ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดสัมมนาในซีรีส์ชีพจรอุษาคเนย์ (Southeast Asia Pulse) ครั้งที่ 1 เรื่อง “จุดเดือดทะเลจีนใต้? : อนาคตหลังคำพิพากษา” ขึ้นเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 25 กรกฎาคม 2559 ณ ห้อง ร. 102 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ 4 ท่านมาร่วมอภิปราย และมี ผศ.ดร.สิทธิพล เครือรัฐติกาล เป็นผู้ดำเนินรายการ
วิทยากรท่านแรกคือ อาจารย์อัครพงษ์ ค่ำคูณ จากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นโดยกล่าวว่า ข้อมูลส่วนหนึ่งอ้างอิงจากงานวิจัยที่รับทุนสนับสนุนจาก สกว. และภายใต้การประสานงานของโครงการ “จับตาอาเซียน” คือ เรื่อง “การจัดการข้อพิพาทเขตแดนระหว่างประเทศในอาเซียน” จากนั้นได้ปูพื้นฐานสภาพและลักษณะทางภูมิศาสตร์ของทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นน่านน้ำมีพื้นที่กว่า 2 ล้านตารางกิโลเมตร และเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการขนส่งทางน้ำของประเทศเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงเบื้องหลังข้อพิพาทหมู่เกาะในทะเลจีนใต้และกรณีการอ้างสิทธิ์อธิปไตยของประเทศพิพาท
อ.อัครพงษ์ได้ให้ข้อสังเกตว่า การอ้างสิทธิอธิปไตยนั้นไม่มีประเทศใดเลยที่อ้างสิทธิตามพื้นฐานทางกฎหมาย (Legal basic) สำหรับกรณีข้อพิพาทระหว่างจีนและฟิลิปปินส์ ซึ่งฟิลิปปินส์นำกรณีความขัดแย้งขึ้นสู่การพิจารณาของศาลประจำอนุญาโตตุลาการ (PCA) เป็นกรณีพิพาท Scarborough Shoal ขณะที่ในส่วนที่สอง อ.อัครพงษ์ได้อธิบายเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับศาลประจำอนุญาโตตุลาการ (Permanent Court of Arbitration: PCA) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการตามที่รัฐภาคีร้องขอ จึงไม่ใช่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก ทำหน้าที่จัดการระงับข้อพิพาทในแนวทางสันติวิธี และส่วนสุดท้ายได้อธิบายเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone) ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนที่ขยายออกไปจากทะเลอาณาเขตไม่เกิน 200 ไมล์ทะเล ในกรณีความขัดแย้งทะเลจีนใต้เป็นส่วนที่อนุญาโตตุลาการหารือกันถึงเรื่องเขตอำนาจ (Jurisdiction) ของประเทศพิพาท อย่างไรก็ตาม อ.อัครพงษ์ได้สรุปสุดท้ายไว้ว่า ปัญหาข้อพิพาทเขตแดนระหว่างประเทศในอาเซียนไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างคู่กรณีพิพาทโดยส่วนเดียว แต่ยังมาจากปัจจัยแรงกดดันจากการเมืองภายในของประเทศคู่พิพาทด้วย ทำอย่างไรจะเข้าใจความหมายเชิงสัญลักษณ์ของเส้นเขตแดนให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อกระบวนการระงับข้อพิพาท
อ.พนัส ทัศนียานนท์ เป็นวิทยากรท่านถัดมาได้อภิปรายเกี่ยวกับประเด็นมุมมองเชิงกฎหมายและรายละเอียดของคดี โดยเริ่มอภิปรายถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 ที่ได้เริ่มต้นร่างขึ้นในปี 1974 และลงนามในปี 1982 ซึ่งในกรณีการตัดสินของ PCA ในประเด็นข้อพิพาททะเลจีนใต้ระหว่างจีนและฟิลิปปินส์นั้น จะพิจารณาจากประเด็นเขตอำนาจ (Jurisdiction) และ Admissibility ซึ่งอ.พนัสกล่าวถึงการที่คดีข้อพิพาทที่ฟิลิปปินส์ยื่นฟ้องครั้งนี้เข้าสู่เงื่อนไขการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ แต่ทว่าจีนไม่ได้เข้าต่อสู้คดีด้วย ดังนั้นการตั้งผู้พิพากษาจึงเป็นอำนาจของประธานศาลกฎหมายทางทะเล จากนั้นกล่าวถึงข้อเรียกร้องของฟิลิปปินส์ซึ่งมีใจความหลักคือ การขอให้วินิจฉัยสถานภาพเกาะแก่งในทะเลจีนใต้ ขณะที่ฝ่ายจีนนั้นก็มีข้อโต้แย้งใน 4 ประการหลักถึงการที่อนุญาโตตุลาการที่ไม่มีอำนาจรับข้อเรียกร้องของฟิลิปปินส์
ทางด้านของศ.ดร. สุรชัย ศิริไกร จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้มุมมองเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจากฝ่ายมหาอำนาจระหว่างจีนและสหรัฐฯ โดยกล่าวว่า ทางฝ่ายจีนเห็นว่า ฟิลิปปินส์ละเมิดข้อตกลงที่มีระหว่างกันและจำต้องมีการเจรจากันต่อไป ขณะเดียวกันในอาเซียนเองก็มีปฏิญญาว่าด้วยกรอบปฏิบัติในทะเลจีนใต้หรือ DOC อยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็อธิบายถึงการบิดเบือนทางกฎหมายของอนุญาโตตุลาการ โดยให้ข้อมูลว่า ไต้หวันเองก็มีหลักฐานว่าสหรัฐฯนั้นเมื่อเข้าไปเยือนหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ในปี 1960 ก็ได้ทำการขออนุญาตจากไต้หวันก่อน นอกจากนี้ ความตึงเครียดและการปะทุของข้อพิพาทก็เป็นผลมาจากการที่บทบาทของสหรัฐฯ ได้ขยายอิทธิพลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทำการปิดล้อมจีน ฉะนั้นจึงเป็นประเด็นการเมืองในกรณีข้อพิพาททะเลจีนใต้ อ.สุรชัยเห็นว่า ท้ายสุดแล้ว อาเซียนก็คงชักจูงให้ฟิลิปปปินส์เจรจากับจีนเป็นลำดับต่อไป
วิทยากรท่านสุดท้ายคือ อ.ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้มุมมองทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยเริ่มต้นชี้ให้เห็นว่า การที่จีนเข้าไปสร้างสิ่งปลูกสร้างในทะเลจีนใต้มีความสำคัญมากขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ จีนได้เริ่มสร้างเกาะเทียมและการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกบนเกาะตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2014 เป็นต้นมา โดยการก่อสร้างมีลักษณะแบบเดียวกันในทุกเกาะที่จีนเข้าไปปลูกสร้าง บางส่วนนั้นเข้าไปอยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์ กรณีการสร้างลานบินใน Fiery Cross ได้ส่งผลเป็นภัยคุกคามต่อประเทศพิพาทอื่นๆ ในทะเลจีนใต้ ที่แม้ว่าประเทศเหล่านั้นจะมีลานบินบนเกาะในทะเลจีนใต้ แต่ก็ไม่ได้มีลานบินขนาดใหญ่เท่าที่จีนสร้างเพื่อรองรับเครื่องบินรบ Bomber ของกองทัพ
อ.ปองขวัญได้อภิปรายบทบาทของอาเซียนในกรณีข้อพิพาททะเลจีนใต้ ซึ่งอาเซียนมีความพยายามแก้ไขปัญหาโดยสันติ เห็นได้จากความพยายามในการร่าง CoC ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 และในปี 2002 ก็ได้ออก ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea -DOC) แต่ยังไม่มีกรอบกระบวนการแก้ไขข้อพิพาท ขณะที่ CoC ยังไม่สามารถตกลงกันได้ นอกจากนี้ มีข้อพิจารณาด้วยว่า ประเทศในอาเซียนที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงกับประเทศที่มีข้อพิพาททะเลจีนใต้ก็พยายามหลีกเลี่ยงและวางตัวเป็นกลาง เหตุผลสำคัญมาจากการที่ประเทศในอาเซียนต่างก็มีความสัมพันธ์กับจีนโดยเฉพาะการด้านเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็มีบางประเทศที่มีข้อพิพาทกับจีนก็ไม่ได้อยากมีปัญหากับจีน สุดท้ายได้กล่าวถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศของประเทศที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้นนั้น สามารถพิจารณาได้จาก ประการแรก กำลังทางทหารและเศรษฐกิจ ประการที่สอง เป็นประเด็นเชิงภาพลักษณ์ไม่ว่าจะเป็นของประเทศนั้นๆ หรือของผู้นำ ประการสุดท้ายเป็นความต้องการรักษาบรรทัดฐานระหว่างประเทศ