ทักษะภาษาอังกฤษกับอาเซียน*
โดย ผศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข
ภาษากลางของอาเซียนคือภาษาอะไร? คำตอบ คือ “ภาษาอังกฤษ” หลายคนอาจผิดหวังว่า ทำไมอาเซียนเราต้องไปใช้ภาษาฝรั่งมังค่าที่อยู่ห่างไกล ไม่ใช้ภาษาในแถบนี้กันเองเป็นภาษากลาง ทั้งนี้ เนื่องมาจากเหตุผลที่ว่า ชาติอาเซียนมีความหลากหลายทั้งชาติพันธุ์ วัฒนธรรม รวมทั้งภาษา เมื่อพูดคุยกับคนจากชาติสมาชิกอาเซียนอื่น ส่วนใหญ่จะไม่สามารถสื่อสารกันได้ หากไม่ใช้ภาษาอังกฤษ ยกเว้นกรณีภาษาไทยกับภาษาลาว และภาษามาเลเซียกับภาษาอินโดนีเซีย ซึ่งมีความใกล้เคียงกันอยู่พอสมควร แต่กระนั้น แม้แต่ในประเทศอินโดนีเซียเอง ยังมีภาษาที่แตกต่างกันกว่า 100 ภาษา ก็ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า การสื่อสารกันในหมู่ชาวอาเซียนไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าไม่ใช้ภาษาอังกฤษ ครั้นจะกำหนดให้ภาษาของชาติอาเซียนชาติใดชาติหนึ่งเป็นภาษากลาง ยิ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่สามารถใช้เป็นภาษากลางได้อย่างแท้จริง อีกทั้งชาติอาเซียนอื่น คงจะไม่ยอม สรุปว่า อาเซียนต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อพิจารณาถึงทักษะภาษาอังกฤษของชาติอาเซียน พบว่า ไทยอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง จากการจัดอันดับของ IMD World Competitive Yearbook 2011 พบว่า ในหมู่ชาติอาเซียน สิงคโปร์มีระดับทักษะภาษาอังกฤษสูงสุด ตามมาด้วยฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ไทยเราเป็นรองแม้กระทั่งอินโดนีเซีย ดัชนีดังกล่าวสอดคล้องกับการจัดอันดับของ English Proficiency Index (EFI) ที่แบ่งออกเป็น 5 ระดับ คือ กลุ่มประเทศที่มีทักษะภาษาอังกฤษระดับสูงมาก ระดับสูง ระดับปานกลาง ระดับต่ำ และระดับต่ำมาก ปรากฏว่า ประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน “ระดับต่ำมาก” ทั้งยังอยู่ในลำดับที่ต่ำกว่าอินโดนีเซียและเวียดนามเสียอีก
นอกจากนี้ จากการเก็บข้อมูลคะแนนทักษะภาษาอังกฤษจากการสอบ TOEFL ของบัณฑิตจากประเทศอาเซียน พบว่า สิงคโปร์กับฟิลิปปินส์เป็นสองชาติที่ได้คะแนนเฉลี่ยสูงกว่า 550 มาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า เวียดนาม และกัมพูชา ได้คะแนนเฉลี่ยมากกว่า 500 ในขณะที่คะแนนเฉลี่ยของบัณฑิตไทยได้ต่ำกว่า 500 คะแนน ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับบัณฑิตจากประเทศลาว ข้อมูลเชิงประจักษ์เหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า คนไทยยังมีปัญหาในทักษะภาษาอังกฤษจริงๆ ซึ่งก็เป็นประเด็นที่กังวลกันในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
คนไทยเรามักจะพูดกันเสมอว่า “ไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใคร เราจึงไม่ถนัดภาษาอังกฤษเหมือนกับประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมชาติตะวันตก” คำกล่าวเช่นนี้ คงสามารถอ้างได้เพียง 30-40 ปีหลังประเทศเหล่านั้นได้รับเอกราช ในช่วงที่คนที่ได้รับการศึกษาหรือทำงานในระบบของประเทศเจ้าอาณานิคมยังทำงานและยังมีชีวิตอยู่ แต่จะไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมชาติเหล่านั้นยังคงมีทักษะความสามารถทางภาษาอังกฤษดีกว่าไทยเราอย่างมาก แม้จะได้รับเอกราชมานานกว่า 50 ปี หรือ 60 ปีแล้ว และยิ่งอธิบายไม่ได้เมื่อเวียดนามกับกัมพูชา ซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และเพิ่งจะเริ่มพัฒนาขึ้นมา กลับได้รับการจัดระดับทักษะภาษาอังกฤษดีกว่าไทย
ผู้เขียนได้เดินทางไปประชุมวิชาการที่กัมพูชาเมื่อเร็วๆ นี้ มีความรู้สึกประหลาดใจที่ คนกัมพูชาสามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ดีทีเดียว แน่นอนว่าไม่ถึงกับดีมาก แต่นับว่าสื่อสารกันรู้เรื่อง เริ่มตั้งแต่คนขับแท็กซี่ ไปจนถึงพนักงานขนกระเป๋าที่โรงแรม ซึ่งเป็นพนักงานที่ไม่ได้มีระดับการศึกษาสูง แต่กลับสื่อสารกันได้ แม้แต่เรื่องที่ต้องใช้ภาษาในระดับที่ยากขึ้น เช่น เรื่องการเมือง หรือเรื่องการตัดสินคดีแกนนำเขมรแดง ตอนแรกคิดว่า อาจเป็นกรณีบังเอิญที่ไปเจอคนที่พูดภาษาอังกฤษดี แต่เมื่อได้พูดคุยกับเพื่อนอาจารย์จากชาติอื่น ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า สามารถสื่อสารกับคนกัมพูชาได้สะดวกกว่าคนไทย
จากการสัมมนาและได้พูดคุยกับนักศึกษากัมพูชาระดับปริญญาตรี พบว่า ภาษาอังกฤษของเขาใช้ได้ทีเดียว และยังกล้าที่จะพูดแสดงความคิดเห็น ไม่มัวแต่กลัวพูดผิด จนไม่กล้าพูดเหมือนนักศึกษาไทยส่วนใหญ่ นอกจากนั้น เมื่อ 4 ปีก่อน ผู้เขียนมีโอกาสไปเที่ยวนครวัด ก็พบว่า มัคคุเทศก์ชาวกัมพูชาสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะเขามีแรงผลักที่จะพูดและใช้ภาษาอังกฤษ เพื่อความอยู่รอด และเพิ่มโอกาสในชีวิต ทำให้สะท้อนใจคิดถึงเด็กไทยที่ชีวิตความเป็นอยู่สบายกว่าเขา จึงขาดความกระตือรือร้น วันๆ หมกมุ่นอยู่กับเฟซบุ๊ค เล่นเกม แชตออนไลน์ แม้แต่ในเวลาเรียน
ดังนั้น การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษจึงควรจัดเป็น “วาระแห่งชาติ” ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การเรียนการสอนภาษาอังกฤษต้องเน้นการสื่อสาร (communicative approach) ให้มากกว่าการเรียนแบบเน้นไวยากรณ์ ที่มักทำให้ผู้เรียนติดกับดักไวยากรณ์ จนสามารถพูดหรือสื่อสารได้น้อย ยิ่งเมื่อมาผนวกกับวัฒนธรรมแบบไทยๆ ที่ไม่กล้าแสดงออก กลัวอับอายถ้าพูดผิด ยิ่งทำให้ไม่สามารถพัฒนาทักษะความสามารถด้านภาษาอังกฤษได้เท่าที่ควร
วิธีการหนึ่งที่น่าจะช่วยได้ คือ การจ้างครูต่างชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรกให้มากขึ้น และกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ ให้ทั่วประเทศ ไม่กระจุกอยู่แต่เพียงกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ๆ เราอาจพิจาณากรณีศึกษาของญี่ปุ่นที่มีโครงการ Japan Exchange and Teaching Program เรียกย่อๆ ว่า JET ซึ่งเป็นโครงการที่รับสมัครบัณฑิตจบใหม่จากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ มาสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนญี่ปุ่นทั่วประเทศ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารในท้องถิ่นกับกระทรวงศึกษาธิการที่ลงขันร่วมกัน หากไทยสามารถทำโครงการในลักษณะนี้ได้ จะเป็นการกระจายโอกาสทางการศึกษาไปยังต่างจังหวัดได้อีกด้วย องค์การบริหารในท้องถิ่นน่าจะจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาการศึกษาเชิงรุกเช่นนี้ไว้ด้วย ซึ่งน่าจะได้ประโยชน์กว่าการใช้งบประมาณไปในการศึกษาดูงาน หรือในการพัฒนาบุคลากรของตนให้ได้ปริญญาโท ปริญญาเอก
ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า ทักษะภาษาอังกฤษไม่ได้ใช้เฉพาะแค่ในประชาคมอาเซียน แต่ยังมีประโยชน์และขาดไม่ได้ในการติดต่อสื่อสาร ค้าขายกับนานาประเทศทั่วโลก การจะประสบความสำเร็จในยุคโลกาภิวัตน์เช่นปัจจุบัน ภาษาอังกฤษกลายเป็นความสามารถมาตรฐานไปแล้ว ไม่ใช่ความสามารถพิเศษแต่อย่างใด
*บทความชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 31 พฤษภาคม 2555