What Russia’s “Turn to the East” Means for Southeast Asia*
โดย Ian Storey**
แปลและเรียบเรียงโดย กุลระวี สุขีโมกข์
วิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นส่งผลให้ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างรัสเซียและตะวันตกขาดเสถียรภาพ นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ผลักดันนโยบายหันกลับมาให้ความสนใจตะวันออก (Turn to the East) เพื่อสร้างเครือข่ายทางเศรษฐกิจร่วมกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย เพื่อพยุงเศรษฐกิจของประเทศไว้ ด้วยการหันมาสร้างปฏิสัมพันธ์ทางการค้าร่วมกับภูมิภาคเอเชีย เพราะเอเชียกำลังเป็นภูมิภาคที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเป็นลำดับที่ 2 ของโลก และมั่งคั่งด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ
ในปี 2553 นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศใช้นโยบายให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชีย ขณะที่นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ก็ดำเนินนโยบายหันกลับมาให้ความสนใจตะวันออก (Turn to the East) เช่นกัน นายปูตินมีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างเครือข่ายทางการค้า/ลงทุน การเมือง และความมั่นคงร่วมกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากในขณะนั้น รัสเซียพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากกลุ่มประเทศตะวันออก โดยเฉพาะภูมิภาคยุโรปเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่สภาพเศรษฐกิจของยุโรปเริ่มหดตัว ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อสภาพเศรษฐกิจในรัสเซีย
ด้วยเหตุนี้ นายปูตินจึงให้ความสำคัญกับการผลักดันนโยบายหันกลับมาสนใจตะวันออก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน ให้เป็นมากกว่าคู่ค้าทางอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างที่เป็นอยู่ พร้อมกับการลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากตะวันตกลง เพราะรัสเซียกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนักจากราคาน้ำมันโลกตกต่ำ ซ้ำยังถูกคว่ำบาตรทางการค้าจากสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างรัสเซียกับกลุ่มประเทศในแถบตะวันตกตกอยู่ในสภาวะขื่นขม
นับตั้งแต่นายวลาดิเมียร์ ปูตินเข้าดำรงตำแหน่งในฐานะประธานาธิบดีของรัสเซียเมื่อปี 2543 นโยบายที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคเอเชียของรัสเซีย (Russia’s Asia-policy) ได้มุ่งความสำคัญไปที่จีน (China-centric) เป็นสำคัญ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับจีนมีความแน่นแฟ้นเป็นอย่างยิ่ง แต่ด้วยความที่รัสเซียกังวลว่า หากเมื่อใดก็ตามที่เศรษฐกิจของจีนถดถอย รัสเซียจะได้รับผลกระทบไปด้วย เนื่องจากได้รับบทเรียนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2558 ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเป็นไปอย่างเชื่องช้า ส่งผลให้ปริมาณการค้าระหว่างจีนและรัสเซียดิ่งลงถึงร้อยละ 30 ด้วยเหตุนี้ รัสเซียจึงต้องแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยมุ่งไปที่ภูมิภาคเอเชียที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน
แม้รัสเซียจะมีนโยบายหันกลับมาสนใจกลุ่มประเทศตะวันออกมากขึ้น แต่รัสเซียก็ยังไม่สามารถเข้าไปมีบทบาททางเศรษฐกิจในอาเซียนมากเท่าใดนัก เนื่องจากขอบข่ายทางการค้าระหว่างรัสเซียและอาเซียน ยังจำกัดอยู่เฉพาะการค้าทางอาวุธยุทโธปกรณ์ (Weapon Systems) และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ (Nuclear Technology) เป็นสำคัญ แต่ความพยายามดังกล่าวนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญบนเส้นทางที่แสนยาวไกลสู่การเป็นคู่ค้าทางเศรษฐกิจระหว่างรัสเซีย-อาเซียน
รัสเซียให้ความสำคัญกับนโยบายในการป้องกันประเทศส่งผลให้งบประมาณด้านการป้องกันประเทศมีอัตราค่อนข้างสูงเป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากสหรัฐฯ และจีน หากเทียบเคียงกับงบประมาณในด้านอื่นๆ นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามสงครามเย็น การปรากฏตัวของกองทัพรัสเซียในภูมิภาคเอเชียค่อนข้างโดดเด่นมาตลอด โดยเฉพาะในเรื่องการซื้อ-ขายอาวุธยุทโธปกรณ์ระหว่างรัสเซียกับเวียดนาม
ในปี 2557 รัสเซียเป็นคู่ค้าลำดับที่ 14 ของอาเซียน มีมูลค่าการค้าระหว่างกันอยู่ที่ 22.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตจากปี 2556 ถึงร้อยละ 13 อย่างไรก็ดี แม้มูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ยังถือว่าเป็นอัตราส่วนที่น้อยเมื่อเทียบเคียงกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ เช่น จีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และอินเดีย ถึงแม้ในปี 2555 รัสเซียจะพยายามสร้างสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศในอาเซียน โดยมีเวียดนามเป็นคู่ค้าลำดับที่ 1 และรองลงมาเป็น อินโดนีเซีย ไทย และสิงคโปร์ก็ตาม
ต่อมา เวียดนามได้ลงนามทางการค้าเสรีร่วมกับรัสเซียเป็นประเทศแรกในภูมิภาค หากนำมาเทียบเคียงขนาดการค้าที่เวียดนามลงนามในความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) ที่นำโดยสหรัฐฯ การลงนามการค้าเสรีระหว่างรัสเซียกับเวียดนามถือว่ามีมูลค่าทางเศรษฐกิจน้อยกว่า
ในขณะเดียวกัน รัสเซียมองว่าประเด็นข้อพิพาททะเลจีนใต้ไม่ใช่อุปสรรคของการเป็นคู่ค้าระหว่างรัสเซียกับอาเซียน เนื่องจากรัสเซียไม่ต้องการขัดแย้งกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือประเทศคู่ขัดแย้งกับจีนอย่างเวียดนาม เนื่องจากทั้งจีนและเวียดนามต่างเป็นคู่ค้าสำคัญของรัสเซีย
นับตั้งแต่ปี 2551-2552 เวียดนามได้สั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากรัสเซียกว่าร้อยละ 90 ของอาวุธสงครามทั้งหมดของประเทศ รัสเซียยังคงค้าขายอาวุธกับเวียดนามต่อไป แม้จะมีเสียงต่อต้านจากภายในประเทศ บทบาทดังกล่าวช่วยให้รัสเซียสามารถรักษาความสัมพันธ์กับเวียดนามต่อไปได้ เนื่องจากอาวุธสงครามที่รัสเซียขายมีราคาถูกกว่าที่อื่น
สถานการณ์ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นบริเวณทะเลจีนใต้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ได้สร้างความกังวลให้แก่รัสเซียเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากรัสเซียพยายามที่จะสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจร่วมกับภูมิภาคเอเชีย ความสงบและความมั่นคงในพื้นที่ดังกล่าวจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการสร้างโครงข่ายทางการค้าในภูมิภาคนี้
ที่ผ่านมา รัสเซียมีความสัมพันธ์กับอาเซียนเพียงผิวเผิน ทั้งยังไม่มีมาตรการเชิงรุก อาทิ ไม่เคยเข้าร่วมการประชุมด้านความมั่นคงกับกลุ่มประเทศอาเซียนเลยแม้แต่ครั้งเดียว แม้จะมีความสัมพันธ์กับอาเซียนมานานถึง 20 ปี อย่างไรก็ดี ในปี 2559 คาดการณ์กันว่ารัสเซียจะเข้าประชุมร่วมกับอาเซียนเพื่อร่วมกันหาแนวทางกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างกัน เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในช่วงปี 2559-2569 (แผนระยะยาว 10 ปี) ต่อไป
*แปลและเรียบเรียงจาก Ian Storey. 2015. “What Russia’s “Turn to the East” Means for Southeast Asia.” ISEAS Perspective. Vol. 5. pp. 3-10. Retrieved from https://www.iseas.edu.sg/images/pdf/ISEAS_Perspective_2015_67.pdf
**Ian Storey เป็นนักวิจัยอาวุโส และบรรณาธิการวารสาร Contemporary Southeast Asia ของสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (Institute of Southeast Asian Studies: ISEAS) ประเทศสิงคโปร์
ภาพ: Wang Xiaoying/China Daily