สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง ‘ใครกุมอำนาจเมียนมา?: อองซาน ซูจี หรือกองทัพ’ ณ ห้องประชุม 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันอังคารที่ 26 เมษายน 2559 เวลา 08.30-12.00 น.
หลังจากเมียนมาจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา (58) ทางการเมียนมาได้ประกาศผลการนับคะแนนเสียงการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ซึ่งก็เป็นไปตามความคาดหมายของหลายฝ่ายคือ พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) ซึ่งมีนางอองซาน ซูจี ดำรงตำแหน่งผู้นำพรรคฯ ได้รับคะแนนเสียงมากเป็นอันดับ 1 โดยทิ้งห่างจากพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party: USDP) นำโดยนายพลเต็ง เส็ง มีผลคะแนนตามมาเป็นอันดับ 2 เป็นจำนวนมาก
ชัยชนะอย่างท้วมท้นของ NLD ในการเลือกตั้งนัดสำคัญครั้งนี้ ถูกจับตามองจากหลายฝ่ายว่ากองทัพที่กุมอำนาจมาอย่างยาวนาน จะยอมรับผลการเลือกตั้ง กระทั้ง NLD สามารถจัดตั้งรัฐบาลพลเรืองครั้งแรกในรอบ 50 ปีได้หรือไม่ และในวันนี้ ก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า NLD สามารถจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนได้แล้ว โดยมีนายถิ่น จ่อ ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 59 (F) ในเมียนมา ระบุว่า ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจะต้องเป็นผู้ที่ไม่มีคู่สมรส หรือทายาทที่เป็นชาวต่างชาติ อย่างไรก็ตาม แม้นางอองซาน ซูจี จะไม่สามารถขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีได้ แต่นางซูจี ก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐ (State Counselor) และตำแหน่งบริหารที่สำคัญภายในพรรคฯ
ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร อาจาย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการตั้งข้อสังเกตว่า ใครกุมอำนาจเมียนมา?: อองซาน ซูจี หรือกองทัพ’ ว่า ไม่สามารถพันธงได้ว่าระหว่างนางอองซาน ซูจี/NLD หรือกองทัพ ใครจะขึ้นมามีบทบาทในการกุมอำนาจเมียนมา พร้อมเสนอให้หันมาสนใจในประเด็นที่ว่า หลังจากนี้ นางอองซาน ซูจี/NLD และกองทัพ จะมีความร่วมมือกันอย่างไรควบคู่กันไป เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต่างต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่ราบรื่น ภายใต้บริบทแห่งสันติภาพซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถปรับตัวเข้าหากัน ปราศจากซึ่งความหวาดระแวงระหว่างกัน ขณะเดียวกันก็ดำรงสถานะที่เป็นอยู่ของตนไว้ได้ แตกต่างจากช่วงเวลาก่อนหน้านี้ที่ค่อนข้างมีความกดดันทางการเมืองตลอดเวลาและเป็นการชิงชัยกันแบบมีเพียงผลแพ้-ชนะเท่านั้น
ขณะที่ ผศ.ดร. นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มกาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้เมียนมายังคงใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่ระบุให้กองทัพมีอำนาจ 1 ใน 3 ของสภาสูง สภาผู้แทนราษฎร และสภาท้องถิ่น คะแนนเสียงร้อยละ 25 ยังคงเป็นของกองทัพ ส่งผลให้กองทัพยังคงมีพื้นที่ในกิจการภายใน ภายนอก และกิจการชายแดน ขณะเดียวกันกองทัพยังคงยืนยันชัดเจนว่า หาก NLD ยังคงต้องการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในรัฐธรรมนูญจะต้องให้คะแนนเสียงร้อยละ 75 ซึ่งเพียงคะแนนเสียงภายใน NLD เท่านั้นไม่เพียงพอ เหตุผลประการหนึ่งที่สำคัญคือ โจทย์การเมืองชาติพันธุ์ในเมียนมาค่อนข้างซับซ้อน เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐฉาน และรัฐอาระกัน (ยะไข่) ยังคงปฏิเสธ NLD
ขณะเดียวกัน NLD ก็มีความพยายามในการจัดตั้งกระทรวงกิจการชาติพันธุ์ (Ministry for Ethnic Affairs) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความฐานเสียงความนิยมจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆควบคู่กับการป้องกันไม่ให้เกิดสงครามความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนความสมานฉันท์ภายในประเทศ โดยมีสัดส่วนเป็นสมาชิกภายใน NLD ร้อยละ 40 และอีกร้อยละ 60 เป็นพันธมิตรแนวร่วม และกลุ่มนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ถือเป็นรูปแบบการเจรจาที่มีความหลากหลาย ไม่ใช่เพียงแค่การเจรจาระหว่าง NLD กับกองทัพเท่านั้น