ต้นทุนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของลาว*
ธนาพงษ์ มงคลวรวรรณ
ผู้ช่วยผู้ประสานงานโครงการ “จับตาอาเซียน”
สปป.ลาวเป็นประเทศที่พยายามเร่งรัดยกระดับเศรษฐกิจ ด้วยแผนยุทธศาสตร์เพิ่มรายได้เข้าสู่ประเทศ เริ่มจากการเป็นแหล่งพลังงานของเอเชีย (Battery of Asia) ด้วยการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนต่างๆ นำรายได้เข้าสู่ประเทศคิดเป็นร้อยละ 17 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือร้อยละ 70 ของตัวเลขการส่งออกทั้งหมด
สปป.ลาวยังมียุทธศาสตร์ยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจด้วยการเปลี่ยนจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (Land Lock) ให้เป็นจุดเชื่อมต่อทางบก (Land Link) ในระดับภูมิภาค และการเปิดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ : Special Economic Zone) เพื่อเป็นตัวเร่งให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 7.5 ต่อปีระหว่างปี 2559-2563 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 8 ของลาว
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาดังกล่าวต้องแลกมาด้วยต้นทุนของประเทศในหลายๆ ด้าน การเปลี่ยนประเทศให้เป็นจุดเชื่อมโยงทางบกด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ลาวและจีนได้บรรลุข้อตกลงเมื่อเดือน ธ.ค. 2558 ก่อให้เกิดภาระทางการคลังที่ต้องกู้ยืมเงินทุนจากจีนในการก่อสร้างจำนวน 480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 17,000 ล้านบาท) โดยมีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ซึ่งมีเสียงวิจารณ์ว่าสูงเกินไปสำหรับการปล่อยกู้แก่ประเทศกำลังพัฒนาที่จีนเคยปล่อยกู้ในอัตราร้อยละ 2
ในการนี้ ลาวได้เตรียมแผนนำเงินรายได้จากเหมืองแร่โปแตช 5 แห่งไปชำระเงินให้จีน นอกจากนี้ การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงและต้องการแรงงานที่มีทักษะลาวต้องพึ่งพิงจีนในการก่อสร้างเกือบทั้งหมด อีกทั้งยังต้องนำเข้าแรงงานจีนนับแสนคน ย่อมส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมท้องถิ่นและการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชนลาวด้วย
เขตเศรษฐกิจพิเศษก็ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่รัฐบาลลาวได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ที่จะนำพาประเทศหลุดพ้นจากความยากจน ด้วยการสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรม และสร้างความทันสมัยด้วยการสร้างบรรยากาศที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้าไปลงทุนในลาว เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ และพัฒนาฝีมือแรงงานลาว
ปัจจุบัน มีเขตเศรษฐกิจพิเศษในลาว 11 เขต และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มเป็น 25 เขตภายในปี 2563 โดยมีจีนเข้ามาลงทุนมากที่สุดโดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ แขวงบ่อแก้ว ได้การลงทุนไปแล้ว 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 17,500 ล้านบาท) จากแผนการลงทุนรวมทั้งหมด 2,250 ล้านดอลลาร์ สหรัฐ (ราว 80,000 ล้านบาท) โดยเป็นการลงทุนจากภาคเอกชนของจีนทั้งหมด ส่งผลให้อิทธิพลของจีนต่อเศรษฐกิจลาวมีอยู่มาก ทั้งนี้เป็นความต้องการของจีนในขยายการลงทุนในภูมิภาคนี้ เพราะมีศักยภาพในการเติบโตอยู่มากสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเป็นจุดเชื่อมต่อทางบกทำให้ขยายตลาดไปได้ใน 6 ประเทศ คือ เมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน อีกด้วย
ทว่าการเปิดพื้นที่เขตเศรษฐกิจของลาวที่แลกมาด้วยการให้สิทธิในการเช่าใช้ที่ดินยาวนานถึง 99 ปีนั้น ดูเหมือนประชาชนลาวจะไม่ได้ประโยชน์มากนักในการสร้างงาน สร้างรายได้ ตลอดจนพัฒนาฝีมือแรงงานของลาว เพราะในหลายธุรกิจพบว่ามีการใช้แรงงานจีน และแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา มากกว่าแรงงานลาว อีกทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษยังทำให้ผู้ถือครองที่ดินชาวลาวนิยมที่แสวงหาค่าเช่าจากการขายกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ประกอบการต่างชาติ มากกว่าจะเป็นผู้ประกอบการเอง
นอกจากนี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษยังกลายสภาพเป็นเขตอิทธิพลทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมจีน อาทิ การใช้เงินหยวนในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ มีการสร้างสถาปัตยกรรมแบบจีน การใช้ภาษาจีนกลางและจีนท้องถิ่นอื่นๆ ตลอดทั้งมีการประกอบธุรกิจผิดกฎหมายในจีน อาทิ บ่อนคาสิโน ภัตตาคารที่มีสัตว์ป่าเป็นรายการอาหาร และการค้าประเวณี ซึ่งล้วนขัดต่อภาพลักษณ์ของประเทศลาวที่มีวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาอันเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ
การเติบโตของลาวที่สะท้อนผ่านตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม นับว่ามีต้นทุนสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประโยชน์ที่ประชาชนลาวจะได้รับ เพราะมีนำทรัพยากรทางธรรมชาติมาใช้อย่างมากในการเป็นแหล่งพลังงานของเอเชีย ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบนิเวศของลาวเองและประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ตลอดจนการสังเวยชีวิตพันธุ์สัตว์จนเสี่ยงกับภาวะใกล้สูญพันธ์เพื่อแลกกับความเจริญทางเศรษฐกิจ ส่วนการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อทางบก แม้จะช่วยให้เศรษฐกิจลาวเติบโตก็ตาม
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นตัวเร่งให้เกิดการครอบงำทางเศรษฐกิจจากต่างชาติโดยเฉพาะจีนที่ต้องการเป็นที่หนึ่งในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS : Greater Mekong Subregion) ผ่านการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จนลาวอาจสูญเสียอธิปไตยทางเศรษฐกิจ หากไม่มีการสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจควบคู่กับเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น การยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐาน และการส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการท้องถิ่น
*บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 21 มกราคม 2559
ภาพโดย Brent Lewin/Getty Images