โดย ณัฐวุฒิ เนาวบุตร
หลังจากขึ้นรถไฟออกจากเมืองยอกยาการ์ตา (Yogyakarta) ในตอนค่ำ ด้วยราคาโปรโมชั่นไม่ต่างจากหลาย ๆ ครั้ง และแล้วผมก็มาถึงกรุงจาการ์ตา (Jakarta) เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากร (ประมาณ 250 ล้านคน) และมีพื้นที่มากที่สุดในอาเซียน ก่อนเวลาที่แสงอาทิตย์จะส่องประกาย ณ ขอบฟ้า โดยการมาเมืองจาการ์ตาครั้งก็ไม่ต่างจากหลาย ๆ ที่ที่ได้พูดถึงไปแล้ว คือการได้มาเจอเพื่อนสนิทในค่ายที่เคยไปเข้าร่วมด้วยกันที่ประเทศมาเลเซีย รวมทั้งยังมีการรวมตัวใหญ่อีกทีที่เมืองบันดุง (Bandung) ก่อนจะกลับมาขึ้นเครื่องที่จาการ์ตาอีกครั้ง
เช้าวันแรกที่มาถึงรถไฟเทียบที่สถานีรถไฟกัมบิร์ (Stesen Gambir) ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อรถไฟขนาดใหญ่ของเมือง สิ่งแรกที่ทำคือ การเชื่อมต่อไวไฟฟรี (Free Wi-Fi) ต้องบอกว่า อินโดนีเซีย ให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อโลกออนไลน์มากจริง ๆ เพราะไวไฟฟรีนั้นค่อนข้างหาง่ายและการเข้าระบบก็ไม่ยุ่งยากซับซ้อน หลังจากได้ลองค้นหาระยะทางไปที่พักแล้วก็พบว่า ระยะทางนั้นไกลพอสมควรเมื่อเทียบกับสัมภาระที่ต้องขนไป ผมจึงเลือกใช้บริการ “บลูเบิร์ด” (Blue Bird) แท็กซี่ที่ได้มาตรฐานที่สุดของอินโดนีเซีย ไม่นานผมก็ถึงที่พัก
หลังจากที่ผมเก็บสัมภาระเรียบร้อย ผมแวะกินข้าวที่ร้านอาหารข้างทางแห่งหนึ่งโดยสั่งข้าวผัดหรือนาซิ โกเร็ง (Nasi Goreng) เป็นเมนูที่ถ้านึกอะไรไม่ออก ผมก็มักจะสั่งเมนูนี้ จากนั้น ผมก็มุ่งหน้าไปยังอนุสาวรีย์แห่งชาติ หรือที่รู้จักในชื่อ “ตูกู โมนาส” (Tugu Monas) ซึ่งอยู่ติด ๆ กับสถานีรถไฟกัมบิร์
เมื่อมาถึงอนุสาวรีย์แห่งชาติ (และเป็นสวนสาธารณะด้วย) ทุกอย่างยังคงดูสงบไม่วุ่นวาย แม้จะมีคนมาใช้บริการกันตั้งแต่เช้า บ้างก็มากันเป็นคู่หรือบ้างก็มากันเป็นกลุ่ม ที่นี่ทุกคนจะได้เห็นอนุสาวรีย์ตั้งตระหง่าน เป็นแท่งมีฐานรองคล้าย ๆ ศิวะลึงค์ทำเป็นรูปเปลวไฟตรงยอด หลังจากนั้นผมจึงเดินต่อโดยทะลุสถานีกัมบิร์ไปยังโบสถ์คริสต์ที่อยู่ไม่ไกล นั่นก็คือโบสถ์อิมมานูเอล (Immanuel Church) เป็นโบสถ์ของโปรแตสแตนท์ตั้งแต่สมัยอาณานิคม (เนเธอร์แลนด์) ซึ่งกำลังบูรณะอยู่ ตัวโบสถ์เป็นโบสถ์สีขาวแบบนีโอคลาสสิกและมีโดมทรงกลมอยู่ด้านบน ซึ่งช่างที่กำลังซ่อมบริเวณประตูยินดีให้เข้าไปชม
ผมเดินต่อมาเรื่อย ๆ ก็เจอการจัดโซนนิ่ง (zoning) ที่น่าสนใจโดย 2 ศาสนสถานต่างความเชื่อที่เป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองอยู่ใกล้กันโดยมีเพียงคลองคั่น หนึ่งคืออาสนวิหารคาธอลิก (Gereja Katolik Katedral) โบสถ์ศิลปะแบบนีโอโกธิกที่เพิ่งสร้างในปี1901 คล้ายวิหารยุคกลางในยุโรปและมีโครงโดมบนหอคอยทั้งสองข้างทำให้เห็นแต่ไกล ส่วนอีกที่คือมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในอุษาคเนย์และเป็นมัสยิดกลางชื่อ “มัสยิดอิสติกลัล” (Masjid Istiqlal) ซึ่งต้องบอกว่าใหญ่จริงเพราะกว่าจะเดินรอบก็ใช้เวลาสักพักใหญ่
และเมื่อเวลาเย็นเข้ามาเยือน ผมจึงเดินกลับโดยระหว่างทางก็มีข้อความเข้ามาในมือถือ คือส่วนลด 50% เมื่อซื้อโดนัท 12 ชิ้น ซึ่งแน่นอนว่าในฐานะคนชอบกินโดนัท ผมตกเป็นเหยื่อการตลาดในที่สุด ผมเดินต่อไปในห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ คือ Grand Indonesia ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความดีงามของที่นี่คือ มีไวไฟฟรีให้บริการอย่างไม่จำกัด ผมแวะใช้ไวไฟฟรีของห้างก่อนเดินทางกลับที่พัก
หลายคนอาจสงสัยว่า ไม่เห็นเล่าถึงเมืองปัตตาเวีย (Batavia) สักที ซึ่งจริง ๆ แล้วความเข้าใจนี้ก็ไม่ต่างจากผมตอนแรกที่ไปจาร์กาตา เพราะในความเข้าใจของคนอินโดนีเซีย ปัตตาเวีย นั้นหมายถึง เมืองจาการ์ตา ทั้งเมืองนั่งเอง ส่วนถ้าจะถล่าวถึงเมืองปัตตาเวียอย่างที่เราเข้าใจกัน ชาวอินโดนีเซียเรียกว่า “โกตาตัว” (Kota Tua) ที่แปลว่า “เมืองเก่า” และเช้าวันใหม่นี้ ผมนัดกับเพื่อน ๆ ไปดูเมืองเก่าด้วยกัน เมืองนี้ถือได้ว่าเป็นเมืองที่เติบโตและพัฒนาได้ด้วยบริษัทชาวดัชต์ที่รู้จักกันในนาม บริษัทอีสต์อินดีตะวันออก (East Indies Company) หรือ วีโอซี (VOC) เพื่อใช้สำหรับควบคุมการค้า การจัดสรรพื้นที่และอาคารเป็นแบบยุโรปทำให้รู้สึกเหมือนมาเมืองในยุโรปก็ไม่ผิดนัก ผมมาถึงก่อนจึงนั่งดื่มชาที่ร้านใกล้จัตุรัสเมืองเก่า ชื่อ Batavia Café ซึ่งมีการตกแต่งที่สวยงาม ชั้นสองของหน้าต่างที่สามารถมองเห็นอาคารที่ทำการสมัยอาณานิยม และก่อนที่เพื่อนจะมาถึงผมได้ไปดูปืนใหญ่โปรตุเกสผลิตที่เมืองมาเก๊า เพื่อประจำที่มะละกาก่อนจะถูกย้ายมาในภายหลัง และที่โดดเด่นคือการสลักคำละตินไว้ว่า “Ex Me Ipsa Renata Sum” แปลว่า ฉันถูกสร้างด้วยตัวของฉันเอง
เราเดินชมตึกเก่าและคลองกลางเมืองซึ่งปัจจุบันดูเสื่อมโทรมไปมาก ไม่ได้รับการบูรณะให้ดีเท่าที่ควรแม้เราจะได้ไปชมนิทรรศการเล็ก ๆ เกี่ยวกับการบูรณะ แต่ด้วยความที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในมณฑลแห่งการพัฒนาและเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์บาดแผลจึงทำให้ “ปัตตาเวีย” ไม่ได้ถูกดึงศักยภาพให้โดดเด่นเฉิดฉายกว่าที่ควรจะเป็นให้เกิดการท่องเที่ยวและการสร้างอาชีพภาคบริการ
และสถานที่สุดท้ายของวันนี้คือโบสถ์โปรตุเกสไม่ใกล้ไม่ไกลจากจตุรัส เพราะคืนนี้เราจะเดินทางไปเจอเพื่อนที่บันดุง (Bandung) กันโดยติดรถครอบครัวเพื่อนที่กำลังไปทำธุระที่นั่นพอดี แต่ตอนนี้เราต้องเดินอย่างรีบเร่งเพราะเมฆตั้งเค้าและมีทีท่าว่าฝนจะตกในไม่ช้า โบสถ์แห่งนี้เรียกว่า “โบสถ์ซีออน” หรือ “เกอเรจา ซิออน” (Gereja Sion) สร้างในปี 1693 ถือเป็นโบสถ์ที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงจาการ์ตา ซึ่งแต่ก่อนเป็นของคาธอลิกภายหลังได้เปลี่ยนเป็นโบสถ์โปรเตสแตนท์ไปแล้ว คงมีแต่ตัวทรงอาคารที่ยังเป็นรูปแบบเก่า บางคนเรียกโบสถ์นี้ว่าโบสถ์โปรตุเกสดำ (Black Portuguese Church) เพราะเป็นโบสถ์ที่ใช้ประกอบพิธีของพวกลูกครึ่งหรือลูกเสี้ยวโปรตุเกส-มาเลย์และโปรตุเกส-อินเดียที่เข้ามาอาศัยในย่านนี้
เมืองบันดุงเป็นเมืองตากอากาศยอดนิยมมาตั้งแต่สมัยอาณานิคมแล้ว ทั้งยังเป็นเมืองที่มีการติดกล้องโทรทัศน์เพื่อศึกษาดาราศาสตร์ ปัจจุบันก็ยังคงไม่เปลี่ยนและรัฐบาลกำลังโปรโมทเมืองนี้เพื่อการท่องเที่ยวให้มากยิ่งขึ้น เมืองนี้ยังมีความเกี่ยวข้องกับสยามหรือไทยด้วยเพราะสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ต้นราชสกุลบริพัตรได้ลี้ภัยมาที่นี่หลังการปฏิวัติ 2475 และยังมี “วงเวียนสยาม” อยู่แถว ๆ หน้าพระตำหนัก
หลังจากขับรถรับเพื่อนในค่ายตามที่นัดจนครบ เราตรงไปยัง “ภูเขาไฟตังกูบัน ปาราหู”(Gunung Tangkuban Parahu) ที่ต้องผ่านบ้านชนบทขึ้นเขา และหอดูดาว จริง ๆ เพื่อนบอกว่าทางดี ๆ มีแต่อยากให้มาชมบรรยากาศ ซึ่งก็สวยงามเพราะชาวอินโดนีเซียชอบใช้หลังคาบ้านสีส้มทำให้นึกถึงเหมืองเมืองในแถบยุโรป
ช่วงเวลาในบันดุงช่างแสนสั้น เพราะพรุ่งนี้เช้าผมต้องกลับไปขึ้นเครื่องบินที่จาการ์ตา เพื่อนเลยพาไปดูมัสยิดที่ใช้ศิลปะโมเดิร์นแปลกกว่ามัสยิดอื่น ๆ ก่อนจะพาไปเลี้ยงลูกชิ้นและถ่ายรูปรวมเป็นการจากลาที่คิวรถตู้เข้าสนามบินเพื่อกลับสู่ไทย
การมาอินโดนีเซียครั้งนี้นอกจากได้เที่ยวแล้วยังได้เจอพี่และเพื่อนมากมายทั้งคนไทย คนอินโดนีเซีย หรือแม้แต่มาเลเซียเองก็ตามทำให้ความผูกพันธ์มีต่อดินแดนนี้มากขึ้น และเข้าใจว่าพรมแดนของมิตรภาพมิได้มีขอบเขตปิดกั้นซึ่งผมเองก็คาดหวังว่าจะได้มาเจอกันใหม่อีกครั้ง
Comments are closed.