เรื่องโดย ณัฐวุฒิ เนาวบุตร
เช้าวันใหม่พร้อมเสียงนาฬิกาปลุกดังขึ้น เหล่าชาวไทยทั้งสามลุกจัดแจงตัวเองเพื่อเตรียมการเดินทางอีกครั้งไปยังเกาะชวา พวกเราเริ่มต้นที่เมืองเซอมารัง (Semarang) อันเป็นเป้าหมายหลักของทุกคนในการไปร่วมพิธีวิวาห์ โดยเจ้าของเกสเฮาส์ขับรถมาส่งที่สนามบินตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง ผมแทบจำอะไรที่สนามบินและตอนขึ้นเครื่องไม่ได้เลย เพราะเพียงแค่ได้สัมผัสที่นั่งบนเครื่องปั๊บ ผมก็หลับไปทันใด ตื่นอีกทีก็ใกล้ถึงเมืองเซอมารังแล้ว
เมื่อมาถึงสนามบินเล็กๆ ในเมืองแห่งนี้ รุ่นพี่ที่มาก่อนกับเพื่อนชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีนอีก 2 คนก็มารอรับ ยังไม่รวมเพื่อนชาวอินโดนีเซียที่เคยมาเรียนที่ไทยและรุ่นพี่อีกคนที่กำลังตามมาจากกรุงจาการ์ตา แก๊งเราจึงเป็นแก๊งที่ใหญ่อยู่พอควร
ตอนก่อน ผมเล่าไปนิดหน่อยแล้วว่า เซอมารังในปัจจุบันไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวสำหรับชาวต่างชาติ เพราะไม่มีสถานที่ตื่นตาตื่นใจขนาดใหญ่เหมือนอย่างจาการ์ตา (Jakarta) บาหลี (Bali) หรือยอกยาการ์ตา (Yogyakarta) แต่เมืองเซอมารังยังพอมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ให้เห็นอยู่บ้าง เพราะเมืองนี้ถือเป็นเมืองภายใต้การดูแลของบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ หรือ VOC ในช่วง ค.ศ. 1678
ที่น่าสนใจอีกอย่างคือเมืองเซอมารังได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเมืองที่มีประชากรเชื้อสายจีนอยู่หนาแน่นที่สุดในอินโดนีเซีย ดังนั้นการตามหาร้านอาหารที่มีหมูจึงไม่ใช่เรื่องยาก แต่คนเชื้อสายจีนที่นี่ส่วนใหญ่จะพูดจีนไม่ได้แล้วเพราะถูกนโยบายกลืนกลาย จะมีเพียงคำเรียกคนในครอบครัวอย่างเช่น “อะเจ๊ะ” ที่เอาไว้เรียกพี่สาว ที่ยังพอใช้กันอยู่บ้าง
เมื่อมาถึงทั้งที ผมจึงให้เพื่อนแนะนำของเด็ดของเมืองเซอมารัง มื้อแรกประเดิมด้วยอาหารท้องถิ่นที่ร้าน Warung Makan Asem-Asem Koh Liem ร้านนี้ถือเป็นร้านที่มีชื่อเสียง แต่หากไม่ใช่คนท้องถิ่นคงไม่รู้ว่าร้านเปิดหรือไม่ เพราะหน้าร้าน (ไม่ใช่เฉพาะที่ร้านนี้) เอาผ้าใบมาบังไว้จนยากจะเห็นภายใน
ของขึ้นชื่อของที่นี่คือ Asem-Asem Daging ซุปเนื้อรสชาติอมเปรี้ยวทานกับข้าวสวย เพื่อเสริมความอร่อยเล็กน้อยด้วยสะเต๊ะเนื้อ (Satay) โดยนอกจากอาหารแล้ว มาที่นี่ยังจะตกใจกับปฏิทินมากกว่าร้อยฉบับจากบริษัทต่างๆ ที่ติดอยู่ทั่วทั้งร้านโดยไม่เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ ถามเพื่อนจึงได้ความว่าเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความอร่อย ยิ่งอร่อย ยิ่งดัง ปฏิทินก็จะยิ่งเยอะ เพราะเหมือนกับการมาขอใช้พื้นที่โฆษณา ดังนั้นไม่ใช่ว่าใครจะมาติดกันได้แบบมั่วๆ สุ่มสี่สุ่มห้า ต้องมีค่าติดด้วย
ต่อมา เพื่อนพาไปรู้จักกับลุมเปีย (Lumpia) หรือบางร้านอาจเขียนเป็น “Lunpia” อย่างร้านเจ้าเก่าแก่ชื่อ “Lunpia Mataram” ที่เราไปซื้อมา ลุมเปียมีลักษณะคล้ายปอเปี๊ยะ แต่ของที่เมืองนี้เป็นไส้หน่อไม้ผัดมีทั้งแบบทอดและไม่ทอด ทานพร้อมน้ำจิ้มหวาน เราซื้อมาเก็บไว้กินตอนบ่ายๆ ยามหิว
วันที่แสนยาวนานยังไม่จบเสียที เพราะนอกจากอาหารพื้นเมืองในแบบดั้งเดิมแล้ว พื้นที่ของความทันสมัยอย่างห้างสรรพสินค้าก็คือพื้นที่ที่เราลงสำรวจเช่นกัน เพราะถึงแม้ว่าห้างที่ไทยและอินโดนีเซียจะไม่ต่างกันมาก แต่มาอินโดฯ ทั้งทีก็ต้องมาลองโดนัทขึ้นชื่อที่เมืองไทยไม่มีอย่างเจโค โดนัทส์ (J.Co Donuts) เรียกได้ว่ามากี่ทีก็ไม่เคยพลาดเพราะราคาไม่แพง ที่นี่สามารถสั่งโดนัทอย่างเดียว หรือจะซื้อเครื่องดื่มแถมโดนัท 1 ชิ้นก็ได้ ภายในร้านยังมีไวไฟฟรีให้ใช้บริการ เราจึงพลาดไม่ได้ที่จะลงรูปในโลกโซเชียลเพื่ออวดเพื่อนในไทยให้น้ำลายสอเล่นๆ
เย็นวันนั้นเอง เราทั้งหมดเดินทางไปยังหนึ่งในตึกที่สำคัญที่สุดของเมืองเซอมารัง ผู้คนที่นี่ต่างรู้จักกันในชื่อ ตึกลาวังเซวู (Lawang Sewu) ซึ่งแปลว่า “พันประตู” เพราะเป็นตึกขนาดใหญ่ที่มีประตูและหน้าต่างจำนวนมาก
สมัยก่อน ที่นี่เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของการรถไฟของเกาะชวา สร้างโดยบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ แต่ปัจจุบันจะรู้จักกันในนาม “ตึกผีสิง” เพราะเชื่อกันว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองอินโดนีเซีย มีผู้คนจำนวนมากถูกจับมาทรมานและตายที่นี่ ลาวังเซวูจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับการล่าท้าผี (แบบมีไกด์) ให้กับนักท่องเที่ยวรุ่นหลัง
เช้าวันถัดมาซึ่งเป็นช่วงของการเตรียมงานวันสุดท้าย เราขึ้นไปเยี่ยมบ้านเพื่อนที่กำลังจะแต่งงาน แต่ก็ไม่มีอะไรให้ช่วยมากนักเพราะทางผู้ใหญ่เตรียมการหมดแล้ว เราจึงเป็นแขกไปร่วมงานแต่งงานวันจริงเท่านั้น
พิธีวิวาห์ที่นี่เหมือนพิธีของชาว “คริสตัง” หรือคาทอลิกในบ้านเราทั่วๆ ไป แต่สิ่งที่แตกต่างกันชัดเจนคือคนที่นี่เรียกพระเจ้าด้วยคำเดียวกันไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด นั่นก็คือ “อัลลอฮ์” (Allah)
พอช่วงค่ำก็เป็นงานเลี้ยงรับรองแขกต่างๆ เรานั่งรวมกันในโต๊ะที่เจ้าภาพเตรียมไว้ให้ มีการสร้างความบันเทิงต่างๆ ไม่ต่างจากเมืองไทย จนเมื่อเลิกงานก่อนกลับ จึงพบกับป้ายแสดงความยินดีประดับด้วยดอกไม้ตลอดทางออก ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมของที่นี่ในการแสดงความยินดีและการอวยพรให้คู่บ่าวสาว
แม้จะเลิกงานแล้ว แต่เรายังไปหาของกินข้างข้างนอกกันต่อ พวกเราได้ลองโซโตไก่ (Soto Ayam) และที่เด็ดมากจริงๆ จนต้องวนรถกลับไปซื้ออีกรอบคือ ตาฮูเปอติส (Tahu Petis) เต้าหู้ทอดกรอบสอดไส้คล้ายๆ น้ำพริกเผา
ในวันสุดท้าย ทุกคนเริ่มแยกย้ายกันกลับ เราจึงไปส่งพี่ที่มาจากไทยด้วยกันที่สนามบิน ส่วนผมเลือกที่จะเดินทางต่อไปยังเมืองมาลัง (Malang) พร้อมลังชาไทยใบเดิมด้วยรถไฟ
การซื้อตั๋วรถไฟที่นี่นั้นต้องมีการยืนยันด้วยเอกสารอย่างหนังสือพาสปอร์ต และอาจใช้เวลานานหน่อย หากไม่ได้จองผ่านเว็บไซต์มาก่อน เพราะปกติ สถานีรถไฟในเกาะชวาจะคนเยอะเป็นทุนเดิม เพราะว่ากันว่า รถไฟเป็นการเดินทางที่ทั้งสะดวก สะอาด และตรงต่อเวลา แถมยังมีปลั๊กให้ชาร์ตแบตเตอรี่โทรศัพท์ด้วย
ก่อนจากลากัน เพื่อนชาวอินโดนีเซียแวะพาไปชิม ตาฮู เปลอโต๊ะก์ (Tahu Pletok) ของกินขึ้นชื่อของเมือง แล้วขับรถกลับมาส่งที่สถานีรถไฟเพราะกลัวจะหิว จริงๆ ยังมีอีกหลายอย่างที่ผมยังไม่ได้เล่าในตอนนี้ แต่เท่านี้หลายคนก็คงพอเห็นภาพแล้วว่า เสน่ห์ลำดับต้นๆ ของเซอมารังจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากของกิน