การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๔๕ ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
การประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ จัดขึ้นในวันที่ 6- 13 กรกฎาคม 2555 โดยจะมีการประชุมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
การประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน การประชุมกับคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR)
การประชุมคณะกรรมาธิการสำหรับเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANWFZ)
การประชุมกับคู่เจรจา การประชุมอาเซียน+๓
การประชุมระดับรัฐมนตรีของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS)
และการประชุมอาเซียนว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก (ARF)
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาทบทวนความคืบหน้าและร่วมกันกำหนดแนวทางความร่วมมือในการสร้างประชาคมอาเซียน ตลอดจนแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่สำคัญในระดับภูมิภาค และระหว่างประเทศ
ประเด็นสำคัญที่หารือ ได้แก่
๑) การพิจารณาร่าง รูปแบบและขอบเขตอำนาจหน้าที่ของสถาบันอาเซียนว่าด้วยสันติภาพและความสมานฉันท์ (AIPR)
๒) การพิจารณาร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
๓) ความคืบหน้าในการดำเนินการตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้(Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea -DOC) และความคืบหน้าในการหารือองค์ประกอบของแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Regional Code of Conduct in the South China Sea – COC) ผลสุดท้ายไม่สามารถตกลงกันได้
และ ๔) การพิจารณากระบวนการการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาไมตรี และความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร
ประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญและจะผลักดัน คือ
๑) หุ้นส่วนความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงในภูมิภาค
๒) ความร่วมมือด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติ ซึ่งไทยกับสาธารณรัฐเกาหลีจะร่วมมือกันจัดการฝึกซ้อมใหญ่ในปี ๒๕๕๖ โดยจะเชิญประเทศสมาชิก ARF ทุกประเทศเข้าร่วม ซึ่งในปีที่ผ่านมามีการฝึกซ้อมกันในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
๓) ความร่วมมือให้อาเซียนเป็นเขตปลอดยาเสพติดภายในปี ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นแนวคิดริเริ่มของนายกรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๕
นอกจากนี้ยังมีการประชุมอีก ๒ การประชุม คือ
๔.๑ การประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับ AICHR ซึ่งไทยจะแสดงความยินดีต่อพัฒนาการในการยกร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยไทยเห็นว่าปฏิญญาฯ นี้จะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน และร่างปฏิญญาฯ ควรสอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล และทำให้ประชาชนในภูมิภาคตระหนักและรับรู้ถึงสิทธิของตน ไทยจะส่งเสริมให้ AICHR หารือกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคประชาสังคม และภาคประชาชนมากขึ้น นอกจากนี้ จะส่งเสริมให้จัดกิจกรรมคู่ขนานเพื่อสร้างความตระหนักรู้ทั้งในระดับประเทศและในระดับอาเซียน
๔.๒ การประชุมคณะกรรมาธิการสำหรับ SEANWFZ ซึ่งเดิมคาดว่าจะมีการลงนามในพิธีสารแนบท้ายของสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ (สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร จีน ฝรั่งเศส และรัสเซีย) แถลงการณ์ของอาเซียน และบันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียน-จีน แต่เนื่องจากประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์บางประเทศได้เพิ่งยื่นข้อสงวนและเงื่อนไขในการปฏิบัติตามพันธกรณีของพิธีสาร จึงจำเป็นต้องมีการหารือกันต่อ โดยหวังว่าจะสามารถลงนามได้ในโอกาสแรกต่อไป นอกจากนี้บันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียน – จีนนั้น มีความขัดแย้งกัน จึงไม่สามารถประกาศได้
แหล่งอ้างอิง : www.thaireform.in.th