งานเสวนาวิชาการในโอกาสครบรอบ 30 ปี
เรื่อง “เอเชียศึกษา:ความท้าทายในทศวรรษหน้า”
วันที่ 11 พฤษภาคม 2558 ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธ์ทิพย์
ชั้น 4 อาคารประชาธิปก รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานเสวนาวิชาการเนื่องในโอกาสครบครบ 30 ปี สถาบันเอเชียศึกษา โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. เขียน ธีระวิทย์ มากล่าวปาฐกถาเกียรติยศ เรื่อง “สถาบันเอเชียศึกษา: จุดเริ่มต้น…สู่ปัจจุบัน”
ดร.เขียน ได้กล่าวถึงที่มาของสถาบันเอเชียศึกษาผ่านบริบททางประวัติศาสตร์ในยุคสงครามเย็นที่องค์ความรู้ในยุคดังกล่าวยังขาดความเข้าใจในภูมิภาคเอเชีย และขาดประสิทธิภาพในการอธิบาย ทำให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาวิธีการหาความรู้ในรูปแบบของสหวิทยาการสู่มีการสร้างสถาบันเอเชียศึกษาให้มีความเป็นสหวิทยาการในการเติมเต็มองค์ความรู้ให้กับสังคมไทย แม้ว่าจะผ่านอุปสรรค์ต่างๆ ด้วยการปูรากฐานที่เข้มแข็งจนสร้างความยั่งยืนในปัจจุบัน
ปาฐกถานำ เรื่อง “ไทยและเอเชียในทศวรรษข้างหน้า” โดย ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ ได้กล่าวถึง การมองไปข้างหน้าของสังคมไทยในเอเซียต้องมีการเตรียมตัวที่ดีให้ทันกับบริบทสังคมโลกที่มีพลวัต พร้อมกันนั้น ดร.สุรินทร์ ได้ยกตัวอย่างความสำเร็จของไทยในอดีตในการรอดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของไทย ในการสร้างเครือข่ายทางการระหว่างประเทศ แต่ขณะเดียวกันความสำเร็จในอดีตก็ทำให้ปัญหาสู่การติดกับดักในแง่ของวิธีคิดในการเปิดรับสิ่งใหม่ๆในความเปลี่ยนแปลง การอยู่รอดของไทยจึงอยู่ที่การปรับตัวให้เข้ากับบริบท ค่านิยมสากลแห่งยุคสมัยอย่างในปัจจุบันที่โลกต้องการธรรมภิบาล การปกป้องสิทธิมนุษยชน ไทยจึงต้องเสริมสร้างกลไกของค่านิยมสากลให้เกิดขึ้น ทั้งนี้การกลับไปศึกษาอดีตของไทยเองจะเป็นประโยชน์ในการเข้าใจปัญหาที่เผชิญอยู่ โดย ดร.สุรินทร์ ได้ชี้ชวนให้กลับไปอ่านทบทวนงานศึกษารัฐไทยในอดีตอย่างงาน “Studies of the Thai State: The State of Thai Studies”ของ เบน แอนเดอร์สัน และเสนอแนะว่าไทยต้องหาทิศทางใหม่ในความอยู่รอดในบริบทโลก โดยการนำเอาประสบการณ์ในอดีตมากำหนดอนาคต
การเสวนา เรื่อง “เอเชียกับความท้าทายในอนาคต” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ดังนี้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คุณรตยา จันทรเทียนร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร คุณพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คุณกวี จงกิจถาวร นักวิชาการและสื่อมวลชนอิสระ ดำเนินรายการ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์
การเสวนาเริ่มต้นจาก ดร.อมรา ที่ได้ชี้ให้เห็นความท้าทายของเอเชีย โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนที่แม้จะมีความพยายามในการสร้างกลไกในการปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่ยังพบว่าชาติในอาเซียนยังขาดการดำเนินการด้านการสร้างกลไกในการปกป้องเนื่องจากไม่ตระหนักถึงควมสำคัญมากพอ และอาจมีผลต่อความเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติยังขาดทั้งในด้านกฎหมายและกลไก รวมถึงการสร้างโครงสร้างขั้นพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ในกลุ่มประเทศ CLMV มีการละเมิดสิทธิมนุษย์ชน และยังพลกระทบที่มีลักษณะข้ามชาติด้วย
ส่วน ปัญหาด้าน “น้ำ” คุณรตยา จันทรเทียร ถือว่าเป็นปัญหาท้าทายอนาคตของประเทศ โดยชี้ให้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์น้ำ ในฐานะที่เป็นทุนหนึ่งของประเทศ ทีทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันรักษาอย่างยิ่งจังในการรักษา “ป่า” ให้คงอยู่ ช่วยกันฟื้นฟู รักษาต้นน้ำอย่างมีบูรณาการ เพราะไม่มีป่าไม่มีน้ำ ส่วนการแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า คุณรตยา ได้เสนอว่า การปฏิรูปที่ดินให้กระจายไปยังประชาชนให้กว้างขวางจะช่วยลดการเข้ามาบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อการเพาะปลูก ทั้งการใช้พื้นที่ป่าเป็นแหล่งเก็บน้ำเป็นการรักษาป่าไปด้วย และการสร้างค่านิยมโลกทัศน์ให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติ ถือว่าเป็นแนวทางที่ยั่งยืน เพราะ”มนุษย์เราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรักษาธรรมชาติเพื่อให้ธรรมชาติรักษาเรา” คุณรตยา ทิ้งท้าย
ด้านตัวแทนของภาคธุรกิจ คุณพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ได้พูดถึงความท้าทายของภาคธุรกิจในการแข่งขันที่มีความเข้มข้น นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับกับกฎเกณฑ์ระเบียบต่าง และบริบทโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน แต่ในขณะที่รัฐยังมีการจัดการที่แยกส่วน ขาดการเชื่อมโยง จะเป็นปัญหาที่ทำให้ไทยก้าวไม่ทันโลก เมื่อย้อนกลับมีดูการจัดการเกี่ยวกับอาเซียนที่มีสามเสาหลัก ในสังคมไทยกลับมีความตื่นตัวเฉพาะเสาเศรษฐกิจ แต่ในลักษณะที่อีกสองเสาที่เหลือก็มีผลต่อภาคธุรกิจเช่นกัน ดังนั้นถึงเวลาที่รัฐไทยต้องเปลี่ยนโครงสร้าง ให้มีความเชื่อมโยงเป็นองค์รวม หากไม่มีการปรับไทยจะเสียโอกาส
ส่วน นักวิชาการอิสระและสื่อสารมวลชนอิสระ คุณกวี จงกิจถาวร ได้กล่าวถึงสังคมไทยแม้ว่าจะเผชิญกับอุปสรรคใดๆก็ตาม ความสามารถของสังคมไทยยังมีจุดแข็งอยู่ที่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี และการอยู่ในบริบทแห่งยุคโลกาภิวัตน์ที่ไม่มีการแบ่งตะวันออก-ตะวันตกเหมือนยุคสงครามเย็น ทั้งการที่จีนก้าวขึ้นสู่ความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกก็จะทำให้ค่านิยมของเอเชียจะเป็นค่านิยมสากลตามที่อำนาจทางเศรษฐกิจของจีนจะแผ่ไปจะเป็นทางรอดของเอเชีย เช่นเดียวกับไทยที่ต้องอยู่ในพลวัตของความเปลี่ยนแปลงนั้น การเป็น Hub ของอาเซียนและเป็นศูนย์กลางของอาเซียนให้ได้จึงเป็นทางรอดบนความท้าทายของไทย