เรื่องโดย สรพงษ์ ลัดสวน
ไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสเดินทางเยือนบรูไนและรัฐซาบาห์ของมาเลเซียเป็นครั้งแรก โดยร่วมคณะเดินทางของฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ (ฝ่าย 1) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และโครงการ “จับตาอาเซียน” เพื่อไปศึกษาเรียนรู้การจัดการแรงงานข้ามชาติและการบริหารงานของธนาคารอิสลาม แม้ว่าจะเป็นการเดินทางแบบเป็นทางการสักหน่อย แต่สิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้เน้นเฉพาะเรื่องราวน่าสนใจและประสบการณ์อันตราตรึงระหว่างการเดินทางเกือบหนึ่งสัปดาห์
วันที่ 17 ตุลาคม 2558 พวกเราออกจากสนามบินสุวรรณภูมิในเที่ยวบินราว 2 ทุ่มครึ่ง ใช้เวลาบินนานเกือบ 3 ชั่วโมงก็มาถึงสนามบินนานาชาติบรูไน ในเวลาเกือบๆเที่ยงคืนแล้ว ตัวอาคารผู้โดยสารมีเพียงเที่ยวบินที่คณะเราโดยสารมาเท่านั้น ทำให้ดูผู้คนบางตา การรอรับกระเป๋าตลอดจนตรวจเอกสารเข้าเมืองจึงดูไม่วุ่นวายนัก จากนั้น พวกเราจึงนั่งรถต่อเข้ามาที่พักในตัวนครบันดาร์ เสรี เบกาวัน
เมืองหลวงของบรูไนในยามดึกมีไฟสว่างไสวแต่แลดูเงียบสงัด ทำให้ผมรู้สึกแปลกตาไปจากเมืองหลวงของไทย ซึ่งเป็นนครที่ไม่เคยหลับใหล เมื่อพวกเรามาถึงโรงแรมที่พักได้จัดแจงแบ่งห้องพักกันลงตัวแล้วแยกย้ายกันไปพักผ่อนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจในรัฐสุลต่านแห่งนี้
ยามเช้าของวันใหม่อากาศแจ่มใส ภารกิจแรกของเราคือการเดินทางเยี่ยมคารวะเอกอัครราชทูตไทยประจำบรูไน ระหว่างที่รถกำลังแล่นไปสถานทูตไทย ผมพบว่าแม้ราคาน้ำมันในบรูไนจะถูกกว่าไทยมาก (น้ำมันดีเซลลิตรละประมาณ 8 บาท ส่วนน้ำมันเบนซินแพงกว่าไม่มากนัก) แต่สภาพการจราจรในเมืองหลวงไม่ได้ติดหนึบแบบเมืองใหญ่ๆ ทั่วไป เนื่องจากจำนวนรถมีไม่มาก ส่วนหนึ่งคงเพราะว่าประชากรชาวบรูไนมีไม่มากนักทำให้ปริมาณรถบนท้องถนนมีน้อยตามไปด้วยนอกจากนี้ ผมยังไม่ค่อยพบเห็นรถแท็กซี่หรือรถประจำทาง ขณะที่สภาพทั่วไปของกรุงบันดาร์ เสรี เบกาวันเป็นเมืองที่มีความสะอาดเป็นระเบียบ ตลอดสองข้างทางถนนสามารถรักษาความสะอาดได้อย่างดีและมีต้นไม้ร่มรื่นสบายตา
รถแล่นไม่นานก็มาถึงสถานทูตไทย พวกเราได้พูดคุยเกี่ยวกับประเทศบรูไนกับเอกอัครราชทูตและข้าราชการสถานทูต บรูไนแม้เป็นประเทศร่ำรวยจากการขายน้ำมัน แต่ก็ต้องการการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อกระจายภาคเศรษฐกิจให้หลากหลาย อย่างไรก็ตาม การลงทุนจากต่างประเทศยังคงมีไม่มากนัก เนื่องจากบรรยากาศไม่เอื้อต่อการลงทุนมากนัก เช่น ตลาดภายในมีขนาดเล็ก หรือไม่มีสถานบันเทิงอันเป็นแหล่งผ่อนคลายชั้นดีของนักลงทุนชาวต่างชาติ
มากไปกว่านั้น ความเข้มงวดทางศาสนาที่มีมากขึ้นหลังจากรัฐบาลได้ประกาศใช้กฎหมายชารีอะห์ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คนในศาสนาอื่นพอสมควรโดยเฉพาะช่วงเดือนแห่งการถือศีลอด ร้านอาหารต่างๆ ที่เป็นของชาวจีนและร้านที่ไม่ใช่มุสลิมถูกสั่งห้ามเปิดขายเวลากลางวัน ดังนั้น ร้านค้าเหล่านี้จึงทำการ “แอบขาย” โดยทำทีเป็นปิดประตูหน้าร้านไว้แต่ก็เปิดขายอยู่ในร้าน
ที่นี่มีร้านค้าซึ่งเป็นแฟรนไชส์จากต่างประเทศมาเปิดขายอยู่หลายร้าน เช่น แมคโดนัลด์ สำหรับร้านกาแฟสตาร์บัคส์ เพิ่งมาเปิดได้ไม่นานและมีทั้งหมด 3 สาขาทั่วประเทศ ร้านกาแฟกลายเป็นแหล่งทดแทนสถานบันเทิงสำหรับวัยรุ่นชาวบรูไน เนื่องจากวัยรุ่นมักจะนัดพบปะและรวมตัวกันในร้านกาแฟมียี่ห้อเหล่านี้ทำให้แลดูมีรสนิยมมากกว่าการนั่งร้านน้ำชาธรรมดาๆ
เมื่อพูดถึงเรื่องอาหาร ร้านอาหารในเมืองหลวงหลายร้านมีเจ้าของเป็นคนเชื้อสายจีน ซึ่งเป็นลักษณะเด่นทั่วไปของผู้ประกอบการในหลายชาติอาเซียน ร้านอาหารในบรูไนจะเป็นที่สังสรรค์พบปะกันของทั้งคนในครอบครัวหรือเพื่อนฝูง เนื่องจากในบรูไนไม่มีสถานบันเทิงเริงรมย์ ดังนั้นร้านอาหารจึงกลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่สำคัญของชาวบรูไน
ผมสังเกตว่าตั้งแต่ช่วงเวลาเย็นจดค่ำ ผู้คนล้อมวงพูดคุยกันสนุกสนานบนโต๊ะอาหาร อาหารที่เป็นเมนูเด่นของที่นี่ นอกจากอาหารจีนทั่วไป ก็น่าจะเป็นเมนูแกงปลา ใส่ผักกระเจี๊ยบและมะเขือ ใส่กะทิและมีเครื่องปรุงผงกระหรี่เป็นส่วนประกอบสำคัญ ทำให้มีรสชาติเผ็ดร้อนและเคลือบมันจากการเคี่ยวกะทิ โดยมีชาร้อนเสิร์ฟลดความมันเลี่ยน
ในบริเวณย่านธุรกิจใกล้ที่พักที่เรียกว่า The Mall Complex มีร้านข้าวมันไก่อยู่ร้านหนึ่ง พวกเราไปรับประทานกันในมื้อกลางวัน ข้าวมันไก่ที่ขายในบรูไนเหมือนข้าวมันไก่ที่ขายในสิงคโปร์ ช่วงกลางวันขายดีมาก มีคนเข้ามารับประทานจนโต๊ะแทบไม่ว่าง พวกเรายืนรอพักหนึ่งพอมีโต๊ะว่างจึงรีบจับจองที่นั่งทันที ข้าวมันไก่ของร้านนี้ เนื้อไก่นุ่มกำลังดี ส่วนข้าวก็ไม่หุงจนแฉะเกินไป
หลังจากที่คณะเราเดินทางกลับจากการเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยบรูไนดารุสซาลาม พอมีเวลาเหลือก่อนอาหารมื้อเย็น จึงตกลงกันไปชมมัสยิดอันเก่าแก่และยิ่งใหญ่ของบรูไน นั่นคือ มัสยิดสุลต่าน โอมาร์ อาลี ไซฟุดดิน (Sultan Omar Ali Saifuddin Mosque)ซึ่งเป็นมัสยิดใจกลางเมืองหลวง ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำบรูไน มีสัญลักษณ์โดดเด่นก็คือ โดมทองคำตั้งเด่นตระหง่านมองเห็นได้แต่ไกล
ด้านหน้ามัสยิดซึ่งหันเข้าหาแม่น้ำบรูไนมีสถาปัตยกรรมสร้างเป็นเรือลอยอยู่ในสระน้ำ นับว่าเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของมัสยิดแห่งนี้ เมื่อเดินเข้าไปข้างในซึ่งเปิดแอร์เย็นฉ่ำ เหมาะสำหรับเป็นที่พำนักจิตใจให้เย็นสงบ ข้างในของมัสยิดประดับด้วยหินอ่อนและกระเบื้องสีสวยงาม ถือเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเอกของบรูไนแห่งหนึ่ง
วันรุ่งขึ้น พอเสร็จสิ้นภารกิจที่ธนาคารอิสลามแห่งบรูไนดารุสซาลาม (Bank Islam Brunei Darussalam: BIBD)พวกเราหวังว่าจะแวะชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของบรูไน แต่น่าเสียดายที่ระหว่างนั้นกำลังปิดปรับปรุง พวกเราจึงต้องแวะชมพิพิธภัณฑ์เครื่องราชูปโภคของสุลต่าน (Royal Regalia Museum) แทน
พิพิธภัณฑ์แบ่งการจัดแสดงเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเกี่ยวกับพระราชประวัติ เครื่องราชูปโภคและของที่ระลึกซึ่งสุลต่านได้รับมอบจากประมุขแห่งรัฐ และผู้นำจากประเทศต่างๆ ส่วนที่ 2 จัดแสดงเกี่ยวกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของบรูไนในช่วงสมัยต่างๆ
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีความยิ่งใหญ่โอ่อ่ามาก พวกเราเดินชมกันอย่างเพลิดเพลิน โดยเฉพาะส่วนการจัดแสดงของขวัญและของที่ระลึกจากผู้นำประเทศต่างๆ ที่มีการแลกเปลี่ยนการเยือนกัน ซึ่งแต่ละชิ้นล้วนแล้วแต่วิจิตรงดงามสมเป็นของล้ำค่าจากนานามิตรประเทศ พวกเรายังได้ชมของขวัญซึ่งในหลวงของเราทรงมอบให้องค์สุลต่านบรูไนด้วย เป็นขันเงินใบใหญ่ ฝีมือการตีและขึ้นรูปวิจิตรบรรจงงดงามไร้ที่ติ เรียกได้ว่าเป็นบุญตาจริงๆ เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการที่นี่ยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นกันเอง อีกทั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังให้บริการฟรีสำหรับชาวบรูไนและนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย
สถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่จะพลาดไม่ได้เลยเมื่อมาถึงบรูไนคือการล่องเรือชมหมู่บ้านกลางน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่รู้จักกันในชื่อ กัมปงไอเยอร์ (Kampong Ayer) เป็นชุมชนขนาดใหญ่ตั้งอยู่ใกล้ๆ บริเวณปากแม่น้ำบรูไน ตรงบริเวณท่าน้ำจะมีเรือของชาวบ้านมารอให้นักท่องเที่ยวเรียกใช้บริการ พวกเราไม่รอช้ารีบตกลงราคาเสร็จสรรพก็ออกแล่นเรือ
ไกด์นำเที่ยวประจำเรือเล่าให้ฟังว่า จำนวนบ้านทั้งหมดในชุมชนกัมปงไอเยอร์มีราวๆ 4,000 หลังคาเรือน และมีประชากรประมาณ 20,000 คน ในกัมปงไอเยอร์มีหมู่บ้านรวมประมาณ 40 หมู่บ้าน สังเกตได้จากศาลาหลังเล็กๆ ที่ยื่นออกมากลางแม่น้ำ นอกจากนี้ยังมีมัสยิดกลางน้ำ มีโรงเรียนสำหรับเด็กๆ ในชุมชนด้วย แม้ว่าทางการจะพยายามสร้างที่พักบนบกที่เป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ด้วยวิถีชีวิตของการเป็นชาวน้ำ ดังนั้น บางส่วนจึงปฏิเสธการไปอยู่อาศัยบนบก
คนขับเรือพาเราไปชมพระราชวังเก่าขององค์สุลต่านก่อนที่จะทรงย้ายไปพำนัก ณ พระราชวังปัจจุบัน พวกเรายังได้แวะชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของชุมชนกัมปงไอเยอร์ ซึ่งจัดแสดงภาพถ่ายและแบบจำลองวิถีชีวิตชาวน้ำบรูไน ส่วนโถงกลางมีจอโทรทัศน์เปิดวิดีโอบรรยายประวัติความเป็นมาของกัมปงไอเยอร์ให้รับชม
ใครหลายคนอาจจะไม่คิดว่าบรูไนจะเป็นจุดหมายในการท่องเที่ยวของตัวเอง อย่างไรก็ตาม บรูไนสามารถเป็นจุดเริ่มต้นการท่องเที่ยวบนเกาะบอร์เนียวได้ โดยสามารถเดินทางต่อไปยังมาเลเซียหรืออินโดนีเซียแบบคณะเราที่ต่อเที่ยวบินไปยังรัฐซาบาห์ของมาเลเซีย
ไว้โอกาสหน้าผมจะเขียนเล่าความประทับใจและความตื่นเต้นในการขึ้นยอดเขาคินาบาลูที่รัฐซาบาห์ครับ