ในวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา ศูนย์อาเซียนศึกษา สถาบันวิชาป้องกันประเทศได้จัดประชุมสัมมานาทางวิชาการ เรื่อง “ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขเพื่อสร้างความมั่นคงด้านแรงงานในประเทศไทย” เพื่อเป็นการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านแรงงานต่อความมั่นคงในปัจจุบัน โดยมีวิทยากรในการบรรยาย ดังนี้ 1. ดร.ปรีชา ศิริแสงอารำพี ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร 2. คุณปรีดา ทองชุมนุม ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) 3. ผศ.ดร.โสภณ เจริญ ผู้ช่วยคณบดีผ่ายวิชาการและผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม 4. คุณรัตนา พละชัย แรงงานจังหวัดสมุทรสาคร
เริ่มต้นที่ ดร.ปรีชา ศิริแสงอารำพี ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร ได้เปิดประเด็นเรื่องการจัดระเบียบแรงงานของไทยยังไม่มีประสิทธิภาพในด้านที่อยู่อาศัย เพราะแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยยังไม่มีการจัดเขตพื้นแยกส่วนจากชุมชนของคนท้องถิ่น ต่างจากประเทศสิงคโปร์ที่มีการจัดระเบียบที่พักอาศัยของแรงงานข้ามชาติทำให้สังคมมีระเบียบ พร้อมชี้ให้เห็นว่าทางราชการต้องรักษากฎหมายอย่างเคร่งครัดให้มีสภาพบังคับ ควบคู่ไปกับการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจในการแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติที่เข้ามายังประเทศไทย การขึ้นทะเบียนแรงงานควรจัดทำเอกสารให้ถูกต้องตั้งแต่บริเวณชายแดน และการสำรวจตัวเลขแรงงานอย่างสม่ำเสมอ เพราะในปัจจุบันปรากฏว่ามีแรงงานข้ามชาติเดินทางต่อไปยังประเทศอื่นๆ ขณะเดียวกัน ด้านกฎหมายสวัสดิการคุ้มครองแรงงานต้องให้ความเสมอภาคกับแรงงานข้ามชาติเฉกเช่นเดียวกับแรงงานไทย ทั้งนี้หากมีระบบการจัดการที่ชัดเจนจะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับประเทศไทยและอาเซียนได้ในภาพร่วม ดร.ปรีชา ศิริแสงอารำพี กล่าวทิ้งท้าย
ในมิติทางด้านสิทธิมนุษยชน คุณปรีดา ทองชุมนุม ผู้เชียวชาญด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายประชากรข้ามชาติ (MWG) ได้กล่าวถึงภาพร่วมการย้ายถิ่นของประชากรโลกในปัจจุบัน ที่พบว่าชาวเอเชียเป็นกลุ่มประชากรย้ายถิ่นมากที่สุดของโลก ส่วนสาเหตุการย้ายในอาเซียนเป็นเพราะความแตกต่างในระดับการพัฒนาของประเทศทำแรงงานจากประเทศที่เศรษฐกิจด้อยกว่า เข้ามาหาโอกาสที่ดีกว่าในประเทศที่มีเศรษฐกิจดีกว่า และสาเหตุจากการเมืองความมั่นคงภายในประเทศนั้นก็ยังเป็นตัวเร่งให้เกิดการย้ายถิ่นฐาน แม้ว่าประชาคมอาเซียนจะมีมาตรการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติตาม ตราสารว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ แต่ยังขาดการเผยแพร่สู่สาธารณชนในวงกว้าง ซึ่ง ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศปลายทางของแรงงานข้ามชาติในอาเซียน กำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ทำให้มีความต้องการแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านสูงมากขึ้น แต่ในขณะที่การคุ้มครองแรงงานไร้ฝีมือยังขาดมาตรการ และการส่งเสริมในประชาชนไทยเรียนที่จะอยู่ร่วมในความหลากหลายก็เป็นสิ่งที่ท้าทายการเรียนรู้ของสังคมในระยะใกล้นี้
ทาง ผศ.ดร.โสภน เจริญ ผู้ช่วยคณบดีผ่ายวิชาการและผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้ให้ความเห็นต่อสถานการณ์ด้านแรงงานในมิติความมั่นคงไทย ที่เป็นปัญหาเร่งด่วนคือการที่สหรัฐอเมริกาจัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มของประเทศที่ไม่มีมาตรการป้องการละเมิดสิทธิมนุษยชนแรงงาน หรือกลุ่มประเทศ Tier 3 ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และการที่ไทยได้รับใบเหลืองในกรณีอุตสาหกรรมประมง ผศ.ดร.โสภณ ชี้ว่า การบังคับใช้กฎหมายเป็นสิ่งจำเป็นในการแก้ปัญหาด้านแรงงาน สถานการณ์ทางการเมืองของไทยปัจจุบันทำให้การบังคับใช้กฎหมายในการแก้ไขปัญหาเป็นไปได้ พร้อมกันนี้นโยบายด้านแรงงานของไทยที่ขาดความต่อเนื่อง ขาดเป้าหมายและไร้ทิศทาง ต่างจากประเทศสิงคโปร์ที่มีความต่อเนื่องนโยบายทำให้มีทิศทางที่ชัดเจนในระยะยาว ดังนั้นการมีวิสัยทัศน์ต้องก้าวไกล ต้องวางเป้าหมายของประเทศไทย สู่แผนยุทธศาสตร์เชิงรุก ในการจัดการปัญหาที่ต้องเผชิญกับบริบทปัจจุบัน
ส่วน คุณรัตนา พละชัย แรงงงานจังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับแรงงานในพื้นที่ ได้ให้ข้อมูลของจังหวัดสมุทรสาครที่มีจำนวนแรงงานข้ามชาติ 4 แสนคน และในจังหวัดมีโรงงานกว่า 5 พันแห่ง โดยโรงงานส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน จึงต้องการแรงงานสูง รวมทั้งการประมง ทำให้เป็นที่ดึงดูดของแรงงานข้ามชาติเข้ามายังจังหวัดสมุทรสาคร ประกอบกับนโยบายแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เป็นสาเหตุปัจจัยที่ทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบการผลิตอุตสาหกรรมมากกว่าจะดึงดูดแรงงานไทย