สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ “เคล็ด (ไม่) ลับ สำหรับนักบริหาร คน ใน CLMV” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน 2559 เวลา 08:30–12:45น. ณ ห้องริมน้ำ 107 อาคารริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยหนังสือเล่มนี้ ได้ต่อยอดความสำเร็จมาจากงาน HRI International Symposium 2015 หัวข้อ “Managing HR in CLMV: Trends, Challenges, and Lessons learned” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีเนื้อหาจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่ปฏิบัติงานโดยตรงทั้งจากไทยและต่างประเทศ และนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ระดับสูงจากบริษัทชั้นนำของไทยที่มีประสบการณ์ในการบริหารคนในประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม(CLMV)
รองศาสตราจารย์ ดร.ไตรรัตน์ โภคพลากรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงความสำคัญของโครงการเสวนาและการจัดทำหนังสือเรื่อง “เคล็ด (ไม่) ลับ สำหรับ นักบริหาร คน ใน CLMV” ว่า อิทธิพลของการค้าเสรีที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอาเซียน เมื่อประเทศในอาเซียนก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC)อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อปลายปี 2558 ส่งผลให้เกิดการขยายการลงทุน ทั้งบริษัทไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักลงทุนจากประเทศจีนที่เข้ามาลงทุนในกลุ่มประเทศCLMV เนื่องจากมีต้นทุนด้านค่าจ้างแรงงานและต้นทุนด้านอื่นๆ ต่ำกว่าสมาชิกอาเซียนอีกหลายประเทศ
อย่างไรก็ดี แม้ผู้ลงทุนจะได้รับประโยชน์ต่างๆ ในแง่ประสิทธิภาพของต้นทุน แต่ข้อท้าทายประการหนึ่งที่กลุ่มนักลงทุนจะต้องเผชิญก็คือการบริหาร “แรงงาน” ใน CLMV ที่มีคุณลักษณะเฉพาะเป็นของตนเอง ดังนั้น การบริหารทรัพยากรมนุษย์ของบริษัทที่เข้าไปลงทุนในประเทศเหล่านี้ จึงจําเป็นจะต้องศึกษาคุณลักษณะเฉพาะของประเทศต่างๆ ในหลายแง่มุม ซึ่งจําเป็นต้องอาศัยนักวิชาการด้านการบริหารแรงงานในกลุ่มประเทศเหล่านี้รวมถึงนักปฏิบัติการด้านทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสบการณ์ตรงเป็นผู้ร่วมกันถ่ายทอดและถอดบทเรียนที่ได้รับจากการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในประเทศ CLMV
ศาสตราจารย์ ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ ประธานที่ปรึกษา Chira Academy และเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ กล่าวถึงบทบาทของนักทรัพยากรมนุษย์ในยุคอาเซียนนิยมว่า นักทรัพยากรมนุษย์ยุคใหม่จะต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยในลักษณะข้ามพื้นที่ คือเข้าใจทั้งประเทศตนเองและประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มจากการจัดทำฐานข้อมูลเป็นของเราเอง โดยมีเนื้อหาเชื่อมโยงกับประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และต่อยอดไปสู่อาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) และอาเซียน+6 (จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และอินเดีย) ผ่านการสร้างเครือข่ายร่วมกับต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างรัฐบาล เอกชน นักวิชาการ และชุมชน อีกทั้งนักทรัพยากรมนุษย์ควรตั้งคำถามเพื่อนำไปสู่การริเริ่มหัวข้อวิจัยที่มีความทันสมัย เป็นประโยชน์ และสามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ได้
ศาสตราจารย์ ดร.จีระมองว่า ฐานข้อมูลขั้นพื้นฐานที่ควรจัดทำคือ (1) ศึกษาสัดส่วนประชากร เพื่อให้ทราบว่าประเทศนั้นๆ มีสัดส่วนประชากรแต่ละช่วงวัยอายุเท่าใด (2) ศึกษาแรงงาน เพื่อให้ทราบถึงแนวโน้มความหลากหลายของแรงงานในอนาคตว่าจะเป็นไปในทิศทางใด หรือตลาดแรงงานในอนาคตจะเป็นอย่างไรและ (3) ศึกษาคุณภาพทางการศึกษา จะต้องไม่เน้นเพียงแค่ปริมาณเท่านั้น แต่จะต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพด้วย
ดร.นิธินาถ สินธุเดชะ เตลาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท NABLE PLUS กล่าวว่า เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลไม่มีแบบแผนตายตัว แต่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์และบริบทแวดล้อมสิ่งที่นักลงทุนควรทราบก่อนเข้าไปลงทุนในประเทศ CLMVคือ ข้อกฎหมายและวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นตัวช่วยสำคัญในการทำความเข้าใจระบบระเบียบและวิธีคิดของผู้คนในประเทศนั้นๆ
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.กิตติ ประเสริฐสุข ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า นโยบายด้านแรงงานกำลังเป็นจุดสนใจของทุกประเทศ เนื่องจากการศึกษาเรื่อง “แรงงาน”นอกจากจะเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว ยังเป็นความสัมพันธ์ในเชิงอุปสงค์–อุปทานอีกด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาทักษะแรงงานถือเป็นประเด็นสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสนใจ โดยเริ่มจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก เพราะประเทศในกลุ่ม CLMV มีลักษณะบางประการที่ใกล้เคียงกัน หนังสือเรื่อง “เคล็ด (ไม่) ลับ สำหรับนักบริหาร‘คน’ ใน CLMV” จะสามารถเป็นคู่มือสำคัญสำหรับนักลงทุนและนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่สนใจลงทุนใน CLMV ผ่านการนำเสนอเนื้อหาที่สอดคล้องกับกลไกตลาด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การไหลเวียนแรงงานที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนเพียงอย่างเดียว