Workshop หัวข้อ “Market Economy Challenges in Southeast Asia”
จัดโดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ Konrad-Adenauer-Stiftung (KAS)
18 กันยายน 2555
ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
…………………………………………………………..
Workshop นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Social and Economic Governance in Asia (SOPAS) ของ KAS ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจสิ่งท้าทายทางเศรษฐกิจในภูมิภาค, ท่าทีและการปรับตัวของภูมิภาคต่อวิกฤตเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเพื่อเผยแพร่แนวคิดว่าด้วยความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจสังคมแบบประเทศเยอรมนีที่เป็นรากฐานของความสำเร็จของประเทศตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน
สำหรับ Workshop ในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเปรียบเทียบระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านการนำเสนอระบบเศรษฐกิจและสิ่งท้าทายทางเศรษฐกิจจากนักวิชาการของแต่ละประเทศ
เริ่มจากประเทศไทย ดร.สินีนาฏ เสริมชีพ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ระบุสิ่งท้าทายทางเศรษฐกิจหลักที่น่ากังวลสำหรับประเทศไทยคือ (1) นโยบายการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่รับซื้อข้าวจากชาวนาด้วยราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ซึ่งอาจมีปัญหาในเรื่องของงบเงินอุดหนุนรวมทั้งการได้รับมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) จากประเทศนำเข้าข้าวจากไทย, (2) การกลับมาใช้กองทุนน้ำมันอีกครั้งในปีนี้เพื่อรักษาเสถียรภาพน้ำมัน ซึ่งอาจเกิดปัญหาเนื่องจากระดับราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งราคาที่ถูกพยุงไว้ไม่สามารถแสดงต้นทุนจริงของการใช้น้ำมันได้, และ (3) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่บนฐานรายได้ มิใช่ความมั่งคั่งสะสมของเจ้าของ และยังง่ายต่อการยกเว้นหรือลดหย่อน
ในส่วนของอินโดนีเซีย Anwar Nasution ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย นำเสนอประเด็นหลักดังนี้ (1) อินโดนีเซียยังขาดสถาบันที่มีประสิทธิภาพในการจัดการความล้มเหลวของตลาดและการสนับสนุนการเจริญทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน, (2) ภาคการเงิน ธนาคารแต่ละแห่งแข่งขันกันอย่างไม่เสรี โดยธนาคารที่มีรัฐเป็นหุ้นส่วนหลักจะได้เปรียบมากกว่ามาก ส่วนในภาคการคลัง รัฐบาลใช้นโยบายเข้มงวดทางด้านการคลังโดยจำกัดการขาดดุลงบประมาณไม่ให้เกินร้อยละ 3 ของ GDP ประเทศ เนื่องจากอินโดนีเซียได้รายได้จากการเก็บภาษีได้ไม่มาก (เพียงร้อยละ 13 ของ GDP เท่านั้น) เพราะประสบกับปัญหาเชิงโครงสร้างในการจัดการการเก็บภาษี, (3) การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (Rent Seeking) ที่รัฐรับรองสิทธิการผูกขาดของธุรกิจเฉพาะด้านซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นและขยายครอบคลุมหลายด้านมากขึ้น เช่น เหมืองแร่, ป่าไม้, ประมง, โทรคมนาคม เป็นต้น, (4) ปัญหาเรื่องการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานและกฎข้อบังคับที่เข้มงวด ทำให้อินโดนีเซียเป็นประเทศที่เปิดเสรีน้อยที่สุด รวมถึงมีอัตรา FDI/GDP ต่ำที่สุดในบรรดา 5 ประเทศที่ก่อตั้งอาเซียน, และ (5) แม้อินโดนีเซียจะได้รับการประเมินว่ามีค่าสัมประสิทธิ์จีนีซึ่งวัดความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับเดียวกับเยอรมัน, สวีเดน, และนอร์เวย์ แต่ผลการประเมินดังกล่าวคำนวณจากรายจ่ายของแต่ละครัวเรือน มิได้คำนวณจากรายได้ และเนื่องจากรัฐบาลใช้มาตรการจำกัดการใช้จ่ายอย่างเข้มข้น อินโดนีเซียจึงไม่มีสวัสดิการพื้นฐานที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยและคนตกงาน
ในส่วนของมาเลเซีย Tham Siew Yean อาจารย์จาก Institute of Malaysian and International Studies มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย กล่าวว่า มาเลเซียได้สร้างโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Model: NEM) ขึ้นตั้งแต่ปี 2010 โดยตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มระดับ GDP ให้เป็น 2 เท่าภายในปี 2020 ด้วยการเพิ่มการแข่งขัน, สนับสนุนบทบาทของตลาด, และส่งเสริมบรรยากาศการลงทุน นอกจากนี้ มาเลเซียยังได้ออกกฎหมายแข่งขันทางการค้าในปี 2010 ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2012
Kaiwen Leong และ Huailu Li นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางชี้ว่า แกนหลักของเศรษฐกิจสิงคโปร์คือ ภาค SME แต่ธุรกิจในภาคนี้กำลังได้รับผลกระทบจากราคาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วขององค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ ซึ่งได้แก่ พลังงานไฟฟ้าและค่าเช่าพื้นที่ สำหรับด้านพลังงาน ราคาจะผันผวนตามราคาโลก แต่สาเหตุสำคัญคือ ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกิจพลังงานไฟฟ้าในสิงคโปร์อยู่ในระดับที่สูง ส่งผลให้มีผู้ประกอบการน้อยราย และไม่ได้เกิดการแข่งขันอย่างเต็มที่ ในส่วนค่าเช่าพื้นที่ ซึ่งสูงอยู่แล้วเนื่องจากมีพื้นที่จำกัด แต่ราคาได้เพิ่มขึ้นอีก หลังจากที่รัฐบาลผลักดันให้สิงคโปร์เป็นแหล่งเงินทุน, แหล่งท่องเที่ยว, และฐานวิจัยระดับสูง กอปรกับวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรป ทำให้เกิดการลงทุนและการทำธุรกิจในสิงคโปร์เพิ่มขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เศรษฐกิจของสิงคโปร์อยู่ในสถานะที่ไม่มั่นคงนักในระยะยาว เนื่องจากภาค SME สร้างรายได้คิดเป็นร้อยละ 50 ของ GDP และทำให้เกิดการจ้างงานถึงร้อยละ 60 ของประชากรในสิงคโปร์
สำหรับประเทศเวียดนาม ดร. Le Dang Doanh ประธานสถาบัน Central Institute for Economic Management (CIEM) กล่าวว่า เศรษฐกิจของเวียดนามถูกนำด้วยบทบาทของรัฐเป็นสำคัญ โดยรัฐจะเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติและจัดสรรพื้นที่ด้วยระบบกฎหมายที่คลุมเครือ ทำให้ง่ายต่อการเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องและคอร์รัปชั่น นอกจากนี้การบริหารงานโดยรัฐส่วนใหญ่มักจะไร้ประสิทธิภาพ เพราะเป็นระบบพรรคเดียว ไม่มีการตรวจสอบและคานอำนาจ กอปรกับความไม่เป็นอิสระของสื่อและการกีดกันบทบาทของภาคประชาชน ส่งผลให้เกิดปัญหาจำนวนมาก ปัญหาที่สำคัญทางเศรษฐกิจได้แก่ การจำกัดการแลกเปลี่ยนเงิน, การจำกัดบทบาทของสหภาพแรงงานในการต่อรองกับนายจ้าง, และรัฐบาลควบคุมราคาและทรัพยากรจำนวนมากโดยขาดการบริหารที่โปร่งใส
ส่วนประเทศกัมพูชา Chan Sophal ประธาน Cambodian Economic Association แสดงทรรศนะว่า แม้กัมพูชาจะมีเศรษฐกิจแบบเปิดเสรีตามรัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติยังประสบกับปัญหานานับประการ เนื่องจากกฎหมายบังคับใช้ยังมีไม่เพียงพอและสถาบันต่างๆ ยังไม่มีประสิทธิภาพ เช่นในด้านเศรษฐกิจ ในขณะนี้กัมพูชายังไม่มีกฎหมายการแข่งขันทางการค้าและยังมีอัตราผู้ว่างงานในระดับสูง ประชากรได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่ควรเป็น ทั้งนี้ รัฐบาลจะเน้นการเปิดลงทุนจากต่างชาติเป็นพิเศษ แต่ค่อนข้างละเลยการพัฒนาทางด้านความเป็นอยู่ของประชากร เช่น ยังมีเด็กยากจนจำนวนมาก, ช่องว่างระหว่างรายได้และช่องว่างระหว่างระดับการศึกษาสูง, ระบบสาธารณสุขขาดการพัฒนา, ขาดการให้เงินบำนาญอย่างเป็นระบบ เป็นต้น