เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ในนามของคณะทำงานเฉพาะเรื่องแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการย้ายถิ่นของประเทศไทย ร่วมกับศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานสัมมนาเปิดตัว รายงานการย้ายถิ่นของประเทศไทยประจำปี 2557 (Launch of the Thailand Migration Report 2014) ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ประธานสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทยและอดีตเลขาธิการอาเซียน ให้เกียรติมาเป็นองค์ปาฐก
ในการกล่าวปาฐกาถานำ ดร.สุรินทร์ได้กล่าวถึงความสำคัญกับการย้ายถิ่นของประชาชนชาวอาเซียนที่มีต่อการสร้างประชาคมอาเซียนที่ครอบคลุม ดูแล และแบ่งปัน โดยในปัจจุบัน ชาติอาเซียนเป็นทั้งประเทศต้นทาง ประเทศทางผ่าน และประเทศปลายทางของการย้ายถิ่นของประชาชนที่มีความซับซ้อนและรวดเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลแต่ละประเทศจึงจำเป็นต้องสร้างมาตรการในการรองรับการย้ายถิ่น ทั้งในฐานะแรงงานและในฐานะผู้ผลัดถิ่น ให้มีความสอดคล้องกันและมีประสิทธิภาพที่สุดทั้งนี้ ชาติอาเซียนต้องตระหนักว่า การย้ายถิ่นไม่ใช่ภาระ แต่เป็นโอกาสในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตนและของภูมิภาคให้รุดหน้าขึ้น อีกทั้งยังจะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างกัน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการบูรณาการเป็นประชาคมที่ยั่งยืนในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ดร.สุรินทร์ชี้ว่า ปัจจุบัน อาเซียนยังคงเผชิญข้อจำกัดในการรับมือกับการย้ายถิ่นอยู่ในหลายด้าน อาทิ ความขัดแย้งระหว่างประเทศผู้รับและประเทศผู้ส่งแรงงาน ในเรื่องมาตรฐานและกลไกทางกฎหมายในการรองรับและดูแลแรงงานย้ายถิ่น หรือปัญหาเรื่องทัศนคติที่คนแต่ละชาติมักมองผู้ย้ายถิ่นจากประเทศเพื่อนบ้านในทางลบและดูหมิ่นเหยียดหยาม อาเซียนจึงจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือกันในระดับองค์กรและสร้างความตระหนักรู้และทัศนคติใหม่ให้กับประชาชนด้วย ทั้งนี้เพราะ การปฏิบัติต่อผู้ย้ายถิ่นอย่างให้เกียรติและเคารพในสิทธิมนุษยชนย่อมส่งผลดี ทั้งต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ภาคเอกชน และประชาชนของอาเซียน อีกทั้งยังช่วยให้ประเทศอาเซียนไม่ต้องสูญเสียผลประโยชน์และความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจจากมาตรการแทรกแซงต่าง ๆ จากประเทศนอกภูมิภาค เหมือนอย่างในกรณีของไทยและมาเลเซีย ที่ถูกสหรัฐอเมริกาปรับลดอันดับให้อยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 ตามรายงาน สถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2557 (Trafficking in Persons Report 2014)
ในช่วงของการสัมมนา Jerrold W. Huguet บรรณาธิการของรายงานฉบับดังกล่าว ได้ให้ภาพรวมถึงข้อมูลการย้ายถิ่นของประเทศไทย โดยชี้ให้เห็นว่า การย้ายถิ่นทั้งภายในและระหว่างประเทศมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย ในปัจจุบัน ตามการคาดการณ์ น่าจะมีชาวต่างชาติอาศัยและทำงานอยู่ในประเทศไทยราว 3.5-4 ล้านคน ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานทักษะฝีมือต่ำ แต่ก็ยังประกอบด้วยแรงงานทักษะฝีมือสูงอยู่ถึง 91,000 คน
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ยังไม่แน่นอน เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีความพยายามในการจัดระบบข้อมูลการย้ายถิ่นมากเท่าที่ควร ข้อที่น่าสังเกตคือ จำนวนแรงงานย้ายถิ่นในไทยอาจมีมากกว่าจำนวนผู้ที่มีใบอนุญาตทำงานสองหรือสามเท่า ซึ่งตามรายงานประเมินว่า มีคนต่างชาตินับหมื่นอาศัยอยู่ในประเทศไทยเกินอายุการตรวจลงตรา (Visa) และส่วนใหญ่ยังทำงานอยู่อีกด้วย แต่ไม่สามารถประมาณจำนวนที่ถูกต้องได้
ขณะที่ Euan McDougall จากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ได้วิเคราะห์นโยบายการย้ายถิ่นของประเทศไทย สำหรับผู้ย้ายถิ่นฝีมือต่ำ จากประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมาร์ โดยชี้ว่า การวางระบบของประเทศไทยเพื่อรับมือการย้ายถิ่นเข้าของแรงงานฝีมือต่ำจากประเทศเพื่อนบ้าน อันประกอบด้วย การจดทะเบียนแรงงาน กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ กระบวนการตามบันทึกความเข้าใจ (MOU) และการปรับเปลี่ยนสถานะให้เป็นปกติ ยังคงมีขั้นตอนซับซ้อน ยุ่งยาก และใช้เวลาดำเนินการนานเกินควร อีกทั้ง แสดงการขาดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนของยุทธศาสตร์ด้านการย้ายถิ่นแบบเบ็ดเสร็จในระยะยาว และแรงผลักดันที่ปรากฏส่วนใหญ่ เป็นความต้องการในระยะสั้นของนายจ้าง แทนที่จะเสนอแนวทางซึ่งอิงกับหลักสิทธิมนุษยชน ข้อจำกัดดังกล่าวส่งผลให้มีผู้ย้ายถิ่นจำนวนไม่ได้เข้าสู่กระบวนการ ทั้งยังได้สร้างตลาดให้นายหน้าเข้าร่วมกระบวนการแล้วก่อต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงให้กับผู้ย้ายถิ่นเอง
อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่า กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ กระบวนการตาม MOU และกระบวนการปรับเปลี่ยนสถานะให้เป็นปกติของไทย แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการเชิงนโยบายเช่นกัน เนื่องจากก่อนหน้านี้ ไทยไม่เคยมีการวางระบบเพื่อรับมือผู้ย้ายถิ่นฝีมือต่ำที่เข้าประเทศมาอย่างไม่ปกติและไม่มีระบบในการจัดการให้แรงงานย้ายถิ่นผิดปกติเปลี่ยนสถานะเป็นปกติได้ โดยเฉพาะกระบวนการปรับเปลี่ยนสถานะให้เป็นปกตินั้น เขาเห็นว่าเป็นกระบวนการที่มีความก้าวหน้าและมีการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง หากระบบการปรับเปลี่ยนสถานะได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็น่าจะยิ่งอำนวยประโยชน์ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้แก่ ตัวผู้ย้ายถิ่นเอง รัฐบาลไทย ประเทศเพื่อนบ้าน และนายจ้าง ซึ่งเป็นไปได้ที่ทุกฝ่ายจะหันหน้ามาร่วมกันทำงานภายใต้ระบบการย้ายถิ่นของแรงงานที่มีความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นในอนาคต
ด้าน Max Tunon จากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้อธิบายภาพรวมของการรวมตัวของอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับการย้ายถิ่นและอภิปรายถึงความสำคัญของการเป็นประชาคมอาเซียนต่อการเคลื่อนย้ายของแรงงานและการให้ความคุ้มครองสิทธิของแรงงานย้ายถิ่น โดยชี้ให้เห็นว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ยังลังเลที่จะเดินหน้าเปิดเสรีด้านตลาดแรงงานให้มีความชัดเจน เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องการวิเคราะห์และการคาดคะเนโอกาสและประโยชน์จากการเคลื่อนย้ายแรงงานแบบเปิดเสรียิ่งขึ้น รวมถึงความไม่มั่นใจว่าจะได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของแรงงานฝีมือภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สร้างโอกาสให้อาเซียนค่อย ๆ เคลื่อนสู่ระบบทางเลือกเพื่อการย้ายถิ่นของแรงงานในภูมิภาคที่เท่าเทียมกันยิ่งขึ้น โดยอาเซียนต้องพยายามสร้างนโยบายระดับภูมิภาคที่นำไปสู่การปรับปรุงค่าจ้างและเงื่อนไขต่าง ๆ สำหรับแรงงานให้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนปรับปรุงและเพิ่มการเข้าถึงความคุ้มครองทางสังคม และควรมีการสร้าง กลไกและจัดการประชุมระดับภูมิภาค เพื่อพัฒนาประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมไปพร้อม ๆ กัน
นอกจากนี้ เขายังเห็นว่า นโยบายการย้ายถิ่นที่สอดคล้องและเบ็ดเสร็จควรเป็นองค์ประกอบสำคัญของยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในการเตรียมการเป็นประชาคม อาเซียน โดยได้เสนอข้อเสนอแนะให้รัฐบาลไทยนำไปดำเนินการหลายประการ อาทิ การวิจัยด้านตลาดแรงงานอย่างลึกซึ้ง การให้ความรู้เกี่ยวกับแบบแผนและโอกาสจากการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือแบบเสรีแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การดำเนินการทบทวนอุปสรรคจากบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ระเบียบบังคับ และอื่น ๆ ต่อการเคลื่อนย้าย การพัฒนายุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มองไปข้างหน้าและสอดคล้องกัน โดยคำนึงถึง ความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในประเทศและในภูมิภาค การสนับสนุนการขยายข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยการเคลื่อนย้ายแรงงาน ให้ครอบคลุม แรงงานกึ่งฝีมือและแรงงานฝีมือต่ำบางประเภท การสนับสนุนการรวมตัวของอาเซียนมากยิ่งขึ้น โดยใช้ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานย้ายถิ่นและประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และกลไกที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ