เมื่อวันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม 2558 ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดงานเสวนาวิชาการพลวัตทางการเมืองในอุษาคเนย์ ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “สืบทอดอำนาจ?: การเมืองเรื่องการเลือกตั้งในสิงคโปร์และการประท้วงในมาเลเซีย” เพื่อนำเสนอแนวโน้มทางการเมืองของมาเลเซียและสิงคโปร์หลังการประท้วงในมาเลเซียและการเลือกตั้งในสิงคโปร์ในเชิงเปรียบเทียบ
งานเสวนาครั้งนี้มีวิทยากร 4 ท่าน ได้แก่ คุณไมเคิล ชิก ผู้ดำเนินรายการ Asia Connect ไทยทีวีสีช่อง 3 ดร.เจมส์ โกเมซ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คุณฮิวจ์ แบรมเมอร์ จากไทยทีวีสีช่อง 3 และ อ.ชัยวัฒน์ มีสันฐาน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คุณไมเคิล ชิก ได้กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์ทางการเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยชี้ให้เห็นว่าการทำความเข้าใจเพื่อนบ้านเป็นปัจจัยสำคัญในการทำความเข้าใจสถานการณ์การเมืองทั้งภายในประเทศไทยและในประเทศใกล้เคียงด้วย เขาเห็นว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐบาลแต่ละประเทศมีลักษณะแตกต่างกันก็จริง แต่ความคล้ายคลึงกันคือรัฐบาลหลายประเทศกำลังประสบปัญหาด้านความชอบธรรมและการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ในมาเลเซีย เขาเห็นว่าปัญหาใหญ่ตลอดช่วงที่ผ่านมาคือปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใสของฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะพรรครัฐบาล และการแบ่งแยกด้านเชื้อชาติที่ยังคงเข้มข้นอยู่จนถึงปัจจุบัน ด้านหนึ่ง ปัญหาด้านการทุจริตการเลือกตั้งในช่วงสองสามปีหลัง ตามด้วยข่าวการยักยอกเงินจากกองทุน 1MDB ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค เสียหายมาก แม้เขาพยายามยืนยันในความชอบธรรมของตน แต่กระแสวิจารณ์และต่อต้านเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกรณีของคดีกองทุน 1MDB ที่กำลังถูกสอบสวนโดยองค์กรสำคัญๆ ของโลกหลายแห่ง อาทิ FBI และ Scotland Yard ในอนาคตอันใกล้ ตำแหน่งของนายนาจิบอาจสั่นคลอนกว่าเดิม แต่ก็ไม่ได้แปลว่าพรรคร่วมรัฐบาล Barisan National ที่มีไพ่ตายอยุ่ในมือ คือนโยบายด้านเชื้อชาติที่ให้อภิสิทธิ์พิเศษกับชาวมาเลเซียเชื้อสายมาเลย์ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ จะถูกโค่นล้มลงได้ง่ายๆ
ด้าน ดร.เจมส์ โกเมซ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้งสิงคโปร์ เขาเห็นว่าการวิเคราะห์การเมืองของสิงคโปร์จำเป็นต้องใส่ใจกับมิติด้านประชากรและผู้อพยพ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญต่อการเมืองของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีขีดจำกัดในแง่ทรัพยากรและกำลังคน เขาตั้งข้อสังเกตว่า แม้สิงคโปร์เป็นประเทศของผู้อพยพ แต่รัฐบาลสิงคโปร์ก็มีนโยบายเลือกปฏิบัติด้านเชื้อชาติที่คล้ายคลึงกับมาเลเซีย นับตั้งแต่ผู้สมัครพรรคฝ่ายค้านเริ่มชนะการเลือกตั้งในช่วงต้นทศวรรษ 1980 รัฐบาลได้เริ่มดำเนินนโยบาย Ethnic Integration policy และให้ความสำคัญกับการจัดประเภทพลเมืองฝ่ายเชื้อชาติมากขึ้น โดยมีพลเมืองเชื้อชาติจีนเป็นพลเมืองชั้นหนึ่งและมีบทบาททางการเมืองและเศรษฐกิจมากเป็นพิเศษ เขาเห็นว่าผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่า แม้รัฐบาลที่ครองอำนาจมายาวนานต้องเผชิญกับเสียงวิจารณ์มากขึ้นในช่วงหลัง โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องสิทธิและเสรีภาพ แต่หากประชากรเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ยังคงไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงในระดับนำในสิงคโปร์ก็ยังเกิดขึ้นได้ยาก
คุณฮิวจ์ แบรมเมอร์ได้ย้ำประเด็นของวิทยากรทั้งสองท่าน พร้อมเสนอว่าการเมืองในเอเชียในภาพรวมกำลังเผชิญกับกระแสคลื่นสองกระแส คือ อินเตอร์เน็ต และ อำนาจของผู้ซื้อนอกภูมิภาค เขาเห็นว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงสองสามทศวรรษหลังเป็นผลจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจที่ทำให้ไม่มีชาติใดสามารถเพิกเฉยต่อแรงกดดันของประชาคมโลกได้อย่างสิ้นเชิงเหมือนในอดีต
ปัจจุบันเครือข่ายอินเตอร์เน็ตทำให้รัฐบาลในเอเชียที่มีแนวโน้มเป็นรัฐบาลอำนาจนิยมต้องเผชิญกับทางเลือกว่าจะปิดกั้นอินเตอร์เน็ต ซึ่งส่งผลเสียทางเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศ หรือปล่อยให้ประชาชนใช้อินเตอร์เน็ตอย่างเสรี ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องรับมือการแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงเครือข่ายของการตรวจสอบรัฐบาลในระดับประชาชน ขณะที่ผู้บริโภคจากภายนอกยังเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการเมืองในบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่บางอย่างไปยังนอกภูมิภาค ตัวอย่างเช่นในกรณีที่สหภาพยุโรปกดดันไม่ซื้อสินค้าประมงจากไทย ซึ่งเป็นแหล่งส่งออกสินค้าประมงรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เขาเห็นว่า อนาคตของการเมืองในเอเชียเป็นสิ่งคาดการณ์ไม่ได้ รัฐบาลแต่ละประเทศกำลังเผชิฐกับทางแยกว่าจะปรับตัวอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้
สุดท้าย อ.ชัยวัฒน์ มีสันฐาน ได้ฉายภาพให้เห็นกระแสการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในมาเลเซีย ตั้งแต่การประท้วง Bersih 1.0 จนถึง Bersih 4.0 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา อ.ชัยวัฒน์ได้ไล่เรียงให้เห็นบริบท เหตุผล รวมถึงข้อเสนอของกลุ่มผู้ประท้วง โดยหลักๆ แล้ว เป็นเรื่องของการปฏิรูปการเมืองและการเลือกตั้งของมาเลเซียให้มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น เขาให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการประท้วงครั้งล่าสุด ซึ่งนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้นำคนสำคัญของประเทศได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นายนาจิบ ราซัค อย่างต่อเนื่อง พร้อมเข้าร่วมการประท้วงครั้งนี้ด้วย อ.ชัยวัฒน์ตั้งข้อสังเกตว่า การเข้าร่วมการประท้วงของนายมหาเธร์อาจไม่ได้หมายความว่าเขาเห็นใจหรือเปลี่ยนจุดยืนมาสนับสนุนพรรคฝ่ายค้าน แต่อาจเป็นความพยายามรักษาฐานเสียงของตนในพรรคร่วมรัฐบาลมากกว่า เนื่องจากสมาชิกพรรคหลายคนก็เข้าร่วมการประท้วงนายนาจิบเช่นกัน
ประเด็นที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ พรรคฝ่ายค้านประกาศสนับสนุนและเข้าร่วมประท้วงกับกลุ่ม Bersih น้อยลงเรื่อยๆ สาเหตุหนึ่งเนื่องมาจากความขัดแย้งกันเองภายในพรรคร่วมฝ่ายค้าน หลังต้องสูญเสียผู้นำคนสำคัญไปเมื่อไม่นานนี้ ในระยะยาว จึงต้องจับตาดูบทบาทของพรรคร่วมฝ่ายค้านเหล่านี้ว่าจะเลือกยืนฝ่ายใด จะสนับสนุนการประท้วงของประชาชน หรือหันไปประนีประนอมกับฝ่ายรัฐบาล