UNระบุ สภาพสถานการณ์ในศูนย์พักพิงชาวโรฮิงยา อยู่ในสภาวะเลวร้าย
นางวาเลอรี อามอส หัวหน้าฝ่ายกิจการด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติ ได้เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า สภาพความเป็นอยู่ของชาวมุสลิม โรฮิงยาหลายพันคน ที่หนีภัยความรุนแรงจากรัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตกของพม่าว่า เลวร้ายอย่างที่สุด และชุมชนชาวพุทธและชาวมุสลิม ต่างก็ใช้ชีวิตอย่างหวาดกลัว
นางอามอส ซึ่งเดินทางลงพื้นที่ที่เกิดความรุนแรงที่รัฐยะไข่เมื่อวันพุธ กล่าวว่า เธอรู้สึกกังวลต่อสถานการณ์ที่นั่น จากการที่ประชาชนจำนวนมากอาศัยอยู่กันอย่างแออัดในศูนย์พักพิงที่ขาดสุขอนามัย และถูกจำกัดไม่ออกนอกศูนย์พักพิง นอกจากนี้เธอยังพบว่ามีอีกปัญหาหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การที่ผู้ใหญ่ไม่มีงานทำ ส่วนเด็กๆก็ไม่ได้ไปโรงเรียน
จากการเปิดเผยขององค์การสหประชาชาติที่ระบุว่า มีประชาชนมากกว่า 115,000 คน ที่ยังคงไร้ที่อยู่อาศัย หลังเกิดความรุนแรง 2 รอบ ในรัฐยะไข่ เมื่อเดือนมิถุนายน และตุลาคม ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ และหมู่บ้านทั้งหมดที่ส่วนใหญ่เป็นของชาวโรงฮิงยา ถูกทำลายทำให้พวกเขาไม่มีที่อยู่อาศัย
ความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธและชาวโรฮิงยา ถึงจุดเดือดเมื่อเดือนมิถุนายน หลังจากมีข่าวลือเรื่องเด็กผู้หญิงชาวพุทธ ถูกชาวโรฮิงยาข่มขืนแล้วฆ่า กลายเป็นชนวนให้เกิดการฆ่าล้างแค้นและเผาบ้านกัน ซึ่งนางอามอส กล่าวด้วยว่า ความตึงเครียดระหว่างสองชุมชน ยังคงพุ่งขึ้นสูง พวกเขาต่างตกอยู่ในความหวาดกลัว และอยากกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ซึ่งเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องสร้างความปรองดองระหว่างสองชุมชน
ปัจจุบัน ชาวโรฮิงยา 8 แสนคน ตกอยู่ในสภาพของผู้อพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจากบังคลาเทศ และรัฐบาลพม่า ไม่ยอมรับพวกเขา ขณะที่สหประชาชาติ ระบุว่า คนเหล่านี้ เป็นหนึ่งในชนชาติที่ถูกกดขี่ข่มเหงมากที่สุดในโลก
แหล่งอ้างอิง : www.bangkokbiznews.com, www.innnews.co.th, www.thedailystar.net
พม่าเปิดตัว นิตยสารแนวปลุกใจเสือป่าเล่มแรกในประเทศ
พม่าเปิดตัว “Nhyot” นิตยสารแนวปลุกใจเสือป่าและให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษาเป็นครั้งแรกในประเทศ โดยบรรณาธิการนิตยสารระบุ เพื่อให้ผู้อ่านมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษาและการป้องกันตัวเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ขณะที่นิตยสารดังกล่าวกำลังเป็นที่ฮือฮาและได้รับความสนใจอย่างมากในพม่า
อูฉ่วย หัวหน้าบรรณาธิการนิตยสาร “Nhyot” กล่าวว่า “ผู้คนในประเทศนี้ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษา แม้โตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม ในต่างประเทศเรื่องเพศศึกษานั้นถูกบรรจุในหนังสือเรียน ทำให้เด็กในต่างประเทศมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศตั้งแต่อยู่ชั้นประถม หากขาดความรู้เรื่องเพศศึกษา อาจทำให้ติดโรคทางเพศสัมพันธ์ได้ ซึ่งจะไม่กระทบกับครอบครัวเท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงระดับชาติ” เขายังกล่าวด้วยว่า บทความในนิตยสารได้ถูกตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนก่อนถูกเผยแพร่ และมีข้อความเตือนว่าเหมาะสำหรับวัยผู้ใหญ่เท่านั้น และจะไม่ส่งเสริมให้มีกระทบกระเทือนกับวัฒนธรรมพม่า
ด้านเจ้าของร้านหนังสือรายหนึ่งเปิดเผยว่า นิตยสาร “Nhyot” มียอดขายดีมาก โดยพบว่าผู้อ่านส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย โดย ขายอยู่เล่มละ 3,000 จั๊ต (108 บาท)
อีกด้านหนึ่ง วัยรุ่นหญิงพม่าคนหนึ่งกล่าวว่า นิตยสารดังกล่าวมีความน่าสนใจอยู่ แม้ว่าจะสื่อไปทางกิเลสตัณหา “ในฐานะที่ประเทศของเราเปิดประเทศและมีเสรีภาพมากขึ้น เลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการตีพิมพ์นิตยสารลักษณะนี้ เราไม่สามารถหยุดนิตยสารลักษณะนี้ได้ เราอาจจะได้รับความรู้จากนิตยสารแนวดังกล่าว อย่างไรก็ตาม นิตยสารก็มีมีราคาแพง ทั้งที่เป็นนิตยสารเล่มใหม่” เธอกล่าว
แหล่งอ้างอิง : http://salweennews.org