กองทัพพม่าโจมตีกองทัพรัฐฉาน อย่างหนักในเมืองน้ำคำ อ้างจับกุมชาวพม่า
แหล่งข่าวจาก กองทัพรัฐฉาน(Shan State Army-SSA) ของสภากอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of Shan State-RCSS) ออกมาเปิดเผยว่า เมื่อวันพฤหัสบดี (9 พฤษภาคม) ที่ผ่านมาว่า กองทัพพม่ากองพันที่ 145 ได้ใช้ปืนใหญ่โจมตีทหารของ RCSS/SSA อย่างหนักที่หมู่บ้านหนองม้า เมืองน้ำคำ ซึ่งฐานทัพของ RCSS/SSA นั้นอยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำมาว ซึ่งกั้นระหว่างชายแดนจีนและพม่า ทำให้มีบ้านเรือนของชาวบ้านหลายหลังได้รับความเสียหาย และกระสุนปืนยังได้ตกไปยังฝั่งจีนด้วย
หลังเกิดเหตุปะทะกัน ทางการจีนได้ปิดชายแดนและเพิ่มกำลังทหารตามชายแดนทันที ด้านชาวบ้านบางส่วนหนีภัยสงครามไปยังฝั่งจีน ขณะที่บางส่วนหนีเข้าไปในตัวเมืองน้ำคำ ทางด้าน RCSS/SSA เปิดเผยว่า การปะทะกันครั้งนี้ ทำให้ทหารพม่าเสียชีวิต 10 นาย บาดเจ็บอีก 7 นาย ขณะที่ทหารไทใหญ่เสียชีวิต 1 นาย
ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่เชื่อว่า การโจมตีทหารไทใหญ่ครั้งนี้ น่าจะสืบเนื่องจากชาวพม่า 4 คน ซึ่งอาจจะเป็นสายลับของพม่าได้หายตัวไปในพื้นที่นี้ โดยทางการพม่าโจมตีว่า ทหารไทใหญ่ RCSS/SSA เป็นผู้จับตัวสายลับชาวพม่าทั้ง 4 คนไปกุมขัง ด้าน RCSS/SSA ได้ออกมาปฏิเสธเรื่องนี้ โดยโฆษกของ RCSS/SSA เปิดเผยว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ร้องเรียนไปยังนายอ่องมิน ผู้นำทีมเจรจาสันติภาพของรัฐบาลพม่าแล้ว แต่ยังไม่มีท่าทีใดๆ จนถึงขณะนี้ ทั้งนี้ RCSS/SSA กับรัฐบาลพม่าได้ลงนามหยุดยิงกันเมื่อพฤษภาคมปีที่แล้ว
แหล่งที่มา : salweennews.org
พม่าเล็งผุดโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก
พม่าเล็งจับมือกรีน เอิร์ธ พาวเวอร์ บริษัทพลังงานจากไทย สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก
กระทรวงพลังงานไฟฟ้าพม่า เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าว จะตั้งอยู่ที่เมืองมินบู จังหวัดมักเว ภายใต้ความช่วยเหลือจากบริษัทกรีน เอิร์ธ พาวเวอร์ หรือ GEP
โรงไฟฟ้าดังกล่าวจะผลิตกระแสไฟฟ้า 210 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนราว 275 ล้านดอลลาร์ โดยกระทรวงและ GEP ได้ลงนามในข้อตกลงดำเนินการสำรวจศักยภาพพื้นที่ก่อสร้าง โรงไฟฟ้าไปเมื่อเร็วๆ นี้ ทั้ง GEP ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับกระทรวง เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าอีกแห่งหนึ่ง ที่มีความสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 200 เมกะวัตต์
ทางด้านนายออง ทาน อู รัฐมนตรีช่วยกระทรวงพลังงานไฟฟ้า กล่าวว่า เป้าหมายของโรงไฟฟ้าใหม่ คือการเพิ่มปริมาณกระแสไฟฟ้าจาก 2,500 เมกะวัตต์ เป็น 30,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 เนื่องจากกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ไม่เพียงพอสำหรับป้อนเขตอุตสาหกรรม และพลังงานแสงอาทิตย์จะเป็นตัวเลือกแรกที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า
ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าของพม่ามาจากพลังน้ำ 70% ก๊าซ 20% อีก 10% มาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน พื้นที่เขตเมืองในพม่าใช้ไฟฟ้า 26% ส่วนพื้นที่ชนบทใช้ไฟฟ้า 4%
แหล่งที่มา : bangkokbiznews.com