ทวีปที่ไม่ได้มืดมิด: ว่าด้วยการค้าระหว่างอาเซียนกับอัฟริกา
(The Not-So-Dark Continent: On ASEAN-Africa Trade)
โดย David Hutt
แปลและเรียบเรียงโดย
ภาคิน นิมมานนรวงศ์
ย้อนไปในปี 2489 ตัวแทนจาก 29 ประเทศในเอเชียและอัฟริกาได้เข้าร่วมหารือกันเกี่ยวกับพัฒนาการความร่วมมือของกลุ่มขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement) ณ เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย ในอีก 50 ปีต่อมา ขณะที่ญี่ปุ่น จีน และอินเดียเป็นคู่ค้าลำดับต้น ๆ ของอัฟริกามาสักระยะหนึ่ง ประเทศในอาเซียนจึงได้เริ่มเดินหน้าเจาะตลาดอัฟริกาอย่างจริงจัง หลังจากตัวแทน 106 ประเทศจากทั้งสองทวีปกลับมาประชุมกันอีกครั้งที่อินโดนีเซียเพื่อสถาปนาความร่วมมือหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เอเชีย-อัฟริกา อันช่วยยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองภูมิภาคให้แน่นแฟ้นกว่าเดิม
ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา มูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนกับอัฟริกาเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในปี 2555 การค้าระหว่างสองภูมิภาคมีมูลค่ารวมถึง 4.25 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.3 ล้านล้านบาท) มากกว่าในปี 2533 ที่มีมูลค่าเพียง 2.8 พันล้านดอลลาร์ (8.4 หมื่นล้านบาท) เท่านั้น ขณะเดียวกัน อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจกว่าร้อยละ 14 ต่อปี ทำให้อัฟริกากลายเป็นทวีปคู่ค้าที่เติบโตเร็วที่สุดเป็นอันดับสองของอาเซียน
จากสถิติของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในปี 2555 พบว่า ไทย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าไปยังอัฟริกามากที่สุด ขณะที่อัฟริกาใต้ ไนจีเรีย และอียิปต์ เป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้าจากตลาดอาเซียนมากมายหลากหลายชนิด ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค ชิ้นส่วนรถยนต์ และเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม
อัฟริกาเป็นทวีปที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อัตราการเติบโตของ GDP ของทั้งภูมิภาคอยู่ที่ราวร้อยละ 5 ต่อปี ธนาคารโลกรายงานว่า GDP รวมของทั้งทวีปมากกว่าบราซิลและรัสเซีย ขณะที่ประเทศเกือบครึ่งหนึ่งของทวีปอยู่ในสถานะประเทศรายได้ระดับปานกลาง ความน่าสนใจของตลาดอัฟริกาจึงทำให้ประเทศในอาเซียน ไม่เว้นกระทั่งประเทศที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจน้อยและไม่มีสถานทูตของชาติอัฟริกาตั้งอยู่ อย่างเช่น ลาว และ กัมพูชา หันมาสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการเงินและหาลู่ทางให้กับนักลงทุนของชาติตัวเองเข้าไปทำธุรกิจในอัฟริกากันมากขึ้น จนทำให้อัฟริกากลายเป็นจุดหมายของการลงทุนที่สำคัญของนักลงทุนจากชาติอาเซียนในปัจจุบัน
ตามรายงานการลงทุนโลกของสหประชาชาติในปี 2555 นักลงทุนจากสิงคโปร์เข้าไปลงทุนในทวีปอัฟริกากว่า 15.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 477 ล้านบาท) มากที่สุดในบรรดาชาติอาเซียนด้วยกัน กระนั้น การลงทุนของอินโดนีเซียกับมาเลเซียก็ตามมาด้วยมูลค่าการลงทุนที่ไม่ห่างกันมากนัก ปัจจุบัน มีบริษัทจากอาเซียนกว่า 2,000 บริษัทเปิดกิจการอยู่ในอัฟริกา โดยมักทำธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตร อุตสาหกรรมการผลิต กิจการน้ำมัน และการพัฒนาเมือง
ถึงแม้ตลาดอัฟริกายังมีขนาดเล็กอยู่โดยเปรียบเทียบ ทั้งการลงทุนยังมีความเสี่ยงในหลายด้าน อาทิ โครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้ผู้ลงทุนต้องเสียต้นทุนค่าขนส่งสูงกว่าที่ควรจะเป็น รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังคงสั่นคลอนอยู่ในหลายประเทศ ระบบสาธารณสุขที่ไม่ทั่วถึง ไปจนถึงข้อพิพาทด้านดินแดนระหว่างผู้คนในท้องถิ่น ซึ่งล้วนแต่ส่งผลเสียต่อนักลงทุนจากต่างชาติในรูปแบบที่แตกต่างกัน ทว่านักลงทุนจากเอเชียกลับมองเห็นโอกาสและลู่ทางในการทำธุรกิจท่ามกลางความเสี่ยงเหล่านี้ บางคนเห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่ตลาดเกิดใหม่จะเต็มไปด้วยอุปสรรคนานัปการ ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่มีประสิทธิภาพน่าจะเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดสำหรับนักลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการเข้าไปเริ่มธุรกิจใหม่ ๆ ในอัฟริกา
มาตรการลดความเสี่ยงและการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับตลาดอัฟริกาให้กับนักลงทุนจากอาเซียนจึงเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นสิ่งแรก ๆ ที่รัฐบาลของชาติอาเซียนต้องเร่งทำ
สิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่ริเริ่มการจัดประชุมระหว่างตัวแทนธุรกิจของสองภูมิภาค ทั้งยังมีการลงนามในความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์กับมหาวิทยาลัยของไนจีเรียและเคนยา เพื่อจัดตั้งศูนย์ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอัฟริกา ซึ่งจะคอยให้ข้อมูลเชิงลึกที่จำเป็นเกี่ยวกับตลาดอัฟริกาแก่บรรดานักธุรกิจและกลุ่มผู้กำหนดนโยบาย นอกจากนี้ หน่วยงานบรรษัทระหว่างประเทศสิงคโปร์ (International Enterprise Singapore) ยังทำหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนในอัฟริกาด้วยการมอบประกันความเสี่ยงทางการเมือง (Political Risk Insurance) ที่ครอบคลุมหนึ่งความเสียหายที่เกิดจากความรุนแรงทางการเมือง การถูกยึดกิจการโดยรัฐ และความผันผวนของค่าเงิน ให้กับนักลงทุนจากสิงคโปร์อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการลดความเสี่ยงและสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับตลาดอัฟริกายังคงเป็นความพยายามของรัฐบาลของบางประเทศ ไม่ใช่ความร่วมมือกันของอาเซียนโดยรวม แม้ 7 ชาติอาเซียนจะร่วมกันตั้งคณะกรรมาธิการอาเซียน-พรีทอเรีย (the ASEAN-Pretoria Committee) ขึ้นเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนกับอัฟริกาใต้ ทว่าจนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีข้อตกลงทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างอาเซียนกับประชาคมเศรษฐกิจอัฟริกาอย่างเป็นทางการแม้แต่ฉบับเดียว ในปี 2555 ผู้แทนจาก 15 ประเทศสมาชิกประชาคมการพัฒนาอัฟริกาตอนใต้ (Southern African Development Community) ได้เดินทางมาหารือกับอาเซียนอย่างเป็นทางการ ทว่าก็ยังไม่มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมใด ๆ เกิดขึ้นจากการหารือครั้งนั้นเช่นกัน
ในภาพรวม แม้ดูจะเป็นไปได้ยากที่อัฟริกาจะกลายเป็นคู่ค้าหลักของอาเซียนในอนาคตอันใกล้ แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว รวมถึงตลาดผู้บริโภคที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันโอกาสของความร่วมมือ โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ ระหว่างสองภูมิภาคให้เป็นจริงและเข้มข้นขึ้นได้ในระยะยาว.
*แปลและเรียบเรียงจาก David Hutt. (2014). “The Not-So-Dark Continent”. SOUTHEAST ASIA GLOBE. Retrieved from http://sea-globe.com/dark-continent-africa-asean-trade-southeast-asia-globe/