โครงการ “จับตาอาเซียน” (ASEAN Watch) ได้จัด ASEAN Forum ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2554 เวลา 13.00-16.00 น. ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ชั้น 14 อาคาร SM Tower ภายใต้หัวข้อ “ความคืบหน้าการประชุมผู้นำอาเซียน โครงการ ASEAN Watch และวาระการวิจัย” โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำเสนอความคืบหน้าเกี่ยวกับอาเซียน จากการประชุมสุดยอดอาเซียนต่างๆ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และยังเป็นการแนะนำชุดโครงการ “จับตาอาเซียน” (ASEAN Watch) โดยเฉพาะเว็บไซต์ www.aseanwatch.org ตลอดจนมีการระดมสมอง แลกเปลี่ยนข้อมูล-ความคิดเห็น และหารือในการกำหนดโจทย์วิจัยเกี่ยวกับอาเซียน
ในที่ประชุมดังกล่าว มีตัวแทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมรับฟัง และอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง อันประกอบด้วยผู้แทนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ, กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เป็นต้น
สำหรับการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นใน ASEAN Forum ครั้งที่ 1 นี้ มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเว็บไซต์ ว่าควรให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์สามารถมีส่วนร่วมในการส่งเนื้อหา บทความ และข้อมูลต่างๆ ได้นอกจากนี้ เนื้อหาควรเน้นวิเคราะห์วิจารณ์มากกว่านำเสนอข้อมูลอย่างเดียว
ในประเด็นเกี่ยวกับหัวข้อวิจัย มีข้อเสนอแนะให้ปรับกรอบความคิดในการกำหนดโจทย์วิจัย ให้มีลักษณะไม่ยึดโยงอยู่กับความเป็นรัฐชาติ หรือยึดถือผลประโยชน์ของชาติเพียงอย่างเดียว แต่ให้มองในระดับของคนที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงในสังคม อีกทั้งให้อมองในระดับส่วนรวมในฐานะที่เป็นอาเซียนด้วย โดยเฉพาะในประเด็นอัตลักษณ์แห่งภูมิภาค (Regional Identity) นอกจากนั้น ที่ประชุมยังสนับสนุนโจทย์วิจัยในประเด็นทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ ความเป็นไปได้เชิงปฏิบัติในการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมถึงผลกระทบที่เกิดจากการขยายตลาดและฐานการผลิตต่อภาคส่วนต่างๆ ของไทย ทั้งยังมีข้อเสนอแนะให้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาธุรกิจ SME ในกรอบอาเซียนเพื่อแข่งขันกับจีนและอินเดีย และทำการวิจัยในลักษณะเชิงรุก (เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน) และเชิงรับ (เพื่อป้องกันผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม) ควบคู่กันไป สำหรับการศึกษารายภาคนั้น มีงานวิจัยอยู่บ้างแล้ว จึงควรศึกษาในประเด็นที่ยังไม่มีงานวิจัย หรือวิจัยแล้วยังไม่สมบูรณ์
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีข้อเสนอแนะให้เพิ่มเติมประเด็นทางสังคมและวัฒนธรรมในหัวข้อวิจัย ได้แก่ การให้ความสำคัญกับคนหลายกลุ่ม เช่น คนด้อยโอกาส คนข้ามชาติ ชาวบ้าน ภาคประชาสังคม เป็นต้น รวมไปถึงการศึกษาผลกระทบเชิงลบจาก connectivity เช่น โรคระบาด และแรงงานผิดกฎหมาย
โดยสรุป โครงการวิจัยน่าจะสามารถแบ่งออกเป็น 3 แบบ ได้แก่ 1) การวิจัยเพื่อจุดมุ่งหมายเชิงปฏิบัติ หรือนโยบาย 2) การวิจัยเพื่อมุ่งเน้นเชิงวิชาการ โดยเป็นการต่อยอดความรู้ไปประยุกต์ใช้ในด้านอื่นๆ และสุดท้าย 3) การวิจัยเชิงทางเลือก ที่ไม่ใช่การวิจัยกระแสหลักที่ยึดอรรถประโยชน์เป็นที่ตั้ง แต่ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนอื่นๆ ที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนเครือข่ายภาคประชาสังคม ทั้งนี้การศึกษาอาเซียนสามารถทำได้ทั้ง 3 รูปแบบไปพร้อมๆ กัน เช่น การศึกษาอาเซียนในฐานะความร่วมมือเพื่อรับมือกับมหาอำนาจภายนอก การบริหารจัดการ เครือข่ายการผลิต และประชาคมเพื่อประชาชน หรือเอกลักษณ์ของอาเซียน อีกทั้งการวิจัยแต่ละแบบอาจใช้วิธีการต่างกัน เช่น แบบที่เน้นตัวกระทำการ (actor-centric) หรือแบบที่เน้นกระบวนการ (process-centric) เป็นต้น
Comments are closed.