เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2560 ชุดโครงการ “จับตาอาเซียน” ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดประชุม TRF-ASEAN Research Forum ครั้งที่ 7 เรื่อง “รายงานผลการวิจัยเศรษฐกิจประเทศ CLMV” เพื่อเป็นเวทีนำเสนอรายงานผลการวิจัยของกลุ่มประเทศ CLMV จำนวน 4 โครงการ ให้กับผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ตลอดจนสื่อมวลชน ร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยให้ชัดเจนขึ้น
เริ่มต้นที่หัวข้อ “ประเด็นเด่นเศรษฐกิจ สปป.ลาว และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศใน สปป. ลาว” อ.ดร. เณศรา สุขพานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ชี้ให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นของ สปป.ลาว ในช่วงปี 2559 โดยประเด็นสำคัญคือการที่รัฐบาลลาวประกาศให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งเป็นฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2559-2563) แผนฯ ดังกล่าวมีเป้าหมายสำคัญเพื่อยกระดับ สปป.ลาว ให้พ้นจากการเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุดให้ได้ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยปัจจัยสำคัญอยู่ที่การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งในด้านพลังงานและด้านโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพมากที่สุด
อ.ดร. เณศรา กล่าวว่า สปป.ลาว มีการปรับปรุงกฎระเบียบด้านการลงทุนมาเป็นระยะๆ โดยรัฐบาลลาวได้เริ่มออกกฎหมายส่งเสริมและจัดการการลงทุนจากต่างประเทศเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2537 ต่อมาใน พ.ศ. 2552 ลาวจึงได้ประกาศใช้กฎหมายส่งเสริมการลงทุน ซึ่งรวมการลงทุนในประเทศและการลงทุนจากต่างชาติเข้าด้วยกันเพื่อให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศใน สปป.ลาว มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่ที่ สปป.ลาว เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อ พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเหมืองแร่และการผลิตไฟฟ้า จีน นอกจากนี้ สปป.ลาว ยังมีการก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะ (SEZs) มากกว่า 10 แห่ง เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติอีกด้วย
จากการศึกษาวิจัยพบว่า ปัจจัยที่ทำให้ สปป.ลาว สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้มาก ได้แก่ ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ การเมืองมีเสถียรภาพ ค่าจ้างแรงงานต่ำ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง รวมทั้งยังมีกฎระเบียบด้านการลงทุนที่ทันสมัย ขณะเดียวกัน สปป.ลาว ยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ อาทิ ขนาดตลาดที่ค่อนข้างเล็ก กำลังแรงงานมีไม่มาก ผลิตภาพในการผลิตต่ำ เทคโนโลยียังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านการคอร์รัปชั่นและการบังคับใช้กฎหมายอีกด้วย
สำหรับประเทศไทย น่าสังเกตว่าการลงทุนของนักลงทุนไทยใน สปป.ลาว มักเป็นผลจากปัจจัยผลักจากบริษัทมากกว่าจะเป็นผลจากมาตรการสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศของภาครัฐ โดยภาคธนาคารไทยมีบทบาทเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญของบรรษัทข้ามชาติของไทยที่เข้าไปลงทุนโครงการใหญ่ๆ ใน สปป.ลาว สิ่งนี้แตกต่างจากกรณีของจีน ซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดของ สปป.ลาว เนื่องจากบรรษัทข้ามชาติของจีนส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากภาครัฐและภาคธนาคาร โดยรัฐบาลจีนได้ก่อตั้งองค์กรสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศของบริษัทจีนขึ้นหลายแหล่ง อาทิ Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB), the ASEAN-China Centre เป็นต้น
ขณะที่ในกรณีเศรษฐกิจของกัมพูชา รศ.ดร. กิริยา กุลกลการ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อภิปรายถึงประเด็นเด่นทางเศรษฐกิจในรอบปีที่ผ่านมา พร้อมนำเสนอผลการวิจัย ซึ่งเน้นศึกษาประเด็นด้านประชากรและตลาดแรงงานของกัมพูชาเป็นสำคัญ
ปัจจุบัน ประชากรของกัมพูชากำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอัตราการเกิดจะเริ่มลดลง แต่ก็ยังมากกว่าอัตราการตาย ทำให้อัตราการเติบโตของประชากรกัมพูชาอยู่ที่ราวร้อยละ 1.6 ต่อปี เมื่อปีที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชาได้ประกาศนโยบายประชากรฉบับใหม่ (พ.ศ. 2559-2573) โดยมุ่งลดสัดส่วนประชากรยากจนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนของประเทศ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ลดอัตราการว่างงาน แก้ไขปัญหาแรงงานเด็กและความไม่เท่าเทียมทางเพศในการจ้างงาน ลดความแออัดในกรุงพนมเปญ รวมทั้งยังมุ่งลดสัดส่วนการตายจากการให้กำเนิดบุตรและอัตราการตายของเด็กและทารกแรกเกิดอีกด้วย
ขณะที่ด้านตลาดแรงงาน งานวิจัยพบว่า ร้อยละ 80 ของประชากรอายุระหว่าง 15-64 ปี ของกัมพูชาอยู่ในกำลังแรงงาน ทำให้ปัจจุบัน กัมพูชามีจำนวนแรงงานราว 8 ล้านคน และมีแรงงานใหม่เข้าสู่ตลาดเฉลี่ย 3 แสนคนต่อปี ด้วยเหตุนี้ กัมพูชาจึงไม่ประสบภาวะขาดแคลนแรงงานในภาพรวม แต่ต้องเผชิญกับปัญหาคุณภาพแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือและแรงงานกึ่งฝีมือ และมักขาดทักษะด้านการสื่อสาร การทำงานร่วมกัน ความเป็นผู้นำ การแก้ปัญหา และการปรับตัว ขณะเดียวกัน กัมพูชาจึงขาดแคลนแรงงานในภาคส่วนที่ต้องการทักษะพิเศษ เช่น วิศวกรรม
ด้านนโยบายแรงงาน รัฐบาลกัมพูชาเพิ่งประกาศใช้นโยบายการจ้างงานฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. 2558 โดยมุ่งสร้างโอกาสในการจ้างงานและพัฒนาทักษะให้กับแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในภาคเกษตรกรรม
(ร้อยละ 64.2 ของแรงงานทั้งหมด) รวมทั้งยังวางแผนโครงสร้างค่าจ้างขั้นต่ำให้เหมาะสม ปรับปรุงกฎหมายแรงงานให้มีความครอบคลุมภาคอุตสาหกรรมทุกประเภท และคุ้มครองสวัสดิภาพของแรงงานชาวกัมพูชาทั้งในและต่างประเทศให้มากขึ้นผ่านระบบประกันสังคมและประกันสุขภาพอีกด้วย
สำหรับนโยบายด้านการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศในภาคทรัพยากรธรรมชาติของเมียนมา อาจารย์ ดร.อนิณ อรุณเรืองสวัสดิ์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า รายงานวิจัยชิ้นนี้ จะให้ความสำคัญในประเด็นเรื่อง “อุตสาหกรรมการขุดเจาะทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ” เนื่องจากเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และมีศักยภาพในการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศมากที่สุด อันแสดงให้เห็นว่า เมียนมาถือเป็นประเทศผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่เป็นลำดับต้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีแนวโน้นเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในเมียนมา ดำเนินการภายใต้การควบคุมของกระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน (Ministry of Electricity and Energy) โดยกรมวางแผนพลังงาน (Energy Planning Department) ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย และเจรจาต่อรองการร่วมผลิต (Production Sharing Contracts: PSC) กับบริษัทจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ภายใต้ระบบ PSC แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ บล๊อกบนฝั่ง (on shore) บล๊อกนอกชายฝั่งน้ำลึก (offshore-deep water) และบล๊อกนอกชายฝั่งน้ำตื้น (offshore shallow water) ซึ่งแต่ละประเภทจะมีเงื่อนไขในการดำเนินงานแตกต่างกัน โดยจะมีการจัดเก็บค่าภาคหลวง (royalties) ในอัตราร้อยละ 12.5 ของปิโตรเลี่ยมที่จัดหามาได้
ทั้งนี้ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านน้ำมันและพลังงานก๊าซของเมียนมา (Myanmar Oil and Gas Enterprise: MOGE) จะทำหน้าที่สำรวจ และผลิตน้ำมันปิโตเลียมในเมียนมา รวมถึงมีเอกสิทธิ์ในการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติกับบริษัทเอกชนอื่นๆ อีกทั้ง ยังมีส่วนร่วมในกำไร หลังหักค่าใช้จ่าย ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับการผลิตต่อวัน หรือความลึกของบ่อ
ส่วนอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของเมียนมา ดำเนินการภายใต้การควบคุมของกระทรวงการเหมืองแร่ (Ministry of Mines) โดยกรมการเหมืองแร่ (Department of Mines) ทำหน้าที่ควบคุมการออกใบอนุญาตในการทำเหมืองแร่ และดูแลรัฐวิสาหกิจเกี่ยวกับแร่ ขณะที่ กรมการกรมสำรวจธรณีวิทยาและการสำรวจแร่ (Department of Geology Survey and Mineral Exploration) ทำหน้าที่ในการสำรวจและจัดทำแผนที่ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของประเทศ
นอกจากนี้ อาจารย์ ดร.อนิณ อรุณเรืองสวัสดิ์ ยังให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่อง “คำสาปแห่งทรัพยากร” (resource curses) ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศที่มั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป (exhaustible resource) แต่ประเทศเหล่านั้น กลับไม่สามารถนำทรัพยากรดังกล่าว มาใช้เป็นปัจจัยในการพัฒนาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ กระทั่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศต่ำกว่าประเทศที่มีทรัพยากรน้อยกว่า เช่น มีช่วงเวลาหนึ่งที่ประเทศสามารถส่งออกทรัพยากรได้มากขึ้น ส่งผลให้ประเทศมีรายรับมากขึ้น ค่าเงินก็แข็งค่าขึ้น ขณะเดียวกัน ประเทศก็สูญเสียความสามารถทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมอื่น เป็นต้น
กล่าวโดยสรุปคือ เมียนมาเป็นประเทศที่มีโอกาสดำเนินไปตาม “คำสาปแห่งทรัพยากร” เนื่องจากระดับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่มากนัก แม้ว่าเศรษฐกิจจะพัฒนาไปเป็นอย่างดีก็ตาม แต่การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ยังคงกระจุกตัวอยู่เฉพาะในภาคทรัพยากรธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ขณะเดียวกัน แม้โครงสร้างทางกฎหมายและสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรจะพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ แต่ก็ยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้น และเต็มไปด้วยกลุ่มผลประโยชน์
ด้านอาจารย์ ดร.ชญานี ชวะโนทย์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐบาลเวียดนามได้ดำเนินการใช้นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาจากประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ผ่านแนวคิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (New Structural Economics: NSE) ที่มุ่งเน้นการยกระดับภาคอุตสาหกรรม และการกระจายตัวทางอุตสาหกรรม โดยจะต้องมีพลวัตของปัจจัยทุนต่อแรงงาน ที่ปรับเปลี่ยนตามความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (hard infrastructure) เช่น การขนส่ง เครือข่ายโทรคมนาคมและการสื่อสาร เป็นต้น ไปพร้อมกับโครงสร้างพื้นฐานทางสถาบันและสังคม (soft infrastructure) อันเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น ภาครัฐและสถาบัน รวมถึงทุนทางสังคม เป็นต้น
สำหรับการปฏิรูปทางเศรษฐกิจของเวียดนามที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามได้ดำเนินการปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อลดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเจ้าของกิจการ พร้อมเปิดการค้าเสรีระหว่างเวียดนาม-เกาหลีใต้ (2559) เวียดนาม-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (2559) และเวียดนาม-สหภาพยุโรป (2560) ขณะเดียวกัน รัฐบาลเวียดนามได้อนุญาตให้รัฐบาลท้องถิ่น มีอำนาจในการตัดสินใจโครงการลงทุนที่มีมูลค่าไม่สูงมากนัก รวมถึงสามารถกำหนดระเบียบการส่งออกและการนำเข้าสินค้าบางประเภท อันก่อให้เกิดการแข่งขันเพื่อดึงดูดนักลงทุนระหว่างจังหวัด โดยที่มิได้มองภาพรวมของประเทศ ส่งผลให้ไม่สามารถใชพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ อีกทั้ง การมองอำนาจให้แก่รัฐบาลท้องถิ่นเช่นนี้ ทำให้กฎระเบียบมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง เนื่องจากรัฐบาลท้องถิ่นสามารถประกาศยกเลิกเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ก่อนกำหนด
ในช่วงท้าย อาจารย์ ดร.ชญานี ชวะโนทย์ กล่าวถึงความท้าทายที่สำคัญของเวียดนามในประเด็นต่างๆ ได้แก่ (1) พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เพียงพอต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ (2) พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เนื่องจากแรงงานรุ่นใหม่มีเป็นจำนวนมาก หากสามารถพัฒนาทักษะได้ดี ก็จะช่วยยกระดับการผลิตได้ (3) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า เน้นความโปร่งใสและย่นระยะเวลา ขยายตลาดสินเชื่อผ่านการปล่อยกู้ดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำ ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่าย