home

TRF-ASEAN Research Forum ครั้งที่ 6 “ละคร การเมืองและการย้ายถิ่นในอาเซียน”

ธันวาคม 12, 2016
TRF-ASEAN Research Forum ครั้งที่ 6 “ละคร การเมืองและการย้ายถิ่นในอาเซียน”

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2559 โครงการ “จับตาอาเซียน” ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดประชุม TRF-ASEAN Research Forum ครั้งที่ 6 เรื่อง “ละคร การเมืองและการย้ายถิ่นในอาเซียน” ซึ่งเป็นเวทีนำเสนอข้อเสนอโครงการวิจัยใหม่จำนวน 3 โครงการให้กับผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เกี่ยวข้อง อันประกอบไปด้วยตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชนและภาควิชาการ ร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยให้คมชัดขึ้น

ผศ.ดร. อัมพร จิรัฐติกร จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอข้อเสนอโครงการวิจัยเรื่อง “การบริโภคละครโทรทัศน์ไทยผ่านเว็บไซต์ในกลุ่มประเทศอาเซียนและจีน: กรณีศึกษาประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและจีน”

อาจารย์อัมพรเริ่มต้นอธิบายจากข้อค้นพบในการวิจัยโครงการศึกษาการบริโภคละครโทรทัศน์ไทยในประเทศอาเซียนซึ่งเป็นการวิจัยในระยะแรก โดยชี้ให้เห็นว่า เพื่อนบ้านอาเซียนรับชมละครโทรทัศน์ไทยมานานนับ 20 ปี กลายเป็นกระแสการบริโภคละครไทยที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทสังคมและวัฒนธรรมชาตินิยมของแต่ละประเทศ ทั้งๆ ที่ผู้ผลิตละครไทยไม่คาดคิดมาก่อน

การข้ามพรมแดนอย่างไม่ตั้งใจส่งผลต่อการปะทะทางวัฒนธรรมและการผลิตสร้างความหมายที่แตกต่างกัน กระแสความนิยมละครโทรทัศน์ไทยดังกล่าวมีปัจจัยทั้งจากภายในประเทศไทย เช่น คุณภาพของละครไทย การเกิดขึ้นของทีวิดิจิทัล กระแสความนิยมละครไทยในประเทศจีน และปัจจัยจากประเทศปลายทางเช่น ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจ ระบบสื่อสารทั้งอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ขณะเดียวกันก็มีผู้จัดจำหน่ายนำละครโทรทัศน์ไทยไปฉายทางสถานีโทรทัศน์ของประเทศปลายทางอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม อาจารย์อัมพรได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน เว็บไซต์และช่องทางออนไลน์เข้ามามีบทบาทในการเผยแพร่ละครไทยมากขึ้น มีกลุ่มคนจัดทำแปลคำบรรยายลงในเว็บไซต์ ในจีนนั้นมีถึง 16 กลุ่ม ขณะที่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ก็มีแปลคำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นจึงต้องการศึกษารสนิยมการบริโภคและการสร้างความหมายของผู้ชมและผู้จัดทำเว็บไซต์ โดยเลือกศึกษาประเทศที่เป็นกลุ่มผู้ชมใหม่ยังไม่เคยศึกษามาก่อน ได้แก่ จีน อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ถือได้ว่าไม่ใกล้ชิดทางวัฒนธรรมกับไทย และผลิตรายการในประเทศเอง จึงรู้จักละครโทรทัศน์ไทยผ่านการรับชมทางเว็บไซต์ ขณะที่เวียดนามนั้นเป็นการศึกษาต่อเนื่อง

ด้าน ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอข้อเสนอโครงการวิจัยเรื่อง “พลวัตทางการเมืองว่าด้วยการเลือกตั้งและประชาธิปไตย: ศึกษาเปรียบเทียบอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์”

อาจารย์ประจักษ์กล่าวว่า งานวิชาการในไทยที่ศึกษาเกี่ยวกับการเมืองในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ล้าสมัยแล้ว บางชิ้นทำการศึกษาไว้นานเกิน 10 ปีจนไม่สามารถอธิบายความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของภูมิภาคอาเซียนในช่วงเวลาระยะใกล้นี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเมืองในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซียและฟิลิปปินส์

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สะท้อนแบบแผนและพฤติกรรมเกี่ยวกับการเลือกตั้งของประชาชน ทำให้สถาบันและพื้นที่ทางการเมืองในกระบวนการเลือกตั้งที่เคยถูกผูกขาดอยู่กับชนชั้นนำ กลายมาเป็นพื้นที่ของการแข่งขันที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบอบและโครงสร้างทางการเมือง กระทบต่อคุณภาพและพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยในประเทศ ตลอดจนการเมืองในระดับภูมิภาคอาเซียน

อาจารย์ประจักษ์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในแต่ละประเทศพบว่า การเลือกตั้งของมาเลเซียปี 2551 พรรคแนวร่วมรัฐบาล Barisan Nasional (BN) ที่นำโดยอัมโนสูญเสียที่นั่งในสภาให้กับพรรคแนวร่วมฝ่ายค้าน Pakatan Rakyat (PR) และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ BN ครองที่นั่งในสภาไม่ถึง 2 ใน 3 ขณะที่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 มีการแข่งขันอย่างดุเดือนสูสี โดย BN ได้ 133 ที่นั่ง ส่วน PK นำโดยอันวาร์ อิบรอฮีม ได้ 89 ที่นั่ง หลายฝ่ายวิเคราะห์กันว่าตัวแบบพรรคเดียวครอบงำในมาเลเซียกำลังถึงจุดเสื่อมถอย

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดของฟิลิปปินส์ได้แสดงให้เห็นความเป็นไปได้ที่ระบบตระกูลการเมืองเริ่มเสื่อมถอย เมื่อโรดริโก ดูแตร์เต ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีและเป็นผู้นำคนแรกที่มาจากเกาะมินดาเนา ทั้งยังไม่ได้มีพื้นฐานมาจากตระกูลชนชั้นนำด้วย ส่วนการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในช่วงเดียวกันนั้น พรรค Philippine Democratic Party-Power of the People (PDP–Laban) ของดูแตร์เตสามารถเป็นแกนนำควบคุมเสียงในสภาได้ แม้ว่า พรรค Liberal Party จะได้ที่นั่งมากที่สุด

การเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียเมื่อปี 2557 นายโจโก วีโดโดสามารถเอาชนะคู่แข่งคือ นายพลซูเบียนโต ปราโบโว ซึ่งเป็นบุตรเขยของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต นายโจโก วิโดโดจึงถือได้ว่าเป็นนักการเมืองหน้าใหม่นอกวงชนชั้นนำที่สามารถเข้ามากุมตำแหน่งสูงสุดของประเทศไทย ส่วนการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรในปี 2557 มีความสงบเรียบร้อยดี แต่พบว่าเริ่มเกิดกระแสธนกิจการเมือง (money politics) ขึ้น

สำหรับการศึกษาวิจัยนี้จะศึกษาเปรียบเทียบใน 3 ประเด็น คือ (1) ปัจจัยที่กำหนดพฤติกรรมการเลือกตั้งและทัศนคติทางการเมืองของผู้เลือกตั้ง (2) ปัจจัยที่กำหนดยุทธศาสตร์ของผู้สมัครและพรรคการเมือง เช่น นโยบาย ภาพลักษณ์ ประเด็นหาเสียง การโจมตีคู่แข่ง ยุทธวิธีความรุนแรง การบริหารจัดการหัวคะแนนและเครือข่ายอุปถัมภ์ และบทบาทของธนกิจการเมือง และ (3) ผลกระทบของพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชน รวมทั้งยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของพรรคการเมืองและนักการเมืองที่มีต่อการเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองและโครงสร้างทางการเมืองในแต่ละประเทศ

อ.ประจักษ์เน้นย้ำว่า การศึกษาเปรียบเทียบการเมืองว่าด้วยการเลือกตั้งของ 3 ประเทศจะช่วยเป็นบทเรียนให้สังคมไทยได้เรียนรู้ประสบการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็มีประโยชน์ต่อวงวิชาการไทย ซึ่งจะมีองค์ความรู้ที่ทันสมัยเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงและทิศทางทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

สุดท้าย อ.อนุสรณ์ ชัยอักษรเวช จากหลักสูตรรัฐศาสตร์ สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้นำเสนอข้อเสนอโครงการวิจัยเรื่อง “อาเซียนกับระบบการอภิบาลภูมิภาคในเรื่องการย้ายถิ่นแบบไม่ปกติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

อ.อนุสรณ์ได้อภิปรายถึงความหมายและนัยสำคัญของการย้ายถิ่นแบบไม่ปกติ (irregular migration) ซึ่งกำลังเป็นประเด็นท้าทายสำคัญของอาเซียนและอีกหลายภูมิภาคในโลกในปัจจุบัน โดยชี้ว่า การย้ายถิ่นแบบไม่ปกติคือการย้ายถิ่นที่เกิดขึ้นนอกบรรทัดฐานของประเทศผู้ส่ง ประเทศทางผ่าน และประเทศผู้รับ เช่น การไม่มีเอกสารผ่านแดนที่ถูกต้อง หรือการถูกบังคับให้ย้ายถิ่น โดยตัวอย่างสำคัญในกรณีของอาเซียน คือการย้ายถิ่นของชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา

กระบวนการในการจัดการปัญหาการย้ายถิ่นในลักษณะดังกล่าวต้องอาศัยกระบวนการที่เรียกว่า “ระบบการอภิบาลการย้ายถิ่นระดับภูมิภาค” ซึ่งประกอบด้วย (1) กรอบการทำงานเชิงสถาบันที่เป็นทางการของอาเซียน เช่น การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีด้านอาชญากรรมข้ามชาติอาเซียน และ (2) กรอบการทำงานนอกอาเซียนที่มีลักษณะเป็นกระบวนการปรึกษาหารือระดับภูมิภาค อาทิ การประชุมวาระพิเศษว่าด้วยการย้ายถิ่นแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย หรือกระบวนการบาหลีว่าด้วยการลักลอบขนย้ายคน การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมข้ามชาติที่เกี่ยวข้อง (Bali Process) เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ โครงการวิจัยชิ้นนี้จึงพยายามศึกษาว่า รัฐต่างๆ ในภูมิภาคจะสามารถพัฒนาอาเซียนให้เป็นกลไกหลักในระบบการอภิบาลภูมิภาคดังกล่าวได้หรือไม่อย่างไร และถ้าได้ ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับกรอบการทำงานนอกอาเซียนซึ่งมีลักษณะไม่เป็นทางการนักควรมีรูปแบบอย่างไรเพื่อให้กระบวนการอภิบาลนี้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

ทั้งนี้ งานศึกษาที่เกี่ยวข้องก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นตรงกันว่าการบูรณาการความร่วมมือของกรอบการทำงานที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ การหาทางยุติความขัดแย้งอันเป็นสาเหตุของการย้ายถิ่นแบบไม่ปกติ รวมถึงหันมาให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิของผู้ย้ายถิ่นแทนที่จะเน้นป้องกันและต่อสู้กับการย้ายถิ่นแบบไม่ปกติเพียงอย่างเดียวเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยพัฒนาระบบการอภิบาลการย้ายถิ่นในระดับภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้

Leave A Response

คลังข้อมูล

พบกับเราที่ Facebook

Tweets ล่าสุด

No tweets found.

แผนที่อาเซียน