การรักษาสมดุลในการพัฒนาของลาว*
โดย เชาวน์วัฒน์ มูลภักดี
20 กว่าปีที่แล้ว เมื่อบรรยากาศของการต่อสู้ทางอุดมการณ์ผ่อนคลายลง สะพานมิตรภาพแห่งที่หนึ่งได้เชื่อมแผ่นดินสองฝั่งโขงเข้าด้วยกันอีกครั้งอย่างเป็นทางการ ชาวลาวกลุ่มหนึ่งเดินทางข้ามฝั่งมาเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องในฝั่งไทย หลังได้ยลโฉมตึกรามบ้านช่อง ห้างสรรพสินค้าและเครื่องใช้ไม้สอยที่ทันสมัยเจริญพัฒนา (ทางวัตถุ) ของเมืองไทย จึงได้ออกปากถามว่าจะต้องทำอย่างไรเมืองลาวถึงจะเจริญได้เหมือนฝั่งไทย ฝ่ายญาติที่อยู่ในฝั่งไทยได้ฟังดังนั้นก็ได้แต่ยิ้มแห้งๆ ก่อนตอบว่า “ไม่ยากหรอก เอาเลื่อยยนต์กับรถสิบล้อซัก 50 คัน ข้ามสะพานไป เดี๋ยวเดียว เจริญ!”
เรื่องตลกร้ายข้างต้นที่ผู้เฒ่าผู้แก่แถบภาคอีสานที่ยังโหยหาคืนวันที่สภาพแวดล้อมยังคงสมบูรณ์มักจะเล่าล้อเล่นกัน ดูเหมือนจะมีแง่มุมที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ป่าที่ลดลงอย่างรวดเร็วของลาวอยู่ไม่น้อยที่ในปัจจุบัน เพราะแม้ลาวจะมีพื้นที่ป่าเหลืออยู่ประมาณ 9.55 ล้านเฮกตาร์ (ประมาณ 59 ล้าน 7 แสนไร่) หรือคิดเป็น 40% ของพื้นที่ของประเทศ แต่ก็กำลังลดระดับลงอย่างต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 1.4 ต่อปี
แน่นอน สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของการลดระดับลงดังกล่าวของพื้นที่ป่าย่อมเป็นผลกระทบจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการลงทุนในภาคการเกษตรจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน เวียดนาม และไทย การลักลอบตัดไม้เพื่อการค้าที่พบมากในเขตชายแดนที่ติดต่อกับเวียดนาม จีน และไทย ซึ่งประเมินว่าได้มีการลักลอบตัดไม้และส่งออกไปยังทั้ง 3 ประเทศกว่า 200,000 ตันในแต่ละปีรวมถึงการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อการส่งออกตามยุทธศาสตร์ “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” รวมถึง อุตสาหกรรมเหมืองแร่ชนิดต่างๆ ที่ผุดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นหนึ่งในรายได้หลักของลาวในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี รัฐบาลลาวเองก็ดูเหมือนจะตระหนักถึงปัญหาการลดลงของพื้นที่ป่าและแนวโน้มของการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ดังที่บุคคลระดับนำในประเทศหลายคนออกมายอมรับว่าอัตราการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของลาวในปัจจุบันนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งพาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป และจะนำมาสู่ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมโดยรวม ซึ่งในท้ายที่สุดจะไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาวแม้ว่าในปัจจุบันลาวจะถูกจัดเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลกก็ตาม
ด้วยการเห็นความสำคัญในประเด็นข้างต้น ปีที่แล้วรัฐบาลลาวจึงได้วางนโยบายอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าที่กำหนดให้พื้นที่ป่าของประเทศอยู่ในระดับ 65% ของพื้นที่ประเทศภายในปี 2015 และเพิ่มเป็น 70% ภายในปี 2020 ตามลำดับ ซึ่งมาตรการหลักๆ ที่เป็นรูปธรรมก็เช่น การจัดสรรเขตการจัดการป่าใหม่ในแขวงอัตปือซึ่งกินพื้นที่ป่ากว่า 750,000 เฮกตาร์ (ประมาณ 4 ล้าน 7 แสนไร่) เพื่อให้หน่วยงานด้านการอนุรักษ์รวมทั้งการพยายามฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมในอีกหลายพื้นที่ เป็นต้น
แต่กระนั้น มาตรการดังกล่าวก็ถูกตั้งคำถามว่าจะช่วยให้พื้นที่ป่าของลาวเพิ่มขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลยังคงให้สัมปทานเหมืองแร่และยังมีการสร้างเขื่อนอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงยังมีแนวโน้มการลดลงของพื้นที่ป่าที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ อีกทั้งยังมีการลดลงของประชากรช้างซึ่งองค์กร Elephant Asia ออกมาเปิดเผยเมื่อไม่นานนี้ว่า ประชากรช้างบ้านในลาวเหลือเพียง 450 เชือกเท่านั้น และช้างป่าก็คาดว่าเหลือน้อยกว่าช้างบ้านอย่างแน่นอน (ขณะที่ประชากรช้างในไทย ตามข้อมูลของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย มีช้างบ้านราว 2,700 เชือก มีช้างป่าประมาณ 2,000 – 3,000 เชือก)
ซึ่งนอกจากการที่ช้างป่าในลาวต้องเผชิญกับกลุ่มลักลอบล่าสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่องและหนักหน่วงมากขึ้นแล้ว การลดลงอย่างต่อเนื่องของพื้นที่ป่าซึ่งเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ช้างป่าในลาวมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็วจากสองสาเหตุดังกล่าวข้างต้น ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เมื่อต้นปีที่แล้ว ช้างป่าหลายตัวพากัน “อพยพ” ข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาในฝั่งไทยจนนำมาสู่ “ข้อพิพาทเล็กๆ” ระหว่างไทยกับลาว หากสถานการณ์ที่ช้างป่าในลาวยังคงเป็นเช่นนี้ องค์กร Elephant Asia คาดว่าพวกมันคงจะต้องสูญพันธุ์ในอีก 30 ปีข้างหน้า ชาวลาวที่ได้อ่านข่าวจำนวนประชากรช้างในลาวที่มีน้อยอย่างน่าใจหายถึงกับคอมเม้นท์ในอินเทอร์เน็ตทำนองว่า ลาวเคยชื่อว่าเมืองล้านช้าง บัดนี้ช้างกำลังจะหมดไป
จากตัวอย่างข้างต้น แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์และสภาพแวดล้อมในลาว ซึ่งแม้รัฐบาลลาวจะตระหนักและพยายามฟื้นฟูอยู่ก็ตาม แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติให้เป็นเหมือนที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้ โดยที่ยังสามารถรักษาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ได้ ในทางกลับกัน คงไม่ใช่เรื่องดี ที่จะทุ่มเทให้กับการพัฒนาจนทำลายระบบนิเวศน์จนในท้ายที่สุดส่งผลเสียในระยะยาว การรักษาดุลยภาพระหว่างการพัฒนากับการรักษาสภาพแวดล้อมเป็นปัญหาคลาสสิกที่ทุกประเทศต้องเผชิญ
*บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 6 มีนาคม 2557