home

Workshop หัวข้อ “Market Economy Challenges in Southeast Asia”

ตุลาคม 29, 2012
Workshop หัวข้อ “Market Economy Challenges in Southeast Asia”

 Workshop หัวข้อ “Market Economy Challenges in Southeast Asia”

จัดโดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ Konrad-Adenauer-Stiftung (KAS)

 18 กันยายน 2555

ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

…………………………………………………………..

Workshop นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ  Social and Economic Governance in Asia (SOPAS) ของ KAS ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจสิ่งท้าทายทางเศรษฐกิจในภูมิภาค, ท่าทีและการปรับตัวของภูมิภาคต่อวิกฤตเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเพื่อเผยแพร่แนวคิดว่าด้วยความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจสังคมแบบประเทศเยอรมนีที่เป็นรากฐานของความสำเร็จของประเทศตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

สำหรับ Workshop ในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเปรียบเทียบระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านการนำเสนอระบบเศรษฐกิจและสิ่งท้าทายทางเศรษฐกิจจากนักวิชาการของแต่ละประเทศ

เริ่มจากประเทศไทย ดร.สินีนาฏ เสริมชีพ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ระบุสิ่งท้าทายทางเศรษฐกิจหลักที่น่ากังวลสำหรับประเทศไทยคือ (1) นโยบายการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่รับซื้อข้าวจากชาวนาด้วยราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ซึ่งอาจมีปัญหาในเรื่องของงบเงินอุดหนุนรวมทั้งการได้รับมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) จากประเทศนำเข้าข้าวจากไทย, (2) การกลับมาใช้กองทุนน้ำมันอีกครั้งในปีนี้เพื่อรักษาเสถียรภาพน้ำมัน ซึ่งอาจเกิดปัญหาเนื่องจากระดับราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งราคาที่ถูกพยุงไว้ไม่สามารถแสดงต้นทุนจริงของการใช้น้ำมันได้, และ (3) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่บนฐานรายได้ มิใช่ความมั่งคั่งสะสมของเจ้าของ และยังง่ายต่อการยกเว้นหรือลดหย่อน

ในส่วนของอินโดนีเซีย  Anwar Nasution ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย นำเสนอประเด็นหลักดังนี้ (1) อินโดนีเซียยังขาดสถาบันที่มีประสิทธิภาพในการจัดการความล้มเหลวของตลาดและการสนับสนุนการเจริญทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน, (2) ภาคการเงิน ธนาคารแต่ละแห่งแข่งขันกันอย่างไม่เสรี โดยธนาคารที่มีรัฐเป็นหุ้นส่วนหลักจะได้เปรียบมากกว่ามาก ส่วนในภาคการคลัง รัฐบาลใช้นโยบายเข้มงวดทางด้านการคลังโดยจำกัดการขาดดุลงบประมาณไม่ให้เกินร้อยละ 3 ของ GDP ประเทศ เนื่องจากอินโดนีเซียได้รายได้จากการเก็บภาษีได้ไม่มาก (เพียงร้อยละ 13 ของ GDP เท่านั้น) เพราะประสบกับปัญหาเชิงโครงสร้างในการจัดการการเก็บภาษี, (3) การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (Rent Seeking) ที่รัฐรับรองสิทธิการผูกขาดของธุรกิจเฉพาะด้านซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นและขยายครอบคลุมหลายด้านมากขึ้น เช่น เหมืองแร่, ป่าไม้, ประมง, โทรคมนาคม เป็นต้น, (4) ปัญหาเรื่องการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานและกฎข้อบังคับที่เข้มงวด ทำให้อินโดนีเซียเป็นประเทศที่เปิดเสรีน้อยที่สุด รวมถึงมีอัตรา FDI/GDP ต่ำที่สุดในบรรดา 5 ประเทศที่ก่อตั้งอาเซียน, และ (5) แม้อินโดนีเซียจะได้รับการประเมินว่ามีค่าสัมประสิทธิ์จีนีซึ่งวัดความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับเดียวกับเยอรมัน, สวีเดน, และนอร์เวย์ แต่ผลการประเมินดังกล่าวคำนวณจากรายจ่ายของแต่ละครัวเรือน มิได้คำนวณจากรายได้ และเนื่องจากรัฐบาลใช้มาตรการจำกัดการใช้จ่ายอย่างเข้มข้น อินโดนีเซียจึงไม่มีสวัสดิการพื้นฐานที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยและคนตกงาน

ในส่วนของมาเลเซีย  Tham Siew Yean อาจารย์จาก Institute of Malaysian and International Studies มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย กล่าวว่า มาเลเซียได้สร้างโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Model: NEM) ขึ้นตั้งแต่ปี 2010 โดยตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มระดับ GDP ให้เป็น 2 เท่าภายในปี 2020 ด้วยการเพิ่มการแข่งขัน, สนับสนุนบทบาทของตลาด, และส่งเสริมบรรยากาศการลงทุน นอกจากนี้ มาเลเซียยังได้ออกกฎหมายแข่งขันทางการค้าในปี 2010 ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2012

Kaiwen Leong และ Huailu Li นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางชี้ว่า แกนหลักของเศรษฐกิจสิงคโปร์คือ ภาค SME แต่ธุรกิจในภาคนี้กำลังได้รับผลกระทบจากราคาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วขององค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ ซึ่งได้แก่ พลังงานไฟฟ้าและค่าเช่าพื้นที่ สำหรับด้านพลังงาน ราคาจะผันผวนตามราคาโลก แต่สาเหตุสำคัญคือ ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกิจพลังงานไฟฟ้าในสิงคโปร์อยู่ในระดับที่สูง ส่งผลให้มีผู้ประกอบการน้อยราย และไม่ได้เกิดการแข่งขันอย่างเต็มที่ ในส่วนค่าเช่าพื้นที่ ซึ่งสูงอยู่แล้วเนื่องจากมีพื้นที่จำกัด แต่ราคาได้เพิ่มขึ้นอีก หลังจากที่รัฐบาลผลักดันให้สิงคโปร์เป็นแหล่งเงินทุน, แหล่งท่องเที่ยว, และฐานวิจัยระดับสูง กอปรกับวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรป ทำให้เกิดการลงทุนและการทำธุรกิจในสิงคโปร์เพิ่มขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เศรษฐกิจของสิงคโปร์อยู่ในสถานะที่ไม่มั่นคงนักในระยะยาว เนื่องจากภาค SME สร้างรายได้คิดเป็นร้อยละ 50 ของ GDP และทำให้เกิดการจ้างงานถึงร้อยละ 60 ของประชากรในสิงคโปร์

สำหรับประเทศเวียดนาม ดร. Le Dang Doanh ประธานสถาบัน Central Institute for Economic Management (CIEM) กล่าวว่า เศรษฐกิจของเวียดนามถูกนำด้วยบทบาทของรัฐเป็นสำคัญ โดยรัฐจะเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติและจัดสรรพื้นที่ด้วยระบบกฎหมายที่คลุมเครือ ทำให้ง่ายต่อการเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องและคอร์รัปชั่น นอกจากนี้การบริหารงานโดยรัฐส่วนใหญ่มักจะไร้ประสิทธิภาพ เพราะเป็นระบบพรรคเดียว ไม่มีการตรวจสอบและคานอำนาจ กอปรกับความไม่เป็นอิสระของสื่อและการกีดกันบทบาทของภาคประชาชน ส่งผลให้เกิดปัญหาจำนวนมาก ปัญหาที่สำคัญทางเศรษฐกิจได้แก่ การจำกัดการแลกเปลี่ยนเงิน, การจำกัดบทบาทของสหภาพแรงงานในการต่อรองกับนายจ้าง, และรัฐบาลควบคุมราคาและทรัพยากรจำนวนมากโดยขาดการบริหารที่โปร่งใส

ส่วนประเทศกัมพูชา Chan Sophal ประธาน Cambodian Economic Association แสดงทรรศนะว่า แม้กัมพูชาจะมีเศรษฐกิจแบบเปิดเสรีตามรัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติยังประสบกับปัญหานานับประการ เนื่องจากกฎหมายบังคับใช้ยังมีไม่เพียงพอและสถาบันต่างๆ ยังไม่มีประสิทธิภาพ เช่นในด้านเศรษฐกิจ ในขณะนี้กัมพูชายังไม่มีกฎหมายการแข่งขันทางการค้าและยังมีอัตราผู้ว่างงานในระดับสูง ประชากรได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่ควรเป็น ทั้งนี้ รัฐบาลจะเน้นการเปิดลงทุนจากต่างชาติเป็นพิเศษ แต่ค่อนข้างละเลยการพัฒนาทางด้านความเป็นอยู่ของประชากร เช่น ยังมีเด็กยากจนจำนวนมาก, ช่องว่างระหว่างรายได้และช่องว่างระหว่างระดับการศึกษาสูง, ระบบสาธารณสุขขาดการพัฒนา, ขาดการให้เงินบำนาญอย่างเป็นระบบ เป็นต้น

 

Leave A Response

คลังข้อมูล

พบกับเราที่ Facebook

Tweets ล่าสุด

No tweets found.

แผนที่อาเซียน