เมื่อวันที่ 20-21 มีนาคมที่ผ่านมา สมาพันธ์แห่งสมาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Federation of ASEAN Economic Associations) ร่วมกับสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทยและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดการประชุมสมาพันธ์แห่งสมาคมเศรษฐกิจอาเซียนครั้งที่ 39 (FAEA 39) ขึ้นในหัวข้อ “Beyond AEC 2015″ ณ โรงแรมดิเอเมอรัลด์ กรุงเทพฯ โดยงานประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน เป็นองค์ปาฐกเปิดการประชุม และดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นองค์ปาฐกปิดการประชุม นอกจากนี้ ในงานยังมีการนำเสนอผลงานวิชาการด้านเศรษฐกิจและจัดเวทีเสวนาของนักเศรษฐศาสตร์จาก 10 ชาติอาเซียนอีกด้วย
ดร. ณรงค์ชัย ได้กล่าวปาฐกถานำถึงภาพรวมทางเศรษฐกิจของอาเซียน โดยชี้ให้เห็นว่า การมองอนาคตที่ไกลกว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 จำเป็นต้องเริ่มต้นจากการทบทวนถึงอดีตของอาเซียนเอง เขาเห็นว่า ตลอดหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจของอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตของ GDP ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่ามาตรฐานโลก ซึ่งนับว่าเป็นความสำเร็จที่สำคัญยิ่ง ชาติอาเซียนหลายประเทศกำลังพัฒนาสู่สังคมเมือง ระบบเศรษฐกิจกำลังเปลี่ยนไป ทำให้วิถีชีวิตและการบริโภคของผู้คนเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ในปัจจุบัน อาเซียนกำลังเข้าสู่ยุคดิจิตอล โจทย์ความท้าทายของอาเซียนหลังการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 จึงอยู่ที่ว่า อาเซียนจะปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคดิจิตอลได้มากน้อยเพียงใด
ดร. ณรงค์ชัยเห็นว่า การปรับตัวและใช้ประโยชน์จากโอกาสทางเศรษฐกิจในยุคดิจิตอล จำเป็นต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิตอลที่มีประสิทธิภาพ ชาติอาเซียนบางชาติ อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ได้ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตนให้สอดคล้องกับยุคสมัยไปบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของภูมิภาคจำเป็นต้องอาศัยการพึ่งพาและร่วมมือกันระหว่างประเทศต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ดร. ณรงค์ชัยยังเห็นว่า เศรษฐกิจในโลกยุคดิจิตอลเป็นเศรษฐกิจที่เชื่อมโยง ไม่ใช่แบ่งแยก ฉะนั้น อาเซียนจึงจำเป็นต้องยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของตนเอง เพื่อส่งเสริมความเชื่อมต่อกันในระดับภูมิภาค และเพื่อบรรลุเป้าหมายของการเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมตามพิมพ์เขียวของอาเซียน เป็นไปได้ว่า อาเซียนหลังการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะมีการค้าการลงทุ่นภายในจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก สวนทางกับการค้าการลงทุนจากภายนอกภูมิภาคที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก ทั้งนี้ ความเป็นพลวัตของอาเซียนจะเป็นตัวเร่งเศรษฐกิจภายในอาเซียนให้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ข้อบังคับทางเศรษฐกิจภายในของแต่ละประเทศจะเป็นกุญแจสำคัญต่อปัจจัยส่งเสริมทางเศรษฐกิจของอาเซียนเองด้วย
ด้าน ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ ได้กล่าวปาฐกถาปิดการประชุมเกี่ยวกับความท้าทายที่อาเซียนจะต้องเผชิญหลังการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปลายปีนี้ ดร. สุรินทร์กล่าวว่า อาเซียนเป็นภูมิภาคที่รองรับการขยายตัวของมหาอำนาจอยู่เสมอ ก่อนที่จีนจะเป็นคู่ค้าสำคัญของอาเซียนในปัจจุบัน ญี่ปุ่นได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการกำหนดโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้กับรัฐในอาเซียนในช่วงเวลาที่อาเซียนกำลังเข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม (Industrialization) ทั้งนี้ สาเหตุผลที่ทำให้อาเซียนได้รับความสนใจจากชาติมหาอำนาจอื่น ๆ ในเบื้องต้นน่าจะอยู่ที่จำนวนประชากรทั้งหมดของอาเซียนที่คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 10 ของทั้งโลก
ดร. สุรินทร์เห็นว่า ในปัจจุบัน ขณะที่จีนกำลังคืบคลานเข้ามาขยายอิทธิพลในทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในอาเซียน ญี่ปุ่นเองก็พยายามในการรักษาสถานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญในอาเซียนเอาไว้ แต่หากวิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าวจะพบว่าจีนมีความได้เปรียบในแง่ของภูมิศาสตร์ที่มีพรมแดนเชื่อมต่อกับอาเซียนทางบกกับกลุ่มประเทศอินโดจีน ทำให้สามารถสร้างระบบขนส่งทางบกที่เชื่อมต่อกันได้ง่ายและสะดวกกว่าญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราเห็นก็คือบทบาทที่เพิ่มขึ้นของจีนส่งผลกระทบต่ออาเซียนและบทบาทของชาติมหาอำนาจอื่น ๆ โดยตรง ดังจะเห็นได้จากการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของชาติมหาอำนาจหลายประเทศ ไม่เว้นกระทั่งสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้ การปรับยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจต่ออาเซียน ทั้งจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ จะทำให้อาเซียนเป็นพื้นที่ขับเขี้ยวกันของมหาอำนาจ โดยเฉพาะหลังการบูรณาการเป็นประชาคมไปแล้ว
ในภาพรวม ประชาคมอาเซียนหลังปี 2558 จะทำให้อาเซียนกลายเป็นโรงงานผลิตร่วมกัน (ASEAN Factory) มีเครือข่ายการผลิตในระดับภูมิภาคเชื่อมโยงกัน ขณะเดียวกันการบูรณาการดังกล่าวแม้จะส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็อาจนำมาซึ่งความท้าทายในหลายมิติ ทั้งหลายทั้งมวลนี้เป็นความท้าทายที่ประชาคมอาเซียนจะต้องเผชิญ ร่วมชะตากรรมไปด้วยกัน.