เรื่องโดย ณัฐวุฒิ เนาวบุตร
หลังจากนั่งรถไฟมาประมาณเจ็ดชั่วโมงจากเมืองเซอมารัง (Semarang) ตั้งแต่หกโมงครึ่งจนถึงสถานีมาลัง (Malang) ช่วงประมาณตีหนึ่งกว่าๆ เพื่อนและพี่อีกคนก็มารอรับตรงด้านหน้าสถานีรถไฟ เพื่อนคนนี้เรียนที่โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามาด้วยกัน แล้วจึงมาแลกเปลี่ยนทุนดาร์มาซิสวา (Darmasiswa) ของรัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่ให้จำนวนทุนเยอะมากสำหรับผู้สนใจภาษาและวัฒนธรรมของอินโดนีเซีย ส่วนพี่อีกคนคือคนที่ให้ช่วยขนชามาจากเมืองไทยและเป็นคนที่ได้ทุนมาเรียนที่อินโดนีเซียเช่นเดียวกัน เราทั้งสามคนไม่รอช้ารีบขึ้นมอเตอร์ไซค์เดินทางกลับที่พักเพราะจากบ้านมาสถานีรถไฟก็ไกลอยู่พอสมควร
จากจุดเริ่มต้นแค่คิดว่ามาเยี่ยมเพื่อนในเมืองนี้เฉยๆ มันทำให้เราได้อะไรกว่าที่เราคิด เราเริ่มเช้าของวันใหม่ด้วยอาหารหน้าปากซอยอย่าง “นาซิ เปอเจ็ล” (Nasi Pecel) อาหารชวาที่หากินง่ายนอกเหนือจากนาซิโกเร็ง (Nasi Goreng) หรือข้าวผัด อาหารจานนี้ทำมาจากผักต้มและทอดต่างๆ ราดด้วยน้ำซอสถั่วลิสง (รสชาติคล้ายซอสราดสะเต๊ะ) แล้วก็ไปซื้อขนมเกอตุ๊ก (Getuk) สีสันสดใสเพื่อเก็บไว้กินภายหลัง เมื่อมีอาหารในท้องแล้วก็ถึงเวลาเที่ยวชมเมือง เราขี่มอเตอร์ไซค์ไปยังตลาดเพื่อส่องดูวิถีชีวิตผู้คนของที่นี่
มาลังได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่อากาศดีเมืองหนึ่งในอินโดนีเซีย ตลอดสองข้างถนนยังเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ซึ่งปลูกไว้ตั้งแต่สมัยอาณานิคมให้ร่มเงาและความร่มรื่นในยามแดดแรง เราผ่านโบสถ์คริสต์ มัสยิด รวมถึงบาไลโกตา (Balai Kota) หรือที่ว่าการเมือง ก่อนเข้าตลาดเพื่อนพาไหว้พระที่วัด Eng An Kiong วัดจีนใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในเมือง
ด้านข้างตลาดมีพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์บุหรี่เบนโทเอล (Museum Serajah BENTOEL ) บุหรี่ที่มีต้นกำเนิดมาจากเมืองนี้และใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ เดิมทีที่นี่เป็นบ้านของคุณอ่อง ฮ็อก เหลียง (Ong Hok Liong) เจ้าของและผู้ก่อตั้งกิจการและเปิดให้เข้าชมฟรี พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รวบรวมประวัติต่างๆ ของบริษัทและบุหรี่ในเครือก่อนที่จะขายกิจการให้บริษัทสัญชาติอังกฤษ บุหรี่ในสังคมอินโดนีเซียนั้นถือได้ว่าเป็นสิ่งที่หาซื้อได้ง่ายและราคาถูก ทุกคนจึงเข้าถึงบุหรี่ได้ง่ายแม้กระทั่งเด็กๆ เองก็ตาม
ในที่สุดก็มาถึงตลาดใหญ่เมืองมาลัง (Pasar Besar Kota Malang) ตลาดใจกลางเมืองที่รวบรวมสินค้าทุกรูปแบบเสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนของสด ปลา ผัก และผลไม้ และสิ่งที่เราอดใจซื้อไม่ได้คือสละอินโดนีเซีย รสชาติหวานกรอบต่างจากของไทย แล้วจึงขี่รถคันน้อยต่อทั่วเมือง ผ่านตลาดนกแหล่งขายนกและสัตว์ต่างๆ ไม่ไกลจากสะพานข้ามแม่น้ำที่เราลงลงไปสำรวจต่อ
ตอนเย็นเรามีนัดกับพี่ที่ให้เอาชามาให้ เราคุยกันเรื่องชีวิตในอินโดนีเซีย ชีวิตที่นี่ช่างมีสีสันจนทำให้รู้สึกว่าอยากสมัครมาแลกเปลี่ยนที่นี่เช่นกัน พวกเราคุยกันถึงเรื่องชาไทยซึ่งถือเป็นธุรกิจที่น่าสนใจในโลกมาเลย์ เพราะด้วยกลิ่น สี และรสชาติที่หวานหอมละมุนเป็นเอกลักษณ์ทำให้ติดใจคนอินโดนีเซียและคนมาเลเซีย
ในเช้าวันรุ่งขึ้นเราเปลี่ยนจากการชมวิถีชีวิตสู่โหมดประวัติศาสตร์ ด้วยการ “ตามล่าหาจันทิ” หรือจันดิ (Candi) ซึ่งเป็นศาสนสถานหรือเทวาลัยคล้ายเจดีย์ เพราะเมืองนี้ถือได้ว่าเป็นเมืองประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงแห่งอาณาจักรสิงหะส่าหรีในอดีต ดังนั้นจึงมีจินทิกระจัดกระจายในที่ต่างๆ ของเมือง แต่ต้องบอกก่อนว่าถ้าใครจะมาดูจันทิก็ต้องหารถมาเองเพราะไม่มีรถขนส่งสาธารณะให้บริการ
เราเริ่มจากจุดที่ใกล้บ้านที่สุดคือ จันทิ บาดุต (Candi Badut) จันทิสร้างขึ้นในศาสนาฮินดู ด้านข้างจันทิมีการสลักภาพเป็นรูปพระแม่ทุรคาซึ่งเป็นปางหนึ่งของพระอุมา รวมทั้งยังพบฐานโยนีและศิวลึงค์ภายใน โดยจันทิแห่งนี้ยังเป็นจันทิที่เก่าแก่ที่สุดในชวาตะวันออกตามศิลาจารึกที่พบในบริเวณดังกล่าว
เราไปต่อยังจันทิอีกแห่งที่สำคัญมากๆ ของเมือง คือจันดีสิงหะส่าหรีหรือสิงกอส่าหรี (Candi Singosari) ซึ่งมีความงามแบบชวาตะวันออกที่ดูน่าเกรงขาม จันทิแห่งนี้เป็นที่บรรจุพระอัฐิของกษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรสิงหะส่าหรี และหลังจากนั้นจะถูกแทนที่ด้วยราชวงศ์มัชปาหิตซึ่งเป็นราชบุตรเขย ทั้งยังแผ่อิทธิพลไปทั่วชวา สุมตรา และแหลมมลายู
จันทิที่สุดท้ายของวันนี้คือ จันทิ ซุมเบอราวัน (Candi Sumberawan) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเชิงภูเขาไฟอรุชน แต่การมาจันทิแห่งนี้เรียกว่าลำบากสุดของวัน เพื่อนถึงกับบอกว่าคงไม่มาอีกแน่ๆ เราต้องขี่รถมอเตอร์ไซค์เข้าป่า ผ่านนาขั้นบันได ข้ามเนินสูงจนต้องมาเข็นรถ ลำธารสายเล็กๆ กว่าจะถึง แม้จะเหลือจันทิให้เห็นเพียงองค์เดียว แต่ก็ต่างไปจากสองจันทิที่เราไปมา คือเป็นศาสนสถานในศาสนาพุทธอย่างเห็นได้ชัด
หลังจากหมดแรงเพื่อนแนะนำร้านอาหารระหว่างทางเข้าเมือง ให้ลองบะหมี่ต้มยำ ซึ่งต้มยำเองก็เป็นอีกอย่างที่ฮอตฮิตที่นั่น แต่อย่าคาดหวังว่ารสชาติจะเหมือนต้มยำในบ้านเรานะครับ เพราะมันถูกดัดแปลงจนกลายเป็นต้มยำสไตล์ของเขาไปแล้ว แต่ที่แน่ๆ ยังคงความเผ็ดไว้เหมือนของเรา เราสองคนย้ายไปนอนบ้านเพื่อนอีกคนซึ่งทางเข้าบ้านติดทุ่งข้าวเขียวขจี มีภูเขาไฟซึ่งอาจเป็นลูกเดียวกับที่เราขี่รถไปมาเป็นฉากหลัง
จุดมุ่งหมายใหม่ของวันต่อมาคือ บลิตาร์ (Blitar) แต่ออกเสียงเป็น บลิ-ตาด ตามชาวชวา (Blitar) บ้านเกิดและที่พักสุดท้ายของซูการ์โนและครอบครัว เรานั่งรถไฟกันไปตั้งแต่เช้ากับพวกเด็กแลกเปลี่ยนคนอื่น กว่าจะถึงก็ประมาณช่วงเที่ยงๆ แดดกำลังแรง
เราไปเยือนสู่สานซูการ์โน (Makam Soekarno) ที่น่าสนใจคือแม้จะได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งชาติอินโดนีเซีย แต่คนก็มักเรียกท่านว่า “บัง การ์โน” หรือแปลว่า “พี่การ์โน” แทน และอีกที่ที่ขาดไม่ได้ (ให้คุ้มค่ารถ) คือจันทิ เปอนาตารัน (Candi Penataran) จันทิซึ่งสร้างในยุคสมัยอาณาจักรมัชปาหิตและเป็นจันทิที่ใหญ่ที่สุดในชวาตะวันออก ก่อนจะเดินทางกลับสู่เมืองมาลังในตอนเย็น
เรากลับถึงมาลังตอนเย็น แต่ด้วยความที่อยากจะไปภูเขาไฟโบรโม (Gunung Bromo) จึงจำเป็นต้องซื้อทัวร์ไปแทนเพราะหาเพื่อนคนอินโดนีเซียแชร์ค่ารถไม่ทัน อาจแพงหน่อยประมาณ 1,500 บาท แต่ก็ถือว่าซื้อความสะดวก รถจี๊ปมารับเราตอนเที่ยงคืนแล้วเดินทางไปถึงจุดมุ่งหมายช่วงตีสามกว่าๆ
กลางอุทยานภูเขาไฟโบรโมตอนกลางคืนเป็นช่วงเวลาที่หนาวมากๆ รถจอดให้ชมพระจันทร์กลางหุบเขาก่อนจะไปยังจุดชมพระอาทิตย์ ซึ่งคนเยอะมากแต่ก็คุ้มกับการรอคอยที่จะชมความสวยงามของธรรมชาติ รถจี๊ปขับพามากินข้าวด้านล่างอีกครั้งแล้วจึงพาเราไปยังใกล้ปล่องภูเขาไฟ
ที่โบรโมไม่ใช่มีแค่ภูเขาไฟ ไม่ไกลจากทางขึ้นภูเขาไฟคือวัดฮินดูของชาวชาติพันธุ์เติงเกอร์ (Tengger) ชนเผ่าที่เชื่อว่าตนสืบเชื้อสายมาจากเจ้าชายแห่งราชวงศ์มัชปาหิตและมีภาษาเป็นของตนเอง นี่ทำให้ความคิดของผมเปลี่ยนไปจากที่เชื่อว่า เฉพาะในเกาะบาหลีของอินโดนีเซียเท่านั้นที่ยังคงนับถือฮินดู
เรามายังจุดสุดท้ายของทัวร์คือน้ำตกโจบัน เปอลังกี (Air Terjun Coban Pelangi) รถจี๊ปก็มาส่งเรายังที่พัก เหลือไม่อีกกี่ชั่วโมง ผมต้องจากเพื่อนและเมืองมาลังแห่งนี้ เขาเลยอาสาพาเที่ยวรอบเมืองเป็นความทรงจำสุดท้ายก่อนมาส่งผมขึ้นรถไฟเพื่อเดินทางต่อไปยังเมืองยอกยาการ์ตา