เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2559 โครงการ “จับตาอาเซียน” ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดประชุม TRF-ASEAN Research Forum ครั้งที่ 5 เรื่อง “จับตาเศรษฐกิจ CLMV และประเด็นวิจัย” ซึ่งเป็นการรายงานความก้าวหน้าของโครงการวิจัยเศรษฐกิจประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม) จำนวน 4 โครงการให้กับผู้เกี่ยวข้องอันประกอบไปด้วยตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการและสื่อมวลชนร่วมรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงและพัฒนาโครงการวิจัย
ผศ.ดร. กิริยา กุลกลการ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอความคืบหน้าการวิจัยและความเคลื่อนไหวเศรษฐกิจของกัมพูชา ได้ชี้ให้เห็นว่า กัมพูชามีแนวโน้มจะหลุดออกจากกลุ่มประเทศที่มีระดับการพัฒนาน้อยที่สุด (The Least Developed Countries: LDCs) ตามเกณฑ์ขององค์การสหประชาชาติ พร้อมกับการถูกตัดสิทธิพิเศษว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าและยกเลิกการกำหนดโควตานำเข้าให้แก่สินค้านำเข้า (Everything But Arms: EBM) แต่จะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences: GSP) ทดแทน โดยคาดว่ากัมพูชาจะได้รับสิทธิ GPS ภายในปี 2569
ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559 ธนาคารโลกระบุให้กัมพูชาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับต่ำ (Lower Middle Income Economies) หลังจากรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ของกัมพูชามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ระดับความยากจนภายในประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว จากร้อยละ 50 ในปี 2550 ลดลงเป็นร้อยละ 21 ในปี 2554 หรือคิดเป็นจำนวน ลดลงจาก 7 ล้านคน เหลือ 3 ล้านคน ซึ่งเป็นผลมาจากราคาข้าวที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดี แม้จะสามารถหลุดพ้นจากรายได้ความยากจนได้ แต่ยังมีความเสี่ยงและความเปราะบางสูง
นอกจากนี้ ผศ.ดร.กิริยา ยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า ภาคอุตสาหกรรมของกัมพูชามีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมระยะยาวของกัมพูชาระหว่างปี 2558 – 2568 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) เพิ่มสัดส่วนอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพในการตลาดให้มีมูลค่าสูงขึ้น เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ไม่เน้นเฉพาะสินค้าอุปโภค – บริโภค แต่หมายรวมถึงการประกอบเครื่องจักร เครื่องกล และอุปกรณ์ไฟฟ้า รวมถึงการแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติ (2) สนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (3) แปรรูปสินค้าเกษตร (4) สนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับการผลิตของประเทศอื่นในภูมิภาค และอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศ พลังงาน และอุตสาหกรรมหนัก ขณะที่การศึกษาวิจัยในขั้นต่อไปจะศึกษาการเปลี่ยนแปลงของประชากรในกัมพูชา ทั้งนโยบายประชากรและนโยบายแรงงาน รวมถึงด้านสภาพตลาดแรงงานและประสบการณ์จ้างแรงงานโดยนักธุรกิจกัมพูชา
ทางด้านอ.ดร.เณศรา สุขพานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอความก้าวหน้าการวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจของลาว โดยชี้ให้เห็นว่า ลาว ได้ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 ระหว่างปี 2558 – 2563 มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและความทันสมัยภายในประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ สู่สถานะการเป็นประเทศรายได้ระดับกลางถึงสูง (Upper Middle Income Economies) ภายในปี 2573
รวมทั้งยังดำเนินการเพื่อให้หลุดออกจากกลุ่มประเทศที่มีระดับการพัฒนาน้อยที่สุด (The Least Developed Countries: LDCs) ตามเกณฑ์ขององค์การสหประชาชาติให้ได้ภายในปี 2563 ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีและทักษะที่เหมาะสม มาใช้ในการสนับสนุนปัจจัยแวดล้อมของประเทศ
ก่อนหน้านี้ ลาวใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 ระหว่างปี 2554 – 2558 มีเป้าหมายหลักคือ (1) การสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความปลอดภัย ความสงบ และความีเสถียรภาพ โดยมีอัตราการเติบโตของรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8 ต่อปี และมี GDP ต่อหัวอย่างน้อยร้อยละ 1,700 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี (ประมาณ 56,000 บาทต่อปี)
พร้อมกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDGs) อันประกอบด้วย (1) ขจัดความยากจนและความหิวโหย (2) ให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษา (3) ส่งเสริมบทบาทสตรีและความเท่าเทียมกันทางเพศ (4) ลดอัตราการตายของเด็ก (5) พัฒนาสุขภาพสตรีมีครรภ์ (6) ต่อสู้โรคเอดส์ มาลาเรีย และโรคสำคัญอื่นๆ (7) รักษาและจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (8) ส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในประชาคมโลก ที่เกือบทุกประเทศทั่วโลก ร่วมกันประชุมสุดยอดแห่งสหัสวรรษขององค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ในปี 2543
การวิจัยในลำดับต่อไปจะเน้นศึกษาการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในลาว ตั้งแต่วิวัฒนาการการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในลาว โดยเฉพาะบทบาทการลงทุนของไทย จีน และเวียดนาม รวมทั้งพิจารณาเลือกตัวแทนภาคการผลิตมาศึกษาทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรมและภาคบริการ
อ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอความคืบหน้าและตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจของเวียดนาม เริ่มต้นอธิบายภาพรวมเศรษฐกิจเวียดนามผ่านการเติบโตของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนลดลงอย่างเห็นได้ชัด ตัวชี้วัดเศรษฐกิจมหภาคภายในประเทศจะพบว่า เวียดนามพยายามกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและสินเชื่อ อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มค่อยๆ ลดลงหลังจากมีนโยบาย Doi Moi ซึ่งในปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 สำหรับหนี้สาธารณะมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปีโดยในปี 2558 สูงเกินกว่าร้อยละ 60
สำหรับตัวชี้วัดเศรษฐกิจในภาคต่างประเทศนั้น พบว่า การนำเข้าและส่งออกสินค้าไปต่างประเทศของเวียดนามมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นในทุกปี โดยการนำเข้าสินค้าสำคัญของเวียดนามเป็นสินค้าเครื่องจักร สินค้าขั้นกลาง ขณะที่สินค้าส่งออกสำคัญมักเป็นโทรศัพท์และชิ้นส่วนอุปกรณ์ เสื้อผ้า คอมพิวเตอร์ รองเท้า เป็น ด้านสถานการณ์การค้ากับไทยมีอัตราขยายตัวลดลง อย่างไรก็ตาม มูลค่าการค้าชายแดนกลับเพิ่มขึ้นมากหลังจากการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 ด้วยการที่เวียดนามมีตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ มีการแบ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับการลงทุนรวมทั้งยังให้สิทธิพิเศษในการลงทุนต่างๆ เช่น สิทธิพิเศษทางภาษี สิทธิพิเศษการใช้ที่ดิน ส่งผลให้สามารถดึงดูดการลงทุนได้ดี มีเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนมากที่สุดในปี 2558 ถัดมาเป็นมาเลเซียและญี่ปุ่น
มิติทางสังคมบนเส้นทางการพัฒนาของเวียดนามมีระดับความเหลื่อมล้ำสูงปานกลาง และมีแนวโน้มสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากการพัฒนาประเทศยังคงกระจุกตัวตามเมืองใหญ่ ขณะที่ชนบทยังมีคนยากจนอยู่มากและคนเหล่านี้มักจะเป็นชนกลุ่มน้อย
สำหรับการวิจัยต่อไปจะพิจารณาประเด็นนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจเวียดนามในภาพรวม แผนพัฒนาอุตสาหกรรมวิเคราะห์ในมุมมองของ New Structural Economics ผลของ Local institutions ต่อการพัฒนา Nonfarm business ตลอดจนนัยต่อประเทศไทยในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมและการไปลงทุนในเวียดนาม
สุดท้าย อ.ดร. อนิณ อรุณเรืองสวัสดิ์ นำเสนอความก้าวหน้าของเศรษฐกิจเมียนมาและประเด็นวิจัย ชี้ให้แผนและแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเรือนหลังจากที่มีการเลือกตั้งไปเมื่อปลายปี 2558 แม้ว่าเมียนมาจะมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจปี 2553-2573 ซึ่งมีเป้าหมายการขยายตัวของ GDP ร้อยละ7.2 โดยมีมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวให้ได้ 180 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะนำประเทศไปสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง แต่เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2559 รัฐบาลชุดปัจจุบันเมียนมาได้ประกาศแผนอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรมโดยแบบระยะการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็น 3 ระยะ รวมทั้งให้มีเขตพิเศษทางอุตสาหกรรมการเกษตรในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ ล่าสุดในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ ได้ออกนโยบายเศรษฐกิจ 12 ข้อ ซึ่งประเด็นหลักเน้นการส่งเสริมการแข่งขันเสรี การสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ลดความยากจนและส่งเสริมธุรกิจ SMEs
การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมามีอัตราเติบโตสูงเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี มี GDP per Capita สูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามยังคงมีการขาดดุลการคลังและดุลบัญชีเดินสะพัดมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณารายภาคเศรษฐกิจพบว่า สาขาบริการมีการขยายตัวมากสุดโดยเฉพาะด้านกิจการโทรคมนาคมและการขนส่ง อย่างไรก็ตามเพื่อพิจารณาโครงสร้างเศรษฐกิจในแต่ละเขตของประเทศจะพบว่า เขตปกครองส่วนใหญ่เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตร มีเพียงไม่กี่เขตที่เป็นศูนย์กลางพาณิชย์ (ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์) และอุตสาหกรรม (Rakhine)
ด้านสถานะการคลังของประเทศส่วนใหญ่แล้วมีรายจ่ายสูงกว่ารายรับตลอดหลายปีที่ผ่านมา และหนี้ภาครัฐลดลงจากร้อยละ 55 ในปี 2552 มาอยู่ที่ร้อยละ 32 ในปีที่แล้ว ส่วนอัตราเงินเฟ้อนั้นพบว่า เมื่อปี 2558 อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นอันเนื่องมาจากเกิดน้ำท่วมใหญ่พื้นที่เกษตรเสียหายมากและราคาสินค้าเพิ่มขึ้นสูง
ในปัจจุบันเมียนมาหันมาพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยให้ใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารเพิ่มขึ้น อนุญาตให้ปล่อยกู้บริษัทต่างชาติ การออกกฎหมายสถาบันการเงินฉบับใหม่ปี 2559 มีการเปิดตลาดหลักทรัพย์ Yangon Stock Exchange เมื่อปลายปีที่แล้วเพื่อเป็นแหล่งระดมเงินทุน ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยปีที่แล้วมีสัดส่วน 30.57 ของ GDP มูลค่า 20,476 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้โครงสร้างการลงทุนส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่กิจการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม โดยมีจีน สิงคโปร์และฮ่องกงเป็นผู้ลงทุนหลัก แม้ว่า เมียนมายังมีข้อกำหนดจำกัดการลงทุนของชาวต่างชาติในภาคอุตสาหกรรม แต่ก็ได้ให้สิทธิประโยชน์บางประการเพื่อดึงดูดการลงทุนด้วย เช่น การเช่าที่ดิน การยกเว้นภาษีเครื่องจักร วัตถุดิบ เป็นต้น
สำหรับการศึกษาในขั้นต่อไปซึ่งเป็นประเด็นการลงทุนจากต่างประเทศในภาคทรัพยากรธรรมชาติจะศึกษาวิจัยการพัฒนาอุตสาหกรรมและการจัดสรรรายได้จากภาคทรัพยากรสำหรับพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างความสมานฉันท์คนในพื้นที่กับแหล่งอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันก็ศึกษามิติทางกฎหมายการค้าการลงทุนของเมียนมาตลอดจนภาพรวมการค้า การลงทุนในอุตสาหกรรมภาคทรัพยากรธรรมชาติ