home

ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน (ASEAN SOM) และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

มิถุนายน 20, 2017
ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน (ASEAN SOM) และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ระหว่างวันที่ 22-24 พฤษภาคม 2560 ฟิลิปปินส์ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงมะนิลา ซึ่งการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมเพื่อเตรียมการไปสู่การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (ASEAN Foreign Minister’s Meeting) และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับรัฐมนตรีต่างประเทศคู่เจรจา (PMC+1) ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 8 สิงหาคม 2560 ที่กรุงมะนิลา

ที่ประชุมฯ ได้หารือเกี่ยวกับการกระชับความร่วมมือในการบริหารจัดการภายในของอาเซียน แนวทางในการเพิ่มพูนความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจา รวมถึงสถานการณ์ภายในภูมิภาค โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนภายในโครงสร้างสถาปัตยกรรมของภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างสันติภาพและรักษาเสถียรภาพในภาวะที่ประเทศต่างเผชิญกับความท้าทายด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงในรูปแบบใหม่ ๆ โดยเฉพาะการเสริมสร้างความเข้มแข็งกับกลไกความร่วมมือที่อาเซียนมีบทบาทนำ ได้แก่ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS Asia Summit: EAS) กรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ASEAN Defence Ministers’ Meeting Plus: ADMM Plus) ซึ่งเป็นเวทีที่ทั้งประเทศมหาอำนาจและประเทศในภูมิภาคมีปฏิสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเห็น เพื่อแสวงหาแนวทางในการบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการสร้างสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ภูมิภาค

ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสความร่วมมืออาเซียนบวกสาม (APT SOM) เจ้าหน้าที่อาวุโสการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS SOM) และเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF SOM) ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยได้ตระหนักถึงปัญหาความมั่นคงที่ประชาคมระหว่างประเทศกำลังเผชิญอยู่ ทั้งรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ อาทิ การก่อการร้าย การค้ามนุษย์ การลักลอบค้ายาเสพติด และภัยคุกคามด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการประชุมฯ ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการรักษาความมั่นคง สันติภาพ และเสถียรภาพในภูมิภาค และสนับสนุนให้ ARF เป็นเวทีที่ส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจ และลดความตึงเครียดในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดริเริ่มใหม่ ๆ เช่น การส่งเริมความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสามในด้านต่าง ๆ ให้เข้มแข็ง เพื่อมุ่งสู่การจัดตั้ง East Asian Economic Community ภายในปี ค.ศ. 2020 และไทยยังใช้โอกาสนี้เน้นย้ำบทบาทนำของไทยในการเป็นในการสนับสนุน regional connectivity โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม International Symposium on Promoting Regional Connectivity ในเรื่อง regional connectivity ในเดือนกันยายน 2560

ประเทศอาเซียน และประเทศคู่เจรจาในกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ของอาเซียน ยังใช้โอกาสนี้ในการพิจารณาเกี่ยวกับร่างเอกสารซึ่งจะนำไปรับรองในช่วงการประชุม AMM/PMC ที่กำลังจะมีขึ้นด้วย ซึ่งร่างเอกสารเหล่านี้ จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการกำหนดการดำเนินความสัมพันธ์เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภูมิภาคและประชาชนของทุกฝ่ายต่อไป

ที่มา: ศูนย์ข่าวกระทรวงการต่างประเทศ

Leave A Response

คลังข้อมูล

พบกับเราที่ Facebook

Tweets ล่าสุด

No tweets found.

แผนที่อาเซียน