home

“กฎหมาย” กับการเคลื่อนย้ายแรงงานในประชาคมอาเซียน

สิงหาคม 15, 2017
“กฎหมาย” กับการเคลื่อนย้ายแรงงานในประชาคมอาเซียน

ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้ายถิ่นฐานของผู้คนเผยว่า การร่วมมือกันในเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานของชาติสมาชิกอาเซียนยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าใดนัก ขณะที่ ไทยเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายเพื่อผลักดันให้แรงงานต่างด้าวเข้าทำงานในประเทศอย่างถูกกฎหมาย

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2560 ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รัฐสภา สถาบันพระปกเกล้า และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ร่วมกันจัดงานเสวนาประชาคมอาเซียนของรัฐสภา ครั้งที่  3 และงานสัปดาห์จุฬาฯ อาเซียนครั้งที่ 6 ภายใต้แนวคิด “ASEAN’s Next Step in the Changing World” (ก้าวต่อไปของอาเซียนในโลกที่เปลี่ยนแปลง) ขึ้น ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์ ดร.สุภางค์ จันทวานิช ที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิโครงการวิจัย ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Labour Migration in ASEAN” (การเคลื่อนย้ายแรงงานในประชาคมอาเซียน) ว่า ชาติสมาชิกอาเซียนให้ความสนใจในประเด็นเรื่องสิทธิและการเคลื่อนย้ายแรงงานมาแล้วในระยะหนึ่ง เห็นได้จากร่วมกันลงนามใน “ปฏิญญาสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยการคุ้มครองและการส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ” (ASEAN Declaration on the Protection and Promotion of the Rights of Migrant Workers) ในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 12 เมื่อเดือนมกราคม 2550 ณ เมืองเซบู  ประเทศฟิลิปปินส์

ในปฏิญญาฉบับนี้มีสาระสำคัญคือ ชาติสมาชิกจะต้องคุมครองสิทธิขั้นพื้นฐาน ส่งเสริมสวัสดิการและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของแรงงานข้ามชาติ หากพบผู้ใดกระทำความผิดจะได้รับบทลงโทษอย่างเคร่งครัด ขณะที่ ศ.ดร.สุภางค์ มองว่าการปฏิบัติตามปฏิญญาดังกล่าวยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก เนื่องจากบางประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ยังไม่สามารถตกลงร่วมกันในเรื่องการให้การคุ้มครองสมาชิกในครอบครัวของแรงงานต่างด้าว ตลอดจนการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้สามารถเข้าทำงานในประเทศปลายทางอย่างถูกกฎหมายได้

ศ.ดร.สุภางค์ ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า หลายประเทศในอาเซียนมีลักษณะการเป็นประเทศ “ต้นทาง” และประเทศ “ปลายทาง” ของแรงงานต่างด้าว โดยมาเลเซีย สิงคโปร์ และไทยมีลักษณะการเป็นประเทศปลายทางที่ค่อนข้างชัดเจน จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการรองรับแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ เช่น การสร้างกฎระเบียบการนำเข้าแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมาตรการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย

ล่าสุด ประเทศไทยมีการประกาศใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานต่างด้าว 2 ฉบับ ได้แก่ (1) พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นการรวมกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และกฎหมายว่าด้วยการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 ไว้เป็นฉบับเดียวกัน และ (2) พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2560

สำหรับพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีสาระสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ (1) การเพิ่มโทษให้มีอัตราสูงขึ้น เช่น ผู้ใดรับแรงงานต่างด้าวทำงานที่แรงงานต่างด้าวห้ามทำ หรือรับแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีในอนุญาตเข้าทำงาน จะมีโทษปรับตั้งแต่ 400,000 – 800,000 บาท ต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน เป็นต้น และ (2) กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของนายจ้างและผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้นายจ้างและแรงงานต่างด้าวได้รับการคุ้มครองและเข้าถึงช่องทางการร้องทุกข์ มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560

ส่วนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2560 มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มโทษนายจ้างที่ใช้แรงงานเด็ก กล่าวคือการจ้างเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าทำงานที่เสี่ยงอันตรายและต้องห้าม เช่น งานปั๊มโลหะ งานที่เกี่ยวกับวัตถุมีพิษ โรงฆ่าสัตว์ สถานที่เล่นพนัน สถานประกอบกิจการด้านการแปรรูปสัตว์น้ำ มีโทษเทียบปรับตั้งแต่ 400,000 – 800,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานเสี่ยงอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือถึงแก่ความตาย นายจ้างจะต้องได้รับโทษมากขึ้น โดยเทียบปรับตั้งแต่ 800,000 – 2,000,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560

นอกจากนี้ ศ.ดร.สุภางค์ ยังกล่าวถึงสถิติการเข้ามาทำงานในไทยของแรงงานต่างด้าวว่า มีประมาณ 4 ล้านคนโดยประมาณ โดยในจำนวน 4 ล้านคนนี้ 1 ล้านคน มีสัญชาติจีน เกาหลีและเวียดนาม ส่วนอีก 3 ล้านคน มีสัญชาติเมียนมา ลาวและกัมพูชา โดยจากผลการสำรวจของสำนักบริการแรงงานต่างด้าว เปิดเผยว่า ในเดือนพฤษภาคม 2560 มีแรงงานสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชารวม 1.3 ล้านคนเท่านั้นที่มีใบอนุญาติเข้าทำงานอย่างถูกกฎหมาย แสดงให้เห็นว่า ในไทยยังคงมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายอีกเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม แม้พระราชกำหนดดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการมาแล้ว แต่ทางรัฐบาลไทยยังขยายเวลาเพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนเพิ่มเติม ซึ่งก็มีแรงงานต่างด้าวเดินทางมาขึ้นทะเบียนตามกฎหมายเพิ่มเติมอีกประมาณ 700,000 คน

ในช่วงท้ายของการกล่าวปาฐถาพิเศษ ศ.ดร.สุภางค์ กล่าวว่า ประเด็นเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานไม่ใช่เรื่องของประเทศต้นทางหรือประเทศปลายทางแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นประเด็นระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค ที่ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมต้องประสานความร่วมมือระหว่างกัน

Leave A Response

คลังข้อมูล

พบกับเราที่ Facebook

Tweets ล่าสุด

No tweets found.

แผนที่อาเซียน