home

เวียดนามกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย

ตุลาคม 16, 2015
เวียดนามกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย

เวียดนามกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย*
โดย สรพงษ์ ลัดสวน
ผู้ช่วยผู้ประสานงานโครงการ “จับตาอาเซียน”

หลายประเทศในเอเชียแสดงความสนใจที่จะเพิ่มความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ กับยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางเพื่อบุกเบิกตลาดใหม่แทนที่ตลาดเดิม ที่เติบโตช้าและเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวมากขึ้น โดยเฉพาะเวียดนาม ที่สามารถเปิดตลาดการค้ากับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย โดยเป็นชาติอาเซียนหนึ่งเดียวที่ลงนามจัดตั้งเขตการค้าเสรีไปเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 หลังจากเริ่มเจรจากันไป 8 รอบ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2556 ซึ่งในขณะนั้น สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย ยังมีสถานะเป็นเพียงสหภาพศุลกากร

สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Union-EEU) ก่อตั้งในปี 2543 ใช้เวลาเพียง 15 ปี ในการพัฒนาเป็นสหภาพศุลกากรในปี 2553 และในเดือนพฤษภาคม 2557 ได้จัดตั้งเป็นสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย ด้วยการลงนามของสมาชิก 3 ประเทศ ในขณะนั้นได้แก่ รัสเซีย คาซัคสถาน และเบลารุส โดยมีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มกราคมปีนี้ เพื่อเป็นตัวเลือกสำหรับประเทศในยุโรป ที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มเศรษฐกิจใด อีกทั้งยังต้องการคานอำนาจเศรษฐกิจกับสหภาพยุโรปและสหรัฐ อย่างไรก็ตาม มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชียจะเป็นการสร้างสหภาพโซเวียตขึ้นมาอีกครั้ง ในฐานะนโยบายขยายอำนาจของ นายวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียที่เป็นประเทศชี้นำ

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงเขตการค้าเสรีเวียดนาม-สหภาพยูเรเชียนี้ ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของเวียดนามในการเปิดตลาด เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนกับประเทศในสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกรวม 5 ชาติ ได้แก่ รัสเซีย คาซัคสถาน เบลารุส อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน มีประชากรรวมกันกว่า 175 ล้านคน มีขนาดเศรษฐกิจหรือ GDP รวม 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือได้ว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ข้อตกลงนี้ยกเว้นหรือลดภาษีศุลกากรระหว่างกันลงกว่าร้อยละ 90 ของสินค้าที่ซื้อขายกัน โดยเฉพาะสินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนาม ที่ได้รับเงื่อนไขปลอดภาษีศุลกากร เช่น ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ สินค้าเกษตร ส่วนสินค้าสิ่งทอจะมีการยกเว้นภาษีศุลกากรร้อยละ 80 ทั้งนี้ เวียดนามต้องการใช้ข้อตกลงนี้ขยายความความร่วมมือและความช่วยเหลือจากกลุ่มประเทศยูเรเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัสเซีย เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในกลุ่มพลังงาน การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่ง เป็นต้น คาดกันว่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าระหว่างสองฝ่ายจะเพิ่มขึ้นจาก 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2557 ไปที่อย่างน้อย 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2563

หากพิจารณายุทธศาสตร์เศรษฐกิจของเวียดนามแล้ว จะเห็นได้ว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ภายใต้นโยบายโด๋ยเหม่ย (Doi Moi) ตั้งแต่ปี 2529 เวียดนามได้เน้นยุทธศาสตร์การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจของภูมิภาคและโลก ในรูปแบบของการทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจการค้า หรือข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ทั้งในและนอกเอเชีย เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและส่งออก รวมถึงสร้างโอกาสผลักดันการค้า การบริการ และการลงทุน ตลอดจนเพิ่มความหลากหลายของตลาดนำเข้าและส่งออก

นอกจากนี้ เวียดนามยังขยายความสัมพันธ์แบบทวิภาคี ทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านความมั่นคง กับประเทศในเอเชียกลางและยุโรปตะวันออก โดยในช่วงที่นายกรัฐมนตรีเวียดนามเดินทางไปลงนามข้อตกลงดังกล่าว ยังได้เดินทางเยือนบัลแกเรียด้วย ซึ่งระหว่างนั้น ผู้นำทั้งสองชาติได้เห็นพ้องกันในมาตรการ และแนวทางปฏิบัติ “รูปแบบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจใหม่” เพื่อยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ขณะที่ความร่วมมือกับเบลารุส ได้ขยายไปสู่มิติความมั่นคง ด้วยการลงนาม “กติกาความร่วมมือด้านเทคนิคทางทหาร” (Technical-military Co-operation Pact) เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านกลาโหมระหว่างกัน และผู้นำของสองประเทศนี้ หวังว่าจะสามารถยกระดับสู่หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ในอนาคต

ในส่วนของสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย ซึ่งนำโดยรัสเซียนั้น สามารถใช้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับเวียดนามนี้ เป็นเครื่องมือกรุยทางเพื่อขยายบทบาททางเศรษฐกิจกับภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอาเซียน โดยอาศัยเวียดนามเป็นประตูสู่อาเซียนและเอเชีย โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น ระหว่างรัสเซียกับเวียดนาม ในฐานะที่เคยสังกัดขั้วอุดมการณ์เดียวกันในยุคสงครามเย็น นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้ขานรับยุทธศาสตร์การมุ่งสู่เอเชียแปซิฟิก ของสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย โดยได้กล่าวในระหว่างการลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรีไว้ตอนหนึ่งว่า “เวียดนามจะพยายามอย่างที่สุด เพื่อให้สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชียขยายความร่วมมือกับประชาคมอาเซียน”

น่าจับตาต่อไปว่า เวียดนามจะสามารถใช้ประโยชน์ได้เพียงใด จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีฉบับนี้ และจากสายสัมพันธ์กับประเทศเหล่านี้ตั้งแต่ครั้งอดีต ทั้งนี้ กระบวนการบูรณาการเศรษฐกิจนอกภูมิภาคของเวียดนาม ยังต้องอาศัยเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะการปฏิรูปกฎเกณฑ์และสถาบันต่างๆ รวมถึงดัชนีตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่ยังขาดความโปร่งใส ขณะที่เสถียรภาพของสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชียก็ยังน่ากังกล อันเนื่องมาจากการมีบทบาทนำและการพึ่งพาของรัสเซียมากจนเกินไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อของสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชียในที่สุด โดยเฉพาะความถดถอยทางเศรษฐกิจของรัสเซียจากการถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกภายหลังวิกฤติในยูเครน

*บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 15 ตุลาคม 2558

 

Leave A Response

คลังข้อมูล

พบกับเราที่ Facebook

Tweets ล่าสุด

No tweets found.

แผนที่อาเซียน