การสัมมนา TU-ASEAN Forum ครั้งที่ 8
หัวข้อ “ไทยกับการเป็นศูนย์กลางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภาค 2”
วันพุธที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์
เรื่อง “ไทยกับการเป็นศูนย์กลางด้านอาหารของ AEC”
โดย ดร.สารสิน วีระผล
ในงานสัมมนาครั้งนี้ ดร.สารสิน ได้เริ่มประเด็นด้วยการเสนอให้มองมิติทางอาหารในภาพใหญ่ ที่เชื่อมโยงกับสิ่งอื่น ๆ อาทิ อาหารในฐานะพื้นฐานกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สุขอนามัยและการแพทย์ รวมทั้งอาหารในฐานะที่เป็นการส่งเสริมสุขภาพ
ประเด็นที่สำคัญ คือการมองมิติทางด้านอาหารในแง่มุมการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านการผลิต เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและปริมาณของอาหาร เขาเห็นว่า ในประเด็นนี้ มีความจำเป็นต้องพูดถึงการวิจัยและเน้นเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสนองตอบบทบาทการเป็นศูนย์กลางด้านอาหารของไทย นอกจากนี้ ในสภาวะที่ประชากรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้น ความต้องการอาหารก็เพิ่มตามไปด้วย ในขณะที่ ที่ดินใช้เพาะปลูกก็จะถูกนำไปเป็นที่อยู่อาศัยมากขึ้น จึงมีผลต่อพื้นที่ผลิตอาหาร ดังนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญในการลดปัญหาการขาดแคลนอาหาร ซึ่งประเทศไทยเราเองก็มีความพร้อมในการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับภูมิภาคอยู่แล้วด้วย
อีกด้านหนึ่ง ประเทศไทยก็มีความพร้อมในการลงทุนในธุรกิจผลิตอาหารในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ไทยมีความพร้อมมากกว่า และบริษัทอาหารของไทยไปลงทุนในประเทศอาเซียนมาก่อนหน้ากระแส AEC ด้วยซ้ำ หลายประเทศให้การต้อนรับอย่างดีเพราะเล็งเห็นว่า มีศักยภาพในการลงทุนแก่ประเทศเขาได้
สำหรับปัจจุบันนี้ ภาครัฐเห็นความจำเป็นในการส่งเสริมให้บริษัทสัญชาติไทยไปลงทุนต่างประเทศ ไม่เพียงแค่ด้านการค้า แต่ยังมีการผลิตหรือธุรกิจด้านอาหารด้วย ดร.สารสินยังเชื่อมั่นด้วยว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการแสดงบทบาทการเป็นศูนย์กลางด้านอาหารของอาเซียน ซึ่งจะทำสำเร็จได้ ก็ด้วยการประสานแผนยุทธศาสตร์ร่วมกันระหว่างภาครัฐ-ภาคเอกชน ทั้งนี้ แม้ว่าในภาครัฐจะมีการส่งเสริมมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้พิจารณาด้านยุทธศาสตร์ สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่การมองเรื่องอาหารอย่างบูรณาการ ไม่เพียงแค่ด้านการค้าหรือการผลิตเท่านั้น แต่ยังมีองค์ประกอบอื่นเช่น การระดมทุนเพื่อการผลิตด้านอาหาร เป็นต้น
ในส่วนสุดท้าย ดร.สารสินได้ย้ำว่า เมื่อพูดถึงเรื่องอาหารจะต้องมองเป็นภาพใหญ่ มีการโยงใยในเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ที่อยู่อาศัย และอาหารยังเกี่ยวโยงกับธุรกิจในรูปแบบอื่น ๆ อีก โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์ รวมถึงการขยายตลาดในระดับท้องถิ่นในประเทศอาเซียนให้เปิดกว้างมากขึ้น มีการเชื่อมโยงการค้าขายอาหารเข้ากับด้านการขนส่งโลจิสติกส์เพื่อให้สามารถสะดวกต่อการเข้าถึงตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน และรัฐบาลจะต้องส่งเสริมในธุรกิจอาหารทุกระดับขนาด เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านอาหารที่ไทยมีอยู่แล้ว ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น จนกลายเป็นศูนย์กลางของอาหารของอาเซียนได้อย่างแท้จริง