ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา ร่วมกับศูนย์เครือข่ายจุฬานานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง ‘ปรากฎการณ์จีนใหม่ ในประเทศไทยและประเทศลุ่มน้ำโขง’ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม 2559 เวลา 08.30–15.15น. ณ ห้องประชุม Dipak C. Jain ชั้น 1 อาคารศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
งานเสวนาครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้นักวิชาการสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาด้านอาเซียนศึกษา จีนศึกษา และอื่นๆ ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับปรากฎการณ์การเคลื่อนย้ายของชาวจีนใหม่ที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจของไทยและประเทศลุ่มน้ำโขง ประเด็น “จีนใหม่” เป็นปมปัญหาที่ยากจะเข้าใจ เนื่องจากจีนเน้นนโยบายอำนาจละมุน (Soft Power) ที่ให้ความรู้สึกว่าจีนกำลังเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ แต่การกระทำของจีนดังกล่าวกลับสร้างผลกำไรที่งอกงามให้แก่การสะสมทุนของกลุ่มจีนใหม่เป็นอย่างดี
รองศาสตราจารย์ ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงปรากฎการณ์จีนใหม่ในประเทศไทยและประเทศลุ่มน้ำโขงว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าในขณะนี้ จีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโดยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) มากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ แม้ปัจจุบัน ค่า GDP ของจีนจะชะลอตัว แต่หากนำไปเทียบเคียงกับประเทศอื่นๆ จะพบว่ายังคงเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง
อาเซียนเองมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยว ไม่กี่ปีที่ผ่านมา อาเซียนเกิดนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มใหม่ นั่นคือ “นักท่องเที่ยวชาวจีน” ที่เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรณีประเทศไทย มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเยือนมากเป็นอันดับ 1 ในบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด (เช่นเดียวกับหลายประเทศในอาเซียน) ประมาณ 6–7 ล้านคนต่อปี โดยเฉพาะหลังจากได้รับชมภาพยนตร์เรื่อง “Lost in Thailand” ขณะที่ ทางการไทยยังไม่มีนโยบายรับมือนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชัดเจนเพียงพอ ส่งผลให้บ่อยครั้งนำไปสู่การกระทบกระทั่งกันทางวัฒนธรรม ในความเป็นจริงแล้ว ไทยควรหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มาก เนื่องจากการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักของประเทศ
รองศาสตราจารย์ ดร.นวลน้อย ยังตั้งคำถามชวนให้คิดต่อว่า ขณะนี้ นักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากผันตัวเองสู่การเป็นนักธุรกิจ/ผู้ประกอบการในไทย ผ่านกระบวนการการค้าจีนแบบครบวงจรเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทางการไทยจะมีวิธีการในการบริหารจัดการอย่างไรเพื่อตั้งรับกลุ่มจีนใหม่เหล่านี้ โดยไม่ให้กระทบต่อธุรกิจรายย่อยของคนไทย
ด้านศาสตราจารย์ ดร. ยศ สันตสมบัติ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “Impact of China’s Rise on the Mekong Region” โดยชี้ว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พบการไหลเวียนของชาวจีนเข้ามายังอุษาคเนย์เพิ่มมากขึ้น ด้วยสาเหตุดังต่อไปนี้ (1) นโยบายที่หลากหลายจำเพาะเจาะจงเป็นรายประเทศ (2) นโยบายจัดสรรและกำหนดเขตพื้นที่ต่างๆ เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับพื้นที่ เช่น มณฑลเซินเจิ้น เป็นพื้นที่ผลิตอุปกรณ์ไอที เป็นต้น (3) นโยบายระบบกฎหมาย ภาษี และสำมะโนประชากรที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เพื่อสนองความต้องการของประชาชนอย่างตรงจุด (4) นโยบายอธิปไตยร่วม ในลักษณะเช่าซื้ออธิปไตย เช่น เช่าซื้อพื้นที่ทางตอนเหนือของลาว (5) นโยบายอธิปไตยชายขอบ คือ จีนให้ความสำคัญกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะระบบบรรณาการเก่า กล่าวคือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นลุ่มน้ำชั้นหนึ่งที่จีนจะต้องแพร่อิทธิพลมาให้ได้
ศาสตราจารย์ ดร.ยศ ได้เล่าถึง 4 เหตุการณ์สำคัญของจีน เริ่มจากเหตุการณ์ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2502/1969 (Black Monday ของชาวจีน) ที่กลุ่มผู้ชุมนุมชาวมาเลเซียบุกเผาร้านค้าของคนจีน แต่ทางการจีนไม่ออกมากล่าวถ้อยแถลงใดๆ และในวันเดียวกันนี้ของปี 2541/1998 เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นที่อินโดนีเซีย แต่ครั้งนี้ ทางการจีนออกแสดงความเสียใจ พร้อมออกปากว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะจีนไม่ได้รับการนับถือจนนำไปสู่การเกิดชาตินิยมรูปแบบใหม่ขึ้นในจีน พร้อมย้ำว่าจีนให้ความห่วงใยลูกหลานจีนที่อยู่ทั่วโลก
ต่อด้วยเหตุการณ์เทียนอันเหมิน รัฐบาลจีนปฏิเสธไม่ให้องค์การระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะจีนมองว่าเป็นเหตุการณ์ภายในประเทศ ขณะที่เหตุจลาจลที่ทิเบต ในปี 2551/2008 รัฐบาลจีนกลับไม่ออกมาแสดงถ้อยแถลงใดๆ แต่ลูกหลานจีนที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ กลับลุกขึ้นมาต่อต้านการนำเสนอข่าวของ CNN
ศาสตราจารย์ ดร.ยศ กล่าวสรุปว่า เหตุการณ์ข้างต้นทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า คนจีนที่อยู่ต่างแดนมีสำนึกความเป็นจีนมากกว่าที่เราเข้าใจ และดูเหมือนจะเพิ่มมาขึ้นในอนาคต เพราะขณะนี้ทางการจีนหันมาให้ความสำคัญกับนโยบายช่วยเหลือลูกหลานจีนที่อยู่ทั่วโลกมากขึ้น