อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ร่วมมือความมั่นคงทางทะเล
อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เห็นชอบที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลร่วมกันผ่านการร่วมลาดตระเวนชายฝั่งและสร้างสายด่วนเพื่อรับมือกับปัญหาโจรสลัดและการลักพาตัวบริเวณพรมแดนทางทะเล
ข้อตกลงดังกล่าวเป็นผลจากการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้ง 3 ชาติที่มีขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (5) หลังจากเมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มอาบูไซยยาฟได้ลักพาตัวลูกเรือชาวอินโดนีเซีย 10 คนไปเรียกค่าไถ่ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว โดยทางการอินโดนีเซียระบุว่าไม่ได้มีการจ่ายค่าไถ่ให้กลุ่มดังกล่าวแต่อย่างใด
นางเรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียระบุในแถลงการณ์ว่าทั้ง 3 ประเทศตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาโจรสลัดและการลักพาตัวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมมุ่งมั่นจะทำงานร่วมกันในการรับมือกับความท้าทายดังกล่าว
แถลงการณ์ร่วมของทั้ง 3 ชาติระบุว่า อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ตระหนักถึงความท้าทายด้านความมั่นคงที่เพิ่มขึ้น อาทิ การบุกปล้นเรือ การลักพาตัว อาชญากรรมข้ามชาติ และการก่อการร้ายที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ทางทะเล
แหล่งที่มา: nytimes.com
อินโดนีเซียเล็งเพิ่มโทษการล่วงละเมิดทางเพศ
ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย กำลังพิจารณาเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศ หลังคดีฆ่าข่มขืนหญิงสาววัยรุ่นในเกาะสุมาตราเมื่อเดือนที่แล้ว สร้างกระแสความเกลียดชังและก่อให้เกิดการประท้วงของประชาชนทั่วประเทศ
นางปวน มหาราณี (Puan Maharani) รัฐมนตรีประสานงานด้านการพัฒนามนุษย์เปิดเผยว่า นายโจโกวีกำลังพิจารณาออกกฎหมายฉบับใหม่ที่เพิ่มโทษการข่มขืนเด็กสูงสุดไม่เกิน 20 ปี (จากเดิมไม่เกิน 15 ปี) ขณะเดียวกัน รัฐบาลกำลังชั่งน้ำหนักถึงความเป็นไปได้ในการลงโทษด้วยวิธีการอื่นๆ ซึ่งรวมถึงการตอนหรือตัดอัณฑะ
เมื่อวันอังคารที่ 10 พฤษภาคม ศาลสุมาตราได้พิพากษาให้จำคุกชายวัยรุ่น 7 คนที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดฐานฆ่าและข่มขืน เป็นเวลา 10 ซึ่งนับเป็นโทษสูงสุดสำหรับผู้กระทำผิดที่ยังเป็นเยาวชนอยู่
องค์กรสิทธิมนุษยชนในอินโดนีเซียหลายแห่งสนับสนุนการสอบสวนคดีการล่วงละเมิดทางเพศและการบังคับใช้บทลงโทษอย่างเข้มงวดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม พวกเขาเห็นว่าการลงโทษด้วยการตอนหรือตัดอัณฑะไม่ใช่การแก้ปัญหา
แหล่งที่มา: wsj.com