home

นั่งรถไฟไปมาเลย์ แล้วต่อรถเมล์ไปสิงคโปร์

กุมภาพันธ์ 4, 2017
นั่งรถไฟไปมาเลย์ แล้วต่อรถเมล์ไปสิงคโปร์

โดย วราภรณ์ เพ็ชรอยู่

เมื่อเพื่อนเอ่ยปากชวนนั่งรถทัวร์จากหาดใหญ่ไปสิงคโปร์ ฉันเริ่มสงสัยว่าเราสามารถนั่งรถทัวร์ข้ามประเทศประเทศได้จริงหรือ พวกเราจึงสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า นอกจากจะนั่งรถทัวร์ข้ามประเทศได้แล้ว เรายังสามารถนั่งรถไฟข้ามประเทศได้อีกด้วย ถ้านั่งรถไฟจากไทย ก็จะไปสิ้นสุดที่สถานีบัตเตอร์เวอร์ธ ประเทศมาเลเซีย และเรายังสามารถนั่งต่อจากสถานีบัตเตอร์เวอร์ธไปยังจุดผ่านรถไฟวุดแลนด์ หรือ Woodlands CIQ ของสิงคโปร์

พวกเราออกเดินทางจากสถานีหัวลำโพง ด้วยขบวนรถไฟที่ 35 “กรุงเทพฯ – บัตเตอร์เวอร์ธ” เป็นรถไฟแบบตู้นอนปรับอากาศ โดยจองเตียงล่างในราคา 1,210 บาท

การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปสิ้นสุดที่บัตเตอร์เวอร์ธใช้เวลาประมาณ 20 ชั่วโมง ขณะอยู่บนรถไฟพวกเราได้ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ เป็นเด็กสาววัยเรียนจากอินโดนีเซีย 5 คน น้องๆ บินตรงจากบาหลีเพื่อมาเที่ยวกรุงเทพฯ เมื่อสามวันก่อน จากนั้นก็นั่งรถไฟลงไปมาเลเซียเพื่อต่อไปยังสิงคโปร์ แล้วจึงบินกลับบาหลี พวกเรารู้สึกทึ่งในการเดินทางหาประสบการณ์ของน้องๆ เพื่อนบ้านอาเซียนของเราเป็นอย่างมาก

asean touch 2เมื่อรถไฟเข้าสู่สถานีหาดใหญ่ จะมีคนขึ้นมาเพื่อรอรับแลกเงินริงกิตเป็นระยะ ต่อด้วยสถานีปาดังเบซาร์ ซึ่งเป็นสถานีชายแดนไทย – มาเลเซีย เป็นที่ตั้งของด่านตรวจคนเข้าเมืองของทั้งสองประเทศ

ความอยู่พิเศษที่ทั้งสองด่านตั้งที่ทำการอยู่ในสถานีเดียวกัน โดยรถไฟจะจอดให้ผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางข้ามไปมาเลเซีย ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองของทั้งสองฝั่ง หลังจากนั้น รถไฟก็มุ่งหน้าเข้าสู่มาเลเซีย กระทั่งสิ้นสุดที่สถานีบัตเตอร์เวอร์ธ คณะของเราจึงรีบไปท่าเรือเฟอร์รี่ เพื่อข้ามเรือไปเที่ยวชมศิลปะตามกำแพงเมือง หรือ Wall art ตามตึกต่างๆ ที่เกาะปีนัง

“ปีนัง” เป็นรัฐหนึ่งของมาเลเซีย มีเมืองหลวงชื่อ “จอร์จทาวน์” ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลย์เชื้อสายจีน และมีมาเลย์เชื้อสายอินเดียบ้างประปราย คนเชื้อสายอินเดียจะอาศัยอยู่ในชุมชนชื่อ “Little India”

เราตัดสินใจพักค้างที่นี่ 1 คืน จากนั้นช่วงค่ำก็มุ่งหน้าหาชิมอาหารชนิดหนึ่งตามคำแนะนำของเพื่อน อาหารชนิดนั้นมีชื่อว่า “ลกลก” (Lok Lok) ลักษณะคล้ายจิ้มจุ่มบ้านเรา แต่ใช้ไม้เสียบอาหารไว้หลายชนิด ราคาอยู่ระหว่าง 50 เซนต์ – 1.8 ริงกิต วิธีการกินคือ หยิบไม้เสียบอาหาร แล้วนำไปลวกในหม้อ เมื่อสุกแล้วนำไปทานกับน้ำจิ้มที่เราเลือกเองตามใจชอบ

ในเช้าวันรุ่งขึ้น พวกเราเข้าชม “คฤหาสน์เปอร์รานากันปีนัง” (Pinang Peranakan Mansion) เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของคนจีนเชื้อสายมลายูที่เรียกว่า “บ๊าบ๋า – ย่าหยา” (Baba – Nyonya) แล้วไปต่อที่ “พิพิธภัณฑ์กล้อง” (Camera museum)

จากนั้น พวกเราถือโอกาสชิมอาหารพื้นเมืองที่เรียกว่า “นอมี่” ลักษณะคล้ายก๋วยจั๊บ ใส่เครื่องในและมีไข่พะโล้ต้ม แต่น้ำที่ใช้ราดนั้นคล้ายน้ำกระเพาะปลาบ้านเรา มีเครื่องปรุงให้เติมสองอย่างคือ ซอสพริกและซอสกระเทียม พออิ่มท้อง เราปิดท้ายอาหารมื้อนี้กันด้วย “ลอดช่อง” (Shendol) ของหวานชื่อดังของเมืองปีนัง ลักษณะคล้ายลอดช่องไทย ต่างกันที่ของที่นี่ใส่ถั่วแดงลงไปด้วย

asean touch 3ช่วงเย็น พวกเราตั้งใจนั่งรถเที่ยวชมจากปีนังไปคาเมรอน ไฮแลนด์ แต่ในวันนั้นกลับไม่มีเที่ยวรถ เราจึงเปลี่ยนแผนการเดินทางไปสิงคโปร์ในเวลาสามทุ่มแทน เราถึงยะโฮร์ บารู เมืองชายแดนมาเลเซีย – สิงคโปร์ประมาณแปดโมงเช้าของวันรุ่งขึ้น จากนั้นจึงนั่งรถทัวร์ไปที่โกลเด้นไมล์ คอมเพล็กซ์ (Golden Mile Complex) หรือบางคนเรียกว่า “Little Thailand” เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีชาวไทยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก  ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟใต้ดินนิโคล ไฮเวย์

รถไฟใต้ดินของสิงคโปร์แบ่งสายออกเป็นสีต่างๆ คล้ายบ้านเรา พวกเราจึงสามารถเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินเพียงอย่างเดียวได้เลย เพียงแค่โหลดแอพ Trip advisor มาไว้ในมือถือก็สามารถตามหาที่พักที่จองไว้ได้

ระหว่างเดินทางหาโฮสเทล พวกเราบังเอิญเจอคุณลุงชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีนท่านหนึ่ง คุณลุงอาสาบอกทาง แถมยังแนะนำที่ทานข้าวราคาถูกในย่านไชน่าทาวน์ให้กับแบคแพคเกอร์อย่างพวกเราอีกด้วย โดยไฮไลท์ของย่านนี้คือวัดแขกชื่อ “วัดเขี้ยวแก้ว” และร้านข้าวมันไก่ร้าน Tian Tian จากนั้น พวกเราไปซื้อตั๋วเข้า Universal Studio แล้วนั่งรถไฟใต้ดินไปเที่ยวชมมารีน่าเบย์แซนด์ (Marina Bay Sands) ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมอร์ไลออน (Merlion)

วันต่อมา พวกเราซื้อตั๋วรถบัส “สิงคโปร์ – กัวลาลัมเปอร์” แบบเที่ยวกลางคืน จากร้าน Starmart Express สาขาโกลเด้นไมล์ คอมเพล็กซ์ในราคาโปรโมชั่น 25 ดอลลาร์สิงคโปร์ เราออกเดินทางในเวลากลางคืนเพื่อจะได้ถึงกัวลาลัมเปอร์ในช่วงเช้า

ระหว่างรอเวลาขึ้นรถ พวกเราพากันไปเที่ยวตรอกฮาจิ (Haji Lane) เป็นตรอกเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยร้านขายสินค้ากระจุกกระจิกน่ารักๆ ทั้งยังมีศิลปะตามกำแพงให้ชมอีกด้วย แล้วไปต่อที่มัสยิดสุลต่าน (Masjid Sultan) โดยหากผู้หญิงต้องการเข้าไปข้างใน จะต้องแต่งกายสุภาพ ระหว่างการเดินชมจะต้องคอยระมัดระวัง เพราะบางจุดไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไป ก่อนกลับมายังท่ารถบัส พวกเราแวะไปสวนพฤษศาสตร์ธรรมชาติ (Gardens by the Bay) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพได้พอสมควร

เราถึง “สถานีขนส่งปูดูรายา” กรุงกัวลาลัมเปอร์ในเวลาประมาณตีสาม ลักษณะโดยรอบคล้ายคลึงกับสถานีขนส่งหมอชิตและสถานีขนส่งสายใต้ของไทย กระทั่งฟ้าเริ่มสว่าง พวกเราได้จองรถต่อไปยังคาเมรอน ไฮแลนด์ (Cameron Highlands) เป็นเที่ยวแรกราคา 35 ริงกิต ในเวลาประมาณ 08.30น.

asean touch 4คาเมรอน ไฮแลนด์ ถือเป็นเมืองตากอากาศที่มีชื่อเสียง ล้อมรอบด้วยหุบเขา ทำให้มีอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปี ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าว เต็มไปด้วยพืชเมืองหนาวและไร่ชา และประกอบด้วย 3 เมืองขนาดใหญ่ไล่ระดับตามความสูง ได้แก่ เมืองริงเรท เมืองทานาห์ราตา และเมืองบรินชาง พวกเราเลือกพักที่เมืองทานาห์ราตา เพราะที่พักราคาค่อนข้างถูก

เมื่อถึงเมืองทานาห์ราตา พวกเราแวะไปชิม Steamboat เป็นอาหารที่มีลักษณะคล้ายสุกี้ ตามที่หลายคนแนะนำว่าห้ามพลาดหากมาถึงที่นี่ จากนั้น พวกเราได้ตัดสินใจซื้อทัวร์แบบครึ่งวัน ในราคาคนละ 50 ริงกิต เพื่อเดินทางไปยังไร่ชา ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หากใครมีใบขับขี่สากล ก็สามารถเช่ารถจักรยานยนต์ ขับตระเวนไปยังพื้นที่ในบริเวณนั้นได้

พวกเราออกเดินทางไปยังไร่ชาด้วยรถแลนด์โรเวอร์รุ่นเก๋า โดยพี่คนขับรถทำหน้าที่เป็นผู้นำเที่ยวไปด้วยในตัว นอกจากพวกเราเองแล้ว ยังมีเพื่อนร่วมทางจากหลากหลายประเทศ เมื่อถึงไร่ชา พวกเราก็ไม่รอช้ารีบลงจากรถเพื่อไปสัมผัสบรรยากาศ พร้อมเก็บภาพไร่ชา รวมถึงไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตชาชื่อ Boh เพื่อดูขั้นตอนการผลิตชาไปพร้อมกับการชิมชา

นอกจากชมไร่ชาแล้ว ยังแวะไปชมไร่สตรอเบอร์รี่ และป่ามอสอีกด้วย ระหว่างทางกลับมายัง ณ จุดออกรถ เพื่อนร่วมทางในโปรแกรมทัวร์ชวนพวกเราไปเที่ยวต่อตอนเย็น ด้วยการนั่งรถโดยสารท้องถิ่นจากเมืองทานาห์ราตาไปยังเมืองบรินชาง ก่อนออกเดินทางไปยังกัวลาลัมเปอร์อีกทั้ง เพื่อเที่ยวชมย่านตึกแฝดปิโตรนาส และเดินทางกับไทยในวันรุ่งขึ้น

สำหรับจุดเด่นของการเดินทางในครั้งนี้ก็คือ “การเชื่อมระหว่างกันของระบบขนส่ง” นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ให้คล่องตัวมากขึ้นแล้ว ยังถือเป็นสิ่งที่ช่วยเปิดประสบการณ์แห่งการเดินทางในหลากหลายรูปแบบให้แก่พวกเราอีกด้วย

Leave A Response

พบกับเราที่ Facebook

Tweets ล่าสุด

No tweets found.

แผนที่อาเซียน