สหรัฐฯ ผ่อนปรนการคว่ำบาตรเมียนมา
สหรัฐฯ ผ่อนปรนการคว่ำบาตรเมียนมาเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองหลังจากตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพมาเป็นเวลานาน
ทางการสหรัฐฯ ใช้นโยบายผ่อนปรนการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเงินของเมียนมา โดยเริ่มจากการยกเลิกการกีดกันทางการค้าของเมียนมา 10 บริษัท ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน-การธนาคาร ทรัพยากรไม้ และเหมืองแร่
อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจเมียนมาจำนวนมากยังคงมีรายชื่อปรากฏอยู่ในบัญชีรายนามการคว่ำบาตรอยู่ เนื่องจากมีการตรวจสอบพบว่านักธุรกิจเหล่านั้นมีความสัมพันธ์บางประการกับกองทัพ
แหล่งที่มา: bbc.com
กลุ่มชาตินิยมเมียนมา ขับไล่ทูตสหรัฐฯ กลับประเทศ
ชาวพุทธในเมียนมา รวมตัวกันขับไล่เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในเมียนมาออกนอกประเทศ เนื่องจากสหรัฐฯไม่ยอมเลิกใช้คำว่า ‘โรฮิงญา’ เรียกชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ ตามที่รัฐบาลเมียนมาร้องขอ
กลุ่มพระและชาวพุทธสุดโต่งในเมียนมาราว 100 คน ชุมนุมกันในย่านบะฮ้าน ในนครย่างกุ้ง เพื่อขับไล่ นายสก็อต มาร์เซล เอกอัคราชทูตสหรัฐฯประจำเมียนมาออกนอกประเทศ หลังจากที่เขาปฏิเสธคำขอของรัฐบาลเมียนมาว่าไม่ให้ใช้คำว่า ‘โรฮิงญา’ เรียกชาวมุสลิมโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตกของเมียนมา แต่ให้ใช้คำว่า ‘เบงกาลี’ แทน
เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมบอกว่าท่าทีของนายมาร์เซล เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของเมียนมา โดยการชุมนุมครั้งนี้เกิดขึ้นในวันเดียวกับที่นายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เข้าพบ นางอองซานซูจี ในกรุงเนปิดอว์ เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาชาวโรฮิงญา ซึ่งนางซูจีบอกว่าปัญหานี้มีความละเอียดอ่อนและต้องใช้เวลาในการแก้ไข
แหล่งที่มา: วอยซ์ทีวี และ VOA News