home

การสัมมนาระดมความคิดเห็นระดับชาติ เรื่อง ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม 2555

มิถุนายน 5, 2012
การสัมมนาระดมความคิดเห็นระดับชาติ เรื่อง ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม 2555

 

 

การสัมมนาระดมความคิดเห็นระดับชาติ เรื่อง ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม 2555 เมื่อวันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม 2555 ณ ห้องราชเทวี 2 โรงแรมเอเชีย กรุงเทพมหานคร ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights – AICHR) ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)และมูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นระดับชาติ เรื่อง “ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเสนอข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน และสร้างความตระหนักให้เห็นคุณค่าความสำคัญของปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) ได้กล่าวถึงปัญหาในกระบวนการการทำงานของคณะผู้แทนฯ ในขั้นตอนต่างๆ เช่น ต้องการทำร่างปฏิญญาให้สั้น และมีสาระครบถ้วนและรองรับความต้องการของทั้ง 10 ประเทศได้นั้นเป็นเรื่องยาก เพราะความเฉพาะเจาะจงของแต่ละประเทศ อีกทั้งผู้แทนของแต่ละประเทศในคณะกรรมาธิการนั้นมีความหลากหลาย เช่น ของไทยและอินโดนีเซียมาจากภาคประชาชน ส่วนประเทศอื่นๆเป็นผู้แทนจากภาครัฐบาล ทั้งนี้ยังได้กล่าวรวมไปถึงความคืบหน้าการพัฒนาปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนที่เข้าร่วมสัมมนาได้ซักถามข้อสงสัยอีกด้วย

การร่วมอภิปรายเรื่อง “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน : มุมมองจากภาคส่วนต่าง ๆ”โดย ศ.ดร.อัมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงการร่างปฎิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนั้นไม่ควรอ้างวิถีอาเซียนเพื่อนำมาเป็นกรอบกำหนดในการยกร่าง การยกร่างปฏิญญาต้องไม่มีข้อกำหนดตายตัว ให้คำนึงถึงความสำคัญของปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนต้องมีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าระดับสากล และจะต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้ร่วมกัน

ทางด้าน นางกานดา วัชราภัย ประธานคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองเด็กและสตรี (ACWC) กล่าวว่า ประเด็นทางด้านสิทธิสตรีและเด็กยังไม่ได้รับการพิจารณามากนักในร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนฉบับนี้ ทางส่วนของ ACWC จะมีการประชุมกันเพื่อหาจุดยืนและจะเสนอให้ AICHR พิจารณาต่อไป สำหรับตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศ นางศิริลักษณ์ นิยม กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศให้อิสระแก่คณะผู้แทนไทยในการเจรจาร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แม้การเจรจากับอาเซียน 10 ประเทศจะเป็นเรื่องยากอันเนื่องมาจากความหลากหลาย เราจะต้องหาจุดร่วมที่ไม่ขัดต่อหลักสากลด้วย ซึ่งนับเป็นเงื่อนไขที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับ นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากภาคประชาสังคม มาร่วมกันอภิปรายอีกด้วย

สรุปสาระจากการอภิปราย

- กลไก AICHR ถือเป็นกลไกระหว่างรัฐบาล เนื่องจากจัดตั้งโดยรัฐบาลของประเทศสมาชิกในอาเซียน ดังนั้นการระดมความคิดเห็นถือเป็น“กระบวนการปรึกษาหารือของผู้แทนไทย”

- ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนจะต้องสั้น และมีสาระครอบคลุม และต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล รวมทั้งต้องเพิ่มมูลค่าให้กับมาตรฐานสากลด้วย

- ทางผู้แทนไทยมีความพยายามในการผลักดันประเด็นในเรื่องของ สิทธิของคนบางกลุ่ม ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกันต่อไป

- ลักษณะของปฏิญญาฯ ถือเป็นตราสารทางการเมือง อาจจะไม่มีผลหรือสภาพบังคับทางกฎหมาย แต่จะก่อให้เกิดพื้นฐานทางการเรียกร้อง ต่อรอง พัฒนาในด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อไป

สำหรับเวทีระดมความคิดเป็นจากภาคประชาชนนั้น ได้มีการจัดกลุ่มเพื่อระดมความคิดเห็นในเรื่องสิทธิมนุษยชนประเด็นต่างๆ เช่น สิทธิสตรี แรงงานข้ามชาติ กลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น โดยมีการนำร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (จากการประชุม AICHR ครั้งล่าสุดที่กรุงเทพฯ)ที่ได้ทำการแปลเป็นภาษาไทยมาใช้ในการอ้างอิง ทั้งนี้ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนจะเป็นตัวแทนในการนำข้อเสนอเหล่านี้ไปเสนอสู่เวทีการประชุม AICHR ในครั้งต่อไปที่จะจัดขึ้นในวันที่ 3-6 มิถุนายนนี้ ที่ประเทศพม่า

กระบวนการจัดทำปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เป็นหนึ่งในภาระหน้าที่ของ AICHR ที่ระบุไว้ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ว่า “พัฒนาปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างกรอบความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชน” โดย AICHR ได้ตกลงกันที่จะจัดทำร่างปฏิญญาให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2555 เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่จะจัดขึ้นในประเทศกัมพูชา ซึ่งในส่วนของประเทศไทยได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนตามภูมิภาคของประเทศไทยครบแล้วทุกภาค และในครั้งนี้เป็นการสัมมนาระดมความคิดเห็นระดับชาติและเป็นครั้งสุดท้ายที่จะนำข้อคิดเห็นจากประชาชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาพัฒนาร่างปฏิญญาให้สมบูรณ์ครบถ้วนต่อไป ทั้งนี้ หากปฏิญญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเสร็จสมบูรณ์ จะถือได้ว่าเป็นเอกสารที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนชิ้นแรกขององค์กรระดับอาเซียน ซึ่งจะเป็นกลไกสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาค

Leave A Response