อินโดนีเซียเตือนไลน์ให้ลบอีโมติคอนรูปคนรักเพศเดียวกัน
โฆษกกระทรวงข่าวสารและโทรคมนาคมออกโรงเตือนไลน์ (Line) แอพพลิเคชั่นชื่อดัง ให้ลบอีโมติคอนที่แสดงสัญลักษณ์ของคนรักเพศเดียวกัน พร้อมชี้ว่าสื่อสังคมออนไลน์ต้องเคารพวัฒนธรรมท้องถิ่นของประเทศที่มีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก
แถลงการณ์ของโฆษกกระทรวงข่าวสารและโทรคมนาคมอินโดนีเซียมีขึ้นหลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และข้อร้องเรียนจากผู้ใช้บริการไลน์ในประเทศอินโดนีเซีย ที่มองว่าอีโมติคอนดังกล่าวไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมของประเทศ ล่าสุด ไลน์เปิดเผยว่าได้ลบอีโมติคอนดังกล่าวออกจากการให้บริการในอินโดนีเซียแล้ว ขณะที่ทางการอินโดนีเซียเตรียมแจ้งเตือนในลักษณะเดียวกันกับผู้ให้บริการรายอื่น อาทิ WhatsApp
อย่างไรก็ตาม องค์กร Human Rights Watch ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ออกมาคุ้มครองสิทธิของคนรักเพศเดียวกันและควรประณามแถลงการณ์ของกระทรวงข่าวสารและโทรคมนาคมอย่างเป็นทางการอีกด้วย
แหล่งที่มา: thejakartapost.com
โครงการรถไฟความเร็วสูงอินโดนีเซียชะงัก หลังกระทรวงคมนาคมยังไม่ออกใบอนุญาตดำเนินการ
โครงการรถไฟความเร็วสูงของอินโดนีเซียที่ร่วมทุนกับจีนยังไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ หลังกระทรวงคมนาคมยังไม่ออกใบอนุญาตก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงจนกว่าจะมีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างรอบด้าน
อินโดนีเซียมีแผนการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงระยะทางรวม 142 กิโลเมตรจากกรุงจาการ์ตาไปถึงเมืองบันดุง ถึงแม้ว่าโครงการรถไฟนี้จะผ่านการพิจารณาจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมมาได้ในด้านการวางแผนเส้นทาง แต่ทางกระทรวงคมนาคมก็ยังไม่ออกใบอนุญาตธุรกิจและใบอนุญาตก่อสร้างให้กับบริษัทของทั้งจีนและอินโดนีเซียที่เป็นหุ้นส่วนโครงการร่วมกันทำให้บริษัทเหล่านี้ยังกระทำการก่อสร้างไม่ได้
เฮอร์มานโต เดวียตโมโก อธิบดีกรมกิจการรถไฟสังกัดกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่าหุ้นส่วนโครงการนี้ต้องปรับเปลี่ยนรายละเอียดการออกแบบและแผนการพัฒนาหลายอย่างก่อนถึงจะให้ใบอนุญาตทั้งสองใบและมีการออกสัญญาสัมปทานได้
เดวียตโมโกกล่าวว่าพวกเขาอยากให้รางรถไฟมีอายุการใช้งานนานถึง 100 ปี แต่ในการออกแบบปัจจุบันมีอายุการใช้งานเพียง 60 ปีเท่านั้น โดยที่อินโดนีเซียมีแผนการให้สัมปทานแก่บริษัทเป็นเวลา 50 ปีแล้วหลังจากนั้นกิจการรถไฟนี้ก็จะตกเป็นของรัฐบาลทำให้มีการประเมินว่าอายุการใช้งานที่มากกว่านี้จะส่งผลดีต่อรัฐมากกว่า
นอกจากนี้เดวียตโมโกยังกล่าวถึงความกังวลเรื่องระยะห่างระหว่างรางกับประสิทธิภาพของรถไฟ โดยจากจาการ์ตาถึงบันดุงมีการออกแบบเป็นรถไฟรางคู่ที่มีระยะห่างระหว่างราง 4.6 เมตร และต้องการให้สามารถวิ่งได้ด้วยความเร็ว 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่การที่จะให้รถไฟวิ่งได้ความเร็วเท่านี้ควรจะมีระยะห่างระหว่างรางอยู่ที่ 5 เมตร เนื่องจากระยะห่าง 4.6 เมตรทำให้วิ่งได้ด้วยความเร็ว 250 กม.ต่อชม.เท่านั้น เพราะระยะห่างที่ใกล้เกินไปทำให้มีความเป็นห่วงด้านความปลอดภัยว่าจะมีการชนกันได้
นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องความทนทานต่อแผ่นดินไหว ซึ่งในบางพื้นที่ของบันดุงมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวทำให้ต้องมีการพิจารณาเรื่องความแข็งแกร่งของโครงสร้างโดยอ้างอิงจากข้อมูลของหน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาและธรณีฟิสิกส์ของอินโดนีเซีย
แหล่งที่มา: prachathai.org