อองซาน ซูจี: พรรคเอ็นแอลดีกวาดเกือบทุกที่นั่งในสภา
นางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า พรรคเอ็นแอลดีกวาดเสียงข้างมากในการเลือกตั้งครั้งนี้ และผลเบื้องต้นจากการนับคะแนนก็เป็นไปตามคาด แต่สำหรับผลอย่างเป็นทางการนั้นคาดว่าจะใช้เวลาอีกหลายวันกว่าจะมีการประกาศออกมา
อองซานซูจีบอกว่า แม้การเลือกตั้งจะไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมเต็มที่ แต่ก็ถือได้ว่าเสรีพอสมควร บางพื้นที่มีปัญหาการข่มขู่กันบ้าง เธอได้แสดงความยินดีกับชาวเมียนมาด้วยการเลือกตั้งนี้ซึ่งถือว่าเป็นไปนี้ถืการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในรอบ 25 ปี ของประเทศเมียนมา
เฟอร์กอล คีน นักข่าวบีบีซีที่เป็นผู้สัมภาษณ์หัวหน้าพรรคเอ็นแอลดีระบุว่า อ่องซานซูจีดูเต็มไปด้วยความเชื่อมั่นในตัวเอง เหมือนคนที่รู้ตัวว่า ห้วงเวลาอันสำคัญของเธอได้มาถึงแล้ว และเมื่อพูดถึงประเด็นที่เห็นกันว่าเป็นอุปสรรค คือการที่เธอไม่อาจจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้เพราะรัฐธรรมนูญห้ามไว้นั้น อ่องซานซูจีบอกอีกครั้งว่า เธอจะเป็นคนทำหน้าที่ตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆในขณะที่เพื่อนร่วมพรรคเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง “เหมือนเราเรียกกุหลาบในชื่ออื่นนั่นแหละ” เธอพูดติดตลก
พร้อมกันนี้ นายคีนได้ สรุปว่า อ่องซานซูจีได้แปรเปลี่ยนไปจากการเป็นสัญญลักษณ์ของการต่อสู้ ไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่เปราะบาง และเวลานี้เธอกลายมาเป็นผู้นำที่ดูแข็งแกร่งของว่าที่รัฐบาลในอนาคตอันใกล้ของเมียนมา
ออง ซาน ซูจี ปราศรัยชานเมืองย่างกุ้ง-โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งพม่า 8 พ.ย.
พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) พรรคฝ่ายค้านพม่านำโดยออง ซาน ซูจี ได้จัดปราศรัยใหญ่โดยมีผู้สนับสนุนหลายหมื่นคนร่วมฟังการปราศรัย นับเป็นการปราศรัยใหญ่ครั้งแรกในเขตตัวเมืองของนครย่างกุ้ง ณ สนามใกล้กับเจดีย์ธุวันนะ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ พรรคเอ็นแอลดีขอใข้สวนสาธารณะประชาชน (People’s Park) ที่ตั้งอยู่บนถนนแปรด้านด้านทิศตะวันตกของพระมหาเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งเมื่อ 27 ปีที่แล้ว ออง ซาน ซูจี ได้ใช้เป็นสถานที่ปราศรัยอย่างเป็นทางการครั้งแรกต่อฝูงชนกว่าห้าแสนคน เรียกร้องให้รัฐบาลทหารในขณะนั้นเริ่มการปฏิรูป แต่ทางรัฐบาลภาคย่างกุ้งไม่อนุญาตให้สถานที่โดยอ้างว่าจะทำให้การจราจรติดขัด
สำหรับการเลือกตั้ง 8 พฤศจิกายน 2558 ที่จะถึงนี้ เป็นการเลือกตั้งจัดโดยรัฐบาลพลเรือน ครั้งแรกในรอบ 55 ปี และมีการเลือกตั้ง 3 ระดับ คือ เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนประชาชน (Pyithu Hluttaw) หรือ ส.ส. สมาชิกสภาชนชาติ หรือ วุฒิสภา (Amyotha Hluttaw) และสภาระดับรัฐและภาคของพม่า ซึ่งเป็นสภาระดับท้องถิ่น 14 สภา การเลือกสภาผู้แทนประชาชน หรือ ส.ส. นั้นจะมีการเลือกตั้ง 323 ที่นั่ง จากทั้งหมด 440 ที่นั่ง โดย 110 ที่นั่งที่เหลือเป็นโควตาแต่งตั้งจากผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพ ส่วนที่เหลืออีก 7 ที่นั่ง กกต. ประกาศไม่จัดการเลือกตั้งเนื่องจากไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยจากการสู้รบระหว่างกองทัพเมียนกับกองทัพรัฐฉานเหนือ (SSPP/SSA-N)
ส่วน การเลือกตั้งสมาชิกสภาชนชาติ หรือ วุฒิสภา จำนวน 168 ที่นั่ง จากทั้งหมด 224 ที่นั่ง โดย 168 ที่นั่งมาจากรัฐและภาคในพม่า รัฐละ 12 ที่นั่ง อีก 56 ที่นั่ง เป็นโควตาแต่งตั้งจากผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพ
โดยสมาชิกทั้ง 2 สภาคือสภาผู้แทนประชาชน และสภาชนชาติ จะเป็นผู้ลงมติเลือกผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมียนมา โดยในรัฐธรรมนูญปี ค.ศ. 2008 ของเมียนมาเปิดช่องให้การเสนอชื่อประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีเป็น “คนนอก” ก็ได้ โดยในมาตรา 60 (c) ระบุว่า ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี มาจากการเลือกของคณะผู้เลือกตั้งซึ่งจะเลือกจากผู้ที่เป็นสมาชิกรัฐสภา หรือไม่ได้เป็นสมาชิกรัฐสภาก็ได้
แหล่งที่มา: prachatai.com