เสวนาทางวิชาการ
เรื่อง “เจาะลึกรัฐบาลในอาเซียนกับโอกาสทางการค้าการลงทุนของไทย”
จัดโดย สำนักสิริพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
วันศุกร์ที่ 16 มกราคม 2558 เวลา 08.30 – 12.00 น.
ณ ห้องประชุม จีระ บุญมาก ชั้น 3 อาคารสยามบรมราชกุมารี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา สำนักสิริพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ได้จัดโครงการเสวนาวิชาการในหัวข้อ “เจาะลึกรัฐบาลในอาเซียนกับโอกาสการลงทุนของไทย” โดยมุ่งนำเสนอนโยบายของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดทิศทางของธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและมีเหตุผล โดยมีผู้ร่วมวงเสวนา ได้แก่ คุณปานจิตต์ พิศวง รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนและเอเชียศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ คุณทรงฤทธิ์ โพนเงิน นักวิชาการอิสระและคระกรรมการศูนย์แม่น้ำโขงศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ดำเนินรายการโดย ดร.ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ประกาศข่าวและบรรณาธิการข่าวอาเซียน สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส องค์กรการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย
การเสวนาเริ่มต้นที่คุณปานจิตต์ พิศวง ได้ชี้ให้เห็นโอกาสของประเทศไทยในประชาคมอาเซียนที่มีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจสู่การเป็น Single market และไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความภายในอาเซียนที่มีความแตกต่างในแง่ของเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มประเทศ CLMV กับประเทศที่เหลือ โดยเป็นการใช้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน คุณปานจิตต์ยังได้เน้นให้เห็นถึงจุดแข็งของเศรษฐกิจไทยที่มีศักยภาพทางการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะการค้าบริเวณชายแดน ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา ที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องต่างจากการค้าตลาดเดิมอย่างยุโรป สหรัฐเอริกา ที่เป็นตลาดการค้าเดิมของไทยที่มีตัวเลขการค้าลดลง และไทยจะได้รับประโยชน์หากจัดการให้ประเทศเป็นจุดเชื่อมต่อของภูมิภาค (Hub) ดังนั้น การค้าในภูมิภาคจึงถือว่าเป็นวาระเร่งด่วนที่ทางการไทยจะต้องให้ความสนใจให้การสนับสนุนในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
จากนั้นศาสตราจารย์สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ได้นำเสนอข้อมูลพื้นฐานของแต่ละประเทศในประชาคมอาเซียน โดยชี้ให้เห็นความสำคัญของข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ในการเป็นฐานวิเคราะห์ในการกำหนดยุทธศาสตร์การค้าการลงทุน การให้ความสำคัญกับประชากรและทรัพยากรของแต่ละประเทศ การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็นในการหาโอกาสการค้าการลงทุน
สุดท้าย คุณทรงฤทธิ์ได้อธิบายภาพร่วมของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV ที่แต่ละประเทศต่างมีนโยบายและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจแตกต่างกัน ทั้งนี้นายทรงฤทธิ์เน้นให้เข้าใจถึงการวางนโยบายการลงทุนของไทยที่ต้องเหมาะสมกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน อย่างประเทศลาวที่มียุทธศาสตร์การพัฒนาสู่การเป็น Battery of Asia การเป็น Land link เชื่อมต่อระหว่างจีนกับภูมิภาค ส่วนทางเวียดนามที่มีการเปิดการลงทุนอย่างเสรีเพื่อการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย (Modernization) มีการสร้างเมืองใหม่ ส่วนในเมียนมาร์ที่ไทยเข้าไปลงทุนด้านพลังงานพบว่าไทยต้องเจอการท้าท้ายใหม่จากจีนที่แซงหน้าเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งทำให้อนาคตไทยจะต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาร์ในราคาที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ คุณทรงฤทธิ์ยังได้กล่าวถึงความเชื่อมโยงของภูมิภาคในแง่มุ่มต่างๆ ที่เป็นผลมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น การสร้างเขื่อนที่ประเทศลาวจะส่งผลประผลไปยังเวียดนามที่ยังใช้น้ำจากแม่น้ำโขง ขณะเดียวกันการเชื่อมโยงของภูมิภาคก็เป็นศักยภาพของประเทศไทยที่จะต้องพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อของภูมิภาคให้ได้ ทั้งนี้เนื่องจากภูมิศาสตร์ของไทยรวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานของไทยที่มีศักยภาพสูง พรมแดนแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านจึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ดังนั้นภาคธุรกิจไทยจำต้องปรับโลกทัศน์ต่อประเทศเพื่อนบ้านให้อยู่ในฐานะที่เท่าเทียมกันมิใช่มุ่งหวังแต่การเข้าไปลงทุนกอบโกยผลประโยชน์อย่างเดียว.