เรื่องโดย ณัฐวุฒิ เนาวบุตร
หากการเดินทางจะเริ่มต้นขึ้นได้ ก็ย่อมต้องมีเหตุผลบางอย่างเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เราก้าวขาออกจาก “บ้าน” การเดินทางไปอินโดนีเชียครั้งนี้ก็เช่นกัน จุดมุ่งหมายหลักของผมคือการไปร่วมงานแต่งงานของเพื่อนชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีน ณ เมืองเซอมารัง (Semarang) เมืองหลวงของชวากลาง (Jawa Tengah) แต่ไหนๆ จะไปอินโดนีเซียทั้งทีแล้ว เพื่อให้คุ้มค่าตั๋วเพราะใช่ว่าจะมีโอกาสเดินทางมาได้บ่อยๆ ผมจึงตัดสินใจท่องเที่ยวและตระเวนเยี่ยมคนรู้จักในเมืองต่างๆ ต่อไปด้วย
การเดินทางครั้งนี้มีผู้ร่วมเดินทาง 3 คน แต่มีผมคนเดียวที่ตัดสินใจอยู่ต่อหลังจากเสร็จงานแต่งงาน ผมอยู่อินโดนีเซียแบบชิวๆ 20 วัน ไม่ได้เร่งรีบและลำบากอะไรแค่อาศัยบ้านเพื่อนนอนเป็นหลัก เอาเข้าจริงค่าใช้จ่ายที่นี่ถูกว่าไทยเยอะพอตัว จึงไม่จำเป็นต้องพกเงินติดกระเป๋าไปมากมาย แต่ภารกิจของผมที่อินโดนีเซียไม่ได้มีเพียงเท่านี้ เพราะบังเอิญในวันก่อนเดินทาง พี่ที่ไทยคนหนึ่งฝากให้นำชาไทยไปให้คนรู้จักที่เมืองมาลัง (Malang) ด้วย ผมเลยมีโอกาสเดินทางไปหลายเมืองและมีเรื่อง(อยาก)เล่ามากมาย เริ่มจากการแวะพักที่กัวลาลัมเปอร์ก่อนจะถึงเซอมารัง
การเดินทางไปเมืองเซอมารังจำเป็นต้องต่อเครื่องเพราะไม่มีเที่ยวบินตรงจากกรุงเทพฯ เราจึงเลือกเปลี่ยนเครื่องที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพราะตอนนั้นราคาตั๋วจากที่นั่นถูกกว่าที่ยอกยาการ์ตา พวกเราเดินทางด้วยสายการบินราคาประหยัดจากดอนเมือง ไปลงที่สนามบินกัวลาลัมเปอร์ 2 (KLIA2) สนามบินแห่งใหม่ที่ทั้งใหญ่ ทันสมัย และไฉไลกว่า KLIA 1 แต่ผมกับรุ่นพี่อีกสองคนมาถึงกันคนละเวลาเนื่องจากเป็นตั๋วราคาประหยัดที่สุด รุ่นพี่ได้รอบ 7 โมงเช้า ส่วนผมได้รอบไม่ต้องเช้ามากคือประมาณ 10 โมง
พอมาถึงสนามบินที่กัวลาลัมเปอร์ เราไม่ได้ต่อเครื่องเดินทางไปเมืองเซอมารังทันที เพราะมีแต่ไฟลท์เช้า รอบ 6.55 นาฬิกา พวกเราเลยจองที่พักไว้ที่เมืองนิไล (Nilai) เมืองเล็กๆ ใกล้สนามบิน เพราะถ้าไปพักในกัวลาลัมเปอร์ก็จะไกลจากสนามบินมากและและอาจมีปัญหาเรื่องรอบรถไฟ เพราะถึงแม้ว่าจะมีรถไฟออกรอบแรกตอนประมาณตี 5 แต่ราคาตกคนละประมาณ 500 บาท
เมืองนิไลไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวที่คนทั่วไปรู้จักมากนัก ทีแรกผมจึงไม่ค่อยแน่ใจว่าจะเดินทางไปยังไงดี รุ่นพี่แนะนำให้มาลงที่สถานีขนส่งเมืองนิไลแล้วต่อแท็กซี่เข้าไปยังที่พัก มันคือการเดินทางออกจากสนามบินคนเดียวแบบที่ถึงจะมีเครื่องมือสื่อสารก็ไม่สามารถใช้งานอะไรได้เพราะไม่มีอินเตอร์เน็ต ผมขึ้นรถประจำทางเพื่อจะไปเมืองนิไล ยังดีที่มีวิชาภาษามาเลย์หรือบาฮาซามาเลย์ติดตัวมาบ้าง จึงยังได้พอถามคนในรถว่าใกล้ถึงที่หมายหรือยัง
เมื่อถึงสถานีขนส่ง ผมเดินไปหาแท็กซี่เพื่อพาไปส่งเข้าที่พักซึ่งอยู่ไกลไปอีก 4 กิโลเมตร แต่ไม่มีใครรู้จักที่พักแห่งนี้เลย ผมจึงตัดสินใจเดินเข้าร้านมามะก์ (Mamak) หรือร้านขายอาหารแขกราดแกงเพราะที่นี่ยังไงก็มีไวไฟใช้แน่นอน แต่เอาเข้าจริง ไวไฟที่นี่ก็ไม่ได้ดีสักเท่าไหร่ กว่าจะใช้งานได้ พี่สองคนกับเจ้าของที่พักก็ออกมารับผมถึงที่สถานีขนส่งพอดี
ผมจัดแจงเก็บของที่เกสต์เฮาท์แล้วรีบออกเดินทางไปกัวลาลัมเปอร์ หรือที่คนแถวนี้เรียกกันว่า “เคแอล” พวกเรานั่งรถไฟชานเมือง “KTM Komuter” ไปลงสถานีเคแอลเซนตรัล (KL Sentral) แล้วไปหามื้อเที่ยงกินกันที่ย่านชุมชนชาวจีนที่เรียกกันว่าเปอตาลิงสตรีท (Petaling Street) ย่านนี้ได้ชื่อว่าเป็นย่านเก่าแก่และมีความสำคัญกับเศรษฐกิจของมาเลเซียมาตั้งแต่อดีต
ผู้คนในเปอตาลิงสตรีทส่วนใหญ่เป็นชาวจีนแต้จิ๋วและกวางตุ้งที่เข้ามาค้าขายและประกอบกิจการต่างๆ อย่างไรก็ดี ภาพที่ทุกคนจดจำที่นี่คือแหล่งสินค้ากอปปี้มากมายวางขายเต็มถนน แม่ค้าพ่อค้าส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติจากบังคลาเทศและเมียนมา ซึ่งเข้ามาเป็นลูกจ้างของพวกคนจีนอีกที สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในย่านนี้ คือศาลเจ้ากวนตีหรือกวนอูซึ่งสร้างมาตั้งแต ค.ศ. 1888 ไม่ไกลกัน ยังมีวัดพระแม่อุมา (Sri Mahamariamman Temple) วัดแขกที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองหลวงแห่งนี้
ถึงแม้กัวลาลัมเปอร์จะเปลี่ยนแปลงไปมากมายจากในอดีต ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ผุดขึ้นบดบังทัศนียภาพอันสวยงามของตึกสไตล์นีโอคลาสสิกหรือที่คนไทยมักเรียกว่าชิโน-โปรตุกีส แต่เอกลักษณ์ที่ยังดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากได้ก็คืออาหารการกิน
ยังพอมีของกินดั้งเดิมหลงเหลืออยู่บ้างอย่างตรงซอยมาดรัส (Lorong Madras) หรือในซอยสุลต่าน (Lorong Sultan) แต่ที่ผมได้กินคราวนี้คือหมี่ผัดสีดำ นามว่า “หมี่ฮกเกี้ยน” ในร้านที่น่าจะเก่าแก่ที่สุดในกัวลาลัมเปอร์ ตัวผมเองรู้จักร้านนี้เพราะเคยได้สัมภาษณ์เจ้าของร้านนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง ตอนเดินทางมาเข้าค่ายเยาวชนอาเซียนที่นี่ ร้านที่มีชื่อเสียงอีกร้านหนึ่งในแถบนี้คือร้านขายฉีฉงฟาน (Chee Cheong Fun) ซึ่งเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวราดด้วยซอสเต้าหู้ยี้
ในกัวลาลัมเปอร์ มีของกินอร่อยๆ มากมายเราให้ได้ลิ้มลอง หน้าตาอาหารในเมืองหลวงค่อนข้างหลากหลายและแตกต่างจากอาหารในอีกหลายๆ เมือง เช่นในปีนัง อาจเป็นเพราะการเป็นศูนย์กลางของผู้คนต่างชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรม ทำให้รสนิยมในการกินผสมผสานกันไปด้วย
การอยู่ในกัวลาลัมเปอร์ทำให้ผมได้รู้ถึงความเป็นพหุสังคมของสังคมที่หลากหลายชาติพันธุ์และความเชื่ออยู่ร่วมกันได้ ผมได้เห็นโอกาสและการแสวงหาโอกาสของผู้คนที่เข้ามาทำมาหากินในมาเลเซีย ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงและการกลายมาเป็น “เคแอล” ที่เรารู้จักในทุกวันนี้
หลังจากกินข้าวเสร็จ ผมเดินทางไปชมความงามของเมืองและแหล่งเศรษฐกิจแห่งใหม่ที่เต็มไปด้วยตึกระฟ้าและห้างสรรพสินค้ามากมาย รวมทั้งยังได้พบรุ่นพี่อีกคนที่เรียนในกัวลาลัมเปอร์และนัดกินข้าวช่วงเย็นกันต่อ แล้วจึงเดินทางกลับไปยังที่พัก เพื่อเตรียมตัวสู่การเดินทางต่อไปในวันพรุ่งนี้เช้า