อกหักจากอาเซียน
โดย ผศ.ดร. กิตติ ประเสริฐสุข*
ผู้ประสานงานโครงการ “จับตาอาเซียน”
ประชาคมอาเซียนที่ว่ากันว่า จะเปิดขึ้นในวันที่ 31 ธ.ค. 2558 นี้ ก่อให้เกิดความตื่นเต้นในสังคมไทยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะความคาดหวังจากความเสรีในการนำเข้าส่งออกสินค้า การลงทุนและการเคลื่อนย้ายแรงงาน ดังนั้น หลายภาคส่วนจึงประโคมข่าว จัดกิจกรรมที่คิดว่าเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อาทิ จัดสัมมนาที่ใช้ชื่อเกี่ยวกับอาเซียนบ่อยครั้ง (แม้เนื้อหาอาจไม่เกี่ยวนัก) มีการประดับธงชาติอาเซียนตามสถานศึกษาและหน่วยราชการต่างๆ มีการปรับหลักสูตรใส่เนื้อหาอาเซียนในการศึกษาแทบทุกระดับ มีการฝึกพูดคำทักทายในภาษาชาติอาเซียน ท่องจำดอกไม้ประจำชาติ เรียกว่า “กระแสอาเซียน” มาแรงมาก
การที่สังคมไทย “ออกตัวแรง” กับประชาคมอาเซียนนี้ เมื่อเข้าสู่ปีหน้า น่าจะสร้างความผิดหวัง อกหัก ในหมู่คนไทยที่มีความคาดหวังต่ออาเซียนมาก เพราะเอาเข้าจริง ในปีหน้าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากอย่างที่คาดหวัง ทั้งนี้เป็นเพราะสังคมไทยมีสมมุติฐานความเข้าใจของต่อประชาคมอาเซียนคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปหลายประการ
ประการแรก ชาวไทยจำนวนมากเข้าใจว่า เมื่อเปิดประชาคมอาเซียนจะมีการเปิดชายแดนให้มีการเดินทางไปมาหาสู่กันโดยเสรี ประหนึ่งเหมือนสหภาพยุโรป (EU) ที่เดินทางข้ามประเทศกันได้ โดยไม่ต้องผ่านด่านตรวจพาสปอร์ตและวีซ่า หรือหากไม่ถึงขนาดนั้น ก็เชื่อว่าจะมีความเสรีมากในการเดินทางข้ามประเทศในอาเซียน ดังนั้น จึงมักพูดกันเสมอว่า เมื่อเปิดประชาคมอาเซียนแล้ว แรงงานจากชาติเพื่อนบ้าน อย่าง พม่า ลาว กัมพูชา จะทะลักเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก
แต่ในความเป็นจริง หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ แรงงานเพื่อนบ้านอาเซียนได้เข้ามาทำงานในไทยราว 30 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ประเทศเหล่านี้ยังไม่ได้เป็นสมาชิกอาเซียนด้วยซ้ำ ทั้งนี้ก็เพราะการขาดแคลนแรงงานที่คนไทยไม่ประสงค์ทำ เช่น ประมง ก่อสร้าง แม่บ้าน และบางอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานหนาแน่น ในขณะที่แรงงานเพื่อนบ้านก็ประสงค์มาทำงานที่รายได้สูงกว่าที่ประเทศของเขา อันเป็นไปตามหลักอุปสงค์-อุปทานของกลไกตลาด แม้ว่า แรงงานส่วนใหญ่จะเข้ามาอย่างผิดกฎหมายก็ตาม กล่าวให้ถึงที่สุด ไม่ว่าจะมีประชาคมอาเซียนหรือไม่ แรงงานเพื่อนบ้านก็มาทำงานในไทยอยู่ดี
ทั้งนี้ อาเซียนไม่เคยตกลงกันว่าจะให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะต่ำโดยเสรีแต่อย่างใด อีกทั้งในปัจจุบัน ไทยมีแรงงานต่างชาติเหล่านี้ที่จดทะเบียนราว 2.5 ล้านคน รวมกับที่ไม่ได้จดทะเบียน น่าจะรวมแล้วเกิน 3 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากอยู่แล้ว จึงยังไม่มีแนวโน้มว่าจะมีแรงงานเข้ามาเพิ่มเติมมากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีอัตราการเจริญเติบโตไม่สูงด้วย
ประการที่สอง ชาวไทยจำนวนมากเข้าใจว่า ประชาคมอาเซียนจะมีความเสรีมากในลักษณะใกล้เคียงกับ EU แต่ในความเป็นจริง อาเซียนยังมีข้อจำกัดมากมาย เริ่มจากด้านสินค้ายังมีสินค้าอ่อนไหวหลายรายการที่ภาษียังไม่เป็นศูนย์ และมีมาตรการกีดกันอื่นๆ เช่น มาตรฐานสินค้าและสุขอนามัย ที่สำคัญ AFTA หรือเขตการค้าเสรีอาเซียนได้เสร็จสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ต้นปี 2553 ในหมู่ 6 ชาติสมาชิกอาเซียนเดิม คือ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และบรูไน ซึ่งก็ยังไม่ปรากฏว่ามีสินค้าจากชาติอาเซียนทะลักเข้าไทยมากนัก กลับเป็นสินค้าจีนเสียอีกที่เข้ามามาก
ด้านแรงงาน อาเซียนได้ตกลงกันเพียงให้มี “การอำนวยความสะดวก” ในการเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะสูง 8 อาชีพ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก ช่างสำรวจ นักบัญชี และอาชีพที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ซึ่งยังไม่ใช่การเปิดเสรี เพราะยังต้องไปสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพที่ประเทศที่ประสงค์จะไปทำงานทั้งข้อเขียนและสัมภาษณ์ในภาษาของเขา ทำให้เป็นไปได้ยากที่จะมีการเคลื่อนย้าย นอกจากนั้น ยังจะมีอุปสรรคโดยธรรมชาติในเรื่องของภาษาในการสื่อสาร เช่น ระหว่างแพทย์กับคนไข้ ซึ่งก็จะทำให้นักวิชาชีพจากชาติอาเซียนอื่นเข้ามาทำงานในไทยได้ยากเช่นกัน
การเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะสูงที่จะเป็นไปได้ จะเป็นการเคลื่อนย้ายที่ไปพร้อมกับการลงทุนของธุรกิจไทยมากกว่า เช่น ในกิจการก่อสร้าง โรงแรม โรงพยาบาลหรือคลินิคในประเทศอาเซียน ที่มักจะนำนักวิชาชีพไทยไปทำงานด้วย
ด้านการลงทุน อาเซียนตกลงกันให้ธุรกิจจากชาติอาเซียนสามารถลงทุนในชาติอาเซียนอื่นได้ แม้แต่ในภาคบริการ โดยสามารถถือหุ้นได้สูง 70% ซึ่งยังไม่ถึง 100% อีกทั้งบางชาติสมาชิกยังไม่ได้แก้กฎหมายภายในที่จะอนุญาตดังกล่าว เท่าที่ผ่านมา จึงมักมีการใช้นอมินีคนชาติที่จะไปลงทุนเป็นผู้ถือหุ้นแทน ซึ่งเป็นเจ้าของทุนแต่เพียงในนาม
ทั้งนี้ ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เกิดจากความสับสนระหว่างอาเซียน “ตามข้อตกลงของรัฐ” กับอาเซียน “ตามกลไกตลาด” โดยมักจะเข้าใจกันว่า เมื่อเปิดประชาคมอาเซียนตามข้อตกลงของชาติอาเซียนในปลายปี 2558 แล้ว ความเสรีและธุรกรรมทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นอย่างอัตโนมัติ ซึ่งที่จริง เป็นเพียงเดดไลน์ที่กำหนดให้รัฐสมาชิกปรับแก้กฎข้อบังคับต่างๆ ให้เสร็จสิ้น และให้มีมาตรการอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งเป็นไปได้ว่า บางชาติอาจไม่สามารถดำเนินการบางอย่างได้ทัน หรือไม่สมบูรณ์ เช่น การแก้กฎหมายภายในเพื่ออนุญาตการลงทุน การอำนวยความสะดวกแบบ Single Window และก็ไม่ได้หมายความว่า แม้ดำเนินการได้แล้ว จะเกิดความเสรีหรือการเคลื่อนย้ายขึ้นมากจริง ทั้งนี้ เพราะจะขึ้นอยู่กับกลไกตลาดเป็นสำคัญ โดยข้อตกลงอาเซียนอาจช่วยอำนวยความสะดวกได้บ้างเท่านั้น
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ในปีหน้าหรือปีถัดๆ ไป จะแทบไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น จนคนไทยอาจเกิดความงุนงงระคนผิดหวังและอาจสงสัยว่า เราออกตัวเรื่องอาเซียนกันแรงเกินไปหรือเปล่า
*บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 23 ธันวาคม 2558