหงวียน เติ๋น สุง (Nguyen Tan Dung) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเป็นตัวแทนของฝ่ายปฏิรูปและนำเสนอตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย

ในวาระสองสมัยของการบริหารประเทศ นายเหงวียน เติ๋น สุง ได้ผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจในแนวทางเสรีนิยมเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ นอกจากนี้ เขายังผลักดันการเจรจาข้อตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปและการลงนามในข้อตกลงเขตการเจรจาการค้า TPP ที่สหรัฐฯ มีบทบาทนำ

ในช่วงเวลาเดียวกัน เวียดนามยังมีความตึงเครียดกับจีนบ่อยครั้งจากกรณีปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้ โดยเฉพาะเมื่อ 2 ปีก่อนที่จีนเคลื่อนย้ายแท่นขุดเจาะน้ำมันเข้ามาใกล้พื้นที่พิพาทจนก่อให้เกิดกระแสชาตินิยมในหมู่ชาวเวียดนาม จนกลายเป็นการจลาจลทำลายห้างร้านชาวจีน ตลอดจนการทำร้ายร่างกายชาวจีนในเวียดนามด้วย

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคเช่น นายเหงวียน ฟู จ่องต้องเดินทางไปเยือนจีนเพื่อปรับความสัมพันธ์ระหว่างกัน นอกจากนี้ รัฐบาลของเหงวียน เติ๋น สุง ดูจะปล่อยปละให้ชาวเวียดนามสามารถทำการประท้วงจีนในวาระเหตุการณ์สำคัญๆ ในอดีตได้โดยสะดวก

ถึงแม้ความขัดแย้งระดับตัวบุคคล รวมถึงความขัดแย้งระหว่างคนจากทั้งสองขั้วการเมืองจะไม่ปรากฏอย่างจริงจังในพื้นที่สาธารณะของเวียดนาม แต่นักวิเคราะห์จากตะวันตกมองว่า หลักฐานที่แสดงว่าสถานการณ์ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นจริง คือการที่นายเหงวียน เติ๋น สุงไม่ได้รับตำแหน่งใดๆ ในพรรคเลย ขณะที่คณะผู้นำชุดใหม่ล้วนเป็นผู้ที่มีจุดยืนไปในทางอนุรักษ์นิยมมากขึ้น

นอกเหนือจากการขับเคี่ยวระหว่างสองขั้วอำนาจ การประชุมสมัชชาพรรคฯ ครั้งนี้ยังได้ทบทวนแนวทางและสาระของนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจหรือนโยบาย  DoiMoi เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ขณะที่ในแง่นโยบายทางการเมือง นักวิเคราะห์เชื่อกันว่าถึงแม้คณะผู้นำชุดใหม่จะมีแนวโน้มเป็นอนุรักษ์นิยมมากกว่าผู้นำชุดก่อน แต่คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายอย่างมากมายนัก ทั้งในระดับประเทศและระดับระหว่างประเทศ เนื่องด้วยลักษณะการเมืองของเวียดนามที่เน้นการประนีประนอมทางนโยบายและความคิดมากกว่าการแตกหักอย่างเด็ดขาด การยึดมั่นในอำนาจอธิปไตยของชาติเป็นสำคัญ ตลอดจนระดับการพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งกำลังเติบโตได้ดีในไม่กี่ปีมานี้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการให้ความชอบธรรมสำหรับการปกครองประเทศด้วยพรรคเดียว

การถ่ายโอนอำนาจในพรรคคอมมิวนิสต์ลาว

พรรคประชาชนปฏิวัติลาวซึ่งเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่ปกครองลาวมากว่า 40 ปี ได้จัดการประชุมใหญ่ครั้งที่ 10 ขึ้นในเดือนเดียวกับการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม คือระหว่างวันที่ 18-22 มกราคม 2559

วาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้อยู่ที่การเลือกคณะกรรมการบริหารศูนย์กลางพรรครวม 69 คนและเลือกคณะกรมการเมือง ซึ่งถือเป็นองค์กรนำของพรรคและยังเป็นองค์กรสำคัญในการกำหนดนโยบายปกครองประเทศด้วย

สมาชิกชุดใหม่ของกรมการเมืองส่วนใหญ่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญในปัจจุบัน ตำแหน่งที่สำคัญสุดคือ เลขาธิการพรรค ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์กลางพรรคได้เลือกนายบุนยัง วอละจิด รองประธานประเทศคนปัจจุบันให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคแทน พล.ท. จูมมะลี ไซยะสอน ประธานประเทศและเลขาธิการพรรคคนปัจจุบันที่ครบกำหนดวาระในปีนี้ ทั้งนี้ เลขาธิการพรรคจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานประเทศอันเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศไปด้วยในตัว

นายบุนยัง วอละจิด จะเป็นผู้นำประเทศคนสุดท้ายที่มีบทบาททางการเมืองมาตั้งแต่ช่วงก่อตั้งประเทศ เนื่องจากกลุ่มผู้นำปฏิวัติลาวในปี 2518 ต่างส่งไม้ต่อให้กับทายาททางการเมืองของตนเองกันหมดแล้ว นอกจากนี้ การเลือกให้นายบุนยัง วอละจิด รับตำแหน่งประธานประเทศแบบ “ขัดตาทัพ” เช่นนี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อรอเวลาให้คนรุ่นใหม่ในพรรคได้มีเวลาสั่งสมประสบการณ์และความอาวุโสสำหรับการรับตำแหน่งสูงสุดทั้งของพรรคและของประเทศต่อไป

การประชุมครั้งนี้ยังทบทวนผลการดำเนินนโยบายภายหลังจากการประชุมใหญ่ครั้งก่อน โดยพบว่า ลาวประสบความสำเร็จในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเศรษฐกิจที่ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรลาวต่อปีเพิ่มสูงขึ้นราว 71,000 บาท ในปี 2558 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยต่อปีสูงถึงร้อยละ 7.4  สามารถลดจำนวนครอบครัวยากจนลงเหลือร้อยละ 6.59 ประชาชนร้อยละ 89 มีไฟฟ้าใช้ ลาวประสบความสำเร็จในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อาทิ การเริ่มต้นโครงการรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน

ที่ประชุมใหญ่ของพรรคยังเสนอแผนวิสัยทัศน์ปี 2573 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมฉบับที่ 8 ปี 2559-2563 เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาเชิงคุณภาพโดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการให้ความสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมอันเป็นผลกระทบมาจากการพัฒนา

ในวันที่ 20 มีนาคม ทางการลาวได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ โดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะทำการเลือกสมาชิกสภาแห่งชาติจำนวน 149 ที่นั่ง จากผู้ลงสมัครทั้งหมด 211 คน ใน 18 เขตทั่วประเทศ ในจำนวนนี้มีผู้ลงสมัคร 202 คนมาจากพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และเป็นผู้สมัครอิสระเพียง 9 คน นอกจากนั้น ลาวยังมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาประชาชนระดับแขวงเป็นครั้งแรก เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของคณะบริหารงานระดับท้องถิ่นในลาว ในวาระปี 2559-2563

หลังการประกาศผลเลือกตั้งในช่วงเดือนเมษายนนี้ ประธานประเทศจะทำการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีซึ่งคาดว่าจะเป็นนายทองลุน สีสุลิด รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศคนปัจจุบันหรืออาจให้นายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันดำรงตำแหน่งต่ออีกสมัยก็เป็นได้

การผลัดเปลี่ยนผู้นำลาวในปีนี้จะมีความสำคัญต่อบทบาทของลาวเองในฐานะประธานอาเซียน ซึ่งจะต้องเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสำคัญๆ หลายครั้ง บทบาทและวิสัยทัศน์ของผู้นำลาวที่แสดงออกในเวทีการประชุมต่างๆ โดยเฉพาะการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายปี 2559 จะเป็นบททดสอบในการทำหน้าที่และการแสดงออกถึงความโดดเด่นในระดับเวทีภูมิภาค

นอกจากนี้ การบริหารความสัมพันธ์ต่างประเทศโดยเฉพาะกับจีนซึ่งในปัจจุบันจีนเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของลาวยังเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของรัฐบาลชุดใหม่หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า ลาวจะวางตัวเป็นกลางในปัญหาความขัดแย้งข้อพิพาททะเลจีนใต้มากกว่าจะแสดงจุดยืนเหมือนกัมพูชาที่มีส่วนทำให้การประชุมต่างๆ ของอาเซียนดำเนินไปอย่างยากลำบากและไม่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมใดๆ

น่าสังเกตว่าการปลดระดับสมาชิกระดับนำของพรรคที่เอียงข้างจีนออกเกือบหมด กอปรกับกระแสอิทธิพลของเวียดนามในพรรคที่พยายามต้านอิทธิพลของจีนมากขึ้นเรื่อยๆ อาจเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจวางตัวทางการเมืองระหว่างประเทศภายใต้ห้วงเวลาสำคัญของลาวในอนาคต

สำรวจสนามเลือกตั้งผู้นำฟิลิปปินส์

ฟิลิปปินส์จะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี และการเลือกตั้งรองประธานาธิบดี วุฒิสมาชิกจำนวน 12 คน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อ รวมทั้งเลือกตั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เขตปกครองระดับเมืองและเทศบาลพร้อมกันในวันที่ 9 พฤษภาคม 2559

กระแสการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์มีความคึกคักพอสมควร นับตั้งแต่การเริ่มรณรงค์หาเสียงอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในครั้งนี้มีทั้งหมด 130 คน แต่มีผู้สมัครที่โดดเด่นปรากฏชื่อในผลโพลต่างๆ ด้วยกัน 5 ท่าน ได้แก่

(1) นางเกรซ โป (Grace Poe) วุฒิสมาชิกและเป็นผู้สมัครที่ได้รับความนิยมสูงสุดมาตลอดตั้งแต่การหาเสียงวันแรกๆ เธอลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีแบบอิสระ ที่ผ่านมา เกรซ โปได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาเมื่อปี 2556 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เข้าสู่เส้นทางการเมือง เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เธอถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งฟิลิปปินส์ตัดสินให้ขาดคุณสมบัติการสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดี เนื่องจากไม่ใช่ชาวฟิลิปปินส์โดยกำเนิดและไม่ได้อาศัยอยู่ในฟิลิปปินส์ติดต่อกันนาน 10 ปี แต่ต่อมา ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยให้คำตัดสินของคณะกรรมการเลือกตั้งเป็นโมฆะ ทำให้เธอสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้

(2) นายมานูแอล “มาร์” โรซาส (Manuel “Mar” Roxas) ผู้สมัครตัวแทนจากพรรคเสรีนิยม ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโน เขาเกิดในตระกูลนักการเมืองและถูกมองว่าเป็นหนึ่งในผู้สมัครไม่กี่คนที่มีความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับเศรษฐกิจ โรซาสเคยสมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีเมื่อปี 2553 แต่สอบตก หลังจากนั้นได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีคนปัจจุบันให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล

(3) นายเจโจมาร์ “โจโจ” บิเนย์ (Jejomar “Jojo” Binay) อดีตรองประธานาธิบดีในรัฐบาลอากีโน ก่อนลาออกไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2558 นักวิเคราะห์มองว่าเขาอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับนายโรซาส ก่อนหน้านั้น เขาเป็นนายกเทศมนตรีเมืองมากาติ (Makati) เมืองศูนย์กลางทางการเงินของประเทศ ทว่าถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง เขานำเสนอภาพลักษณ์ของตัวเองว่าเกิดมายากจนและต่อสู้เพื่อคนยากจน ทำให้เป็นนักการเมืองที่ได้รับความนิยมจากคนชั้นล่างมาก

(4) นางมิเรียม ซานติอาโก (Miriam Santiago) ปัจจุบันเป็นวุฒิสภาชิก เกือบได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี 2535 ในครั้งนี้สมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นครั้งที่ 3 ด้วยวัย 70 ปี เธอเคยเป็นอาจารย์และผู้พิพากษามาก่อน มีนโยบายชัดเจนในการคัดค้านความร่วมมือกับสหรัฐ เคยประกาศว่าล้มป่วยเป็นมะเร็ง แต่ในปัจจุบันได้ฟื้นสุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้นแล้ว

(5) นายโรดริโก ดูแตร์เต (Rodrigo Duterte) นายกเทศมนตรีเมืองดาเวา บนเกาะมินดาเนา เป็นสมาชิกพรรค PDP-Laban เขาได้รับความนิยมขึ้นมาจากการทำให้เมืองดาเวามีความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจและกลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งของประเทศ นอกจากนี้ ดูแตร์เตยังได้รับความชื่นชมมากจากการทำให้เมืองดาเวาปลอดภัยขึ้นและมีอาชญากรรมลดลง

การสำรวจคะแนนนิยมชาวฟิลิปปินส์ของสำนักโพลต่างๆ เปิดเผยตรงกันว่า นางเกรซ โป ยังคงเป็นผู้สมัครที่มีคะแนนนิยมเป็นอันดับหนึ่ง ในเดือนมีนาคม โพลจาก Pulse Asia ที่สำรวจความเห็นชาวฟิลิปปินส์ทั่วประเทศจำนวน 2,000 คน พบว่า เกรซ โปครองคะแนนนิยมนำหน้าผู้สมัครรายอื่นๆ โดยมีคะแนนนิยมร้อยละ 28 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2  ขณะที่คะแนนนิยมของนายบิเนย์ลดลงร้อยละ 3 จากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 21 ส่งผลให้เขาร่วงมาอยู่ในอันดับที่ 3 ขณะที่ดูแตร์เตขยับขึ้นจากอันดับ 4 เมื่อการสำรวจครั้งก่อนมาอยู่ในอับดับ 2 ที่ร้อยละ 24 ด้านนายโรซาสล่วงมาอยู่ในอันดับที่ 4 ที่ร้อยละ 20 ขณะที่นายซานติเอโกมีคะแนนนิยมเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น

จุดเด่นสำคัญของการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้อยู่ที่การดีเบตของผู้สมัครประธานาธิบดี ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี คณะกรรมการการเลือกตั้งหวังว่าการดีเบตจะช่วยให้ประชาชนหันมาให้ความสำคัญกับนโยบายของผู้สมัครมากขึ้น

ในแง่นโยบาย นโยบายของนายโรซาสไม่แตกต่างจากประธานาธิบดีอากีโนมากนัก เนื่องจากถูกวางให้เป็นทายาททางการเมือง ทำให้น่าจะมีการสานต่อนโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดินหน้ากระบวนการสันติภาพกับกลุ่มมุสลิมทางภาคใต้ของประเทศ รวมทั้งการดำรงความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อคานอำนาจกับจีนจากกรณีความขัดแย้งทะเลจีนใต้

ขณะที่นางเกรซ โปมีนโยบายเสรีนิยมทางเศรษฐกิจและสนับสนุนให้ฟิลิปปินส์เข้าร่วมกลุ่ม TPP นอกจากนี้เธอยังสัญญาว่าจะดำเนินการปฏิรูปภาษีและการเปิดเสรีการลงทุนในประเทศ ส่วนนโยบายต่างประเทศของเธอยังไม่เด่นชัดนัก แต่คาดกันว่าคงไม่ต่างจากนโยบายต่างประเทศของโรซาสมากนัก ขณะที่บิเนย์มีนโยบายต่างประเทศที่ชัดเจนในการนำฟิลิปปินส์ร่วมมือใกล้ชิดกับจีน โดยเฉพาะความร่วมมือกันในการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติบริเวณพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ ซึ่งอาจนำไปสู่การยกเลิกกระบวนการทางกฎหมายที่ฟิลิปปินส์กำลังฟ้องร้องจีนอยู่ในขณะนี้

ขณะที่นายดูแตร์เต แม้จะมีประสบการณ์การบริหารเมืองดาเวาให้สงบปลอดภัยและน่าอยู่มากขึ้น แต่เขายังไม่มีประสบการณ์ในด้านนโยบายระดับชาติ อย่างไรก็ตาม นโยบายด้านต่างประเทศของเขาคล้ายๆ กับของบิเนย์ ที่ต้องการให้ฟิลิปปินส์มีความใกล้ชิดกับจีนมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเพื่อลดความตึงเครียดในทะเลจีนใต้

สำหรับนางซานติเอโก แม้แนวนโยบายต่างประเทศจะยังไม่ชัดเจนนัก แต่เธอแสดงออกอย่างชัดเจนในการต่อต้านการทำข้อตกลงทางทหารระหว่างระหว่างฟิลิปปินส์กับสหรัฐ (EDCA) ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งวุฒิสภา จนนำไปสู่การพิจารณาของศาลฎีกา อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนเธอจะเน้นนโยบายด้านสังคมมากกว่า

ผู้สมัครแต่ละคนยังคงมีเวลาเดินหน้าหาเสียงต่อไป เกมการเลือกตั้งของฟิลิปปินส์นั้นไม่แน่นอนนัก อย่างเช่นเมื่อครั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2553 กระแสความนิยมของเบนิกโน อากีโนสูงเด่นขึ้นเนื่องจากมารดาของเขาคือ โคราซอน อากีโน เสียชีวิตก่อนหน้าการเลือกตั้งไม่นานทำให้อารมณ์ความรู้สึกของชาวฟิลิปปินส์ที่รักมารดาเขาต่างเทคะแนนให้นายอากีโนจนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในที่สุด.

Leave A Response

คลังข้อมูล

พบกับเราที่ Facebook

Tweets ล่าสุด

No tweets found.

แผนที่อาเซียน