นักวิชาการด้านการสื่อสารมวลชนเผยว่าสื่อในอาเซียนส่วนใหญ่อยู่ในสถานภาพที่ไม่เสรีเท่าใดนัก ด้านผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตสื่อสิงคโปร์ว่ามีการควบคุมสื่อโดยรัฐบาล
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2560 ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รัฐสภา สถาบันพระปกเกล้า และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ร่วมกันจัดงานเสวนาประชาคมอาเซียนของรัฐสภาครั้งที่ 3 และงานสัปดาห์จุฬาฯ อาเซียนครั้งที่ 6 ภายใต้แนวคิด “ASEAN’s Next Step in the Changing World” (ก้าวต่อไปของอาเซียนในโลกที่เปลี่ยนแปลง) ขึ้น ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์ ดร.เจษฎา ศาลาทอง จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders: RSF) ซึ่งเป็นองค์การพัฒนาเอกชน ก่อตั้งในปี 2528 มีสำนักงานอยู่ที่กรุงปารีส ทำหน้าที่ในการป้องกันและการส่งเสริมเสรีภาพในการให้ข้อมูลบุคคล รวมถึงการให้คำปรึกษาด้านเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก ได้ดำเนินการจัดทำดัชนี้ชี้วัดเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก (World Press Freedom Index) โดยเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ rsf.org เป็นประจำทุกปี
ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 เว็บไซต์ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ระบุว่า เสรีภาพสื่อของอินโดนีเซียอยู่ในลำดับที่ 124, ฟิลิปปินส์ 127, เมียนมา 131, กัมพูชา 132, ไทย 142, มาเลเซีย 144, สิงคโปร์ 151, บรูไน 156, ลาว 170, และเวียดนาม 175 จากจำนวน 180 ประเทศที่ทางผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อนำมาจัดลำดับได้
จากดัชนีข้างต้น อ.ดร.เจษฎา อธิบายว่า เสรีภาพสื่อภาพรวมของของชาติสมาชิกอาเซียนอาจเพิ่มขึ้นหรือลดต่ำลงบ้างเล็กน้อยหากนำไปเปรียบกับปีก่อนหน้า แต่โดยรวมแล้วมักจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาก และส่วนใหญ่ก็อยู่ในสถานภาพที่ไม่ได้เสรีเท่าใดนัก โดยเฉพาะเวียดนามที่ถือได้ว่ามีระดับเสรีภาพสื่อน้อยที่สุดที่ไม่ใช่เฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่ยังน้อยที่สุดในเอเชียอีกด้วย ขณะที่สื่อในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ถือว่ามีระดับเสรีภาพมากที่สุดในบรรดาชาติอาเซียน ส่วนระดับเสรีภาพของสื่อในไทยอยู่ในลำดับกลางๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน
อ.ดร.เจษฎา ได้ยกกรณีการละเมิดเสรีภาพสื่อในเมียนมาว่า กองทัพเมียนมาได้ยื่นเรื่องเพื่อดำเนินคดีกับนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น 2 คน เนื่องจากเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์นายทหารระดับสูงของกองทัพว่าทำงานอย่างความสะดวกสบาย ขณะที่นายทหารระดับล่างจำต้องรับหน้าที่เสี่ยงภัยซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิต ด้านผู้แทนจากสมาคมนักข่าวของเมียนมาต่างก็เห็นพ้องว่า บทความวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวอาจสร้างความแตกแยกระหว่างนายทหารระดับสูงและนายทหารระดับล่าง ส่งผลให้นักหนังสือพิมพ์ทั้งสองถูกยื่นฟ้องดำเนินคดี
นอกจากนั้น อ.ดร.เจษฎา ได้เน้นย้ำว่า ดัชนีชี้วัดเสรีภาพสื่อดังกล่าวนี้ เป็นการจัดลำดับเสรีภาพและการให้คุณค่าประชาธิปไตยผ่านมุมมองของชาวตะวันตก ซึ่งในสภาพความเป็นจริงแล้วคุณค่าความเป็นประชาธิปไตยในแต่ละพื้นที่ต่างก็มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป อีกทั้ง แม้ทางเว็บไซต์ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนจะกล่าวว่า การจัดลำดับที่เกิดขึ้นนั้นไม่เกี่ยวข้องภาพลักษณ์ของรัฐบาลแต่ละประเทศก็ตาม แต่ อ.ดร.เจษฎา ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะไม่เป็นไปตามคำกล่าวนั้นเสียทีเดียว พร้อมชวนตั้งข้อสังเกตในกรณีการเข้ามาบริหารประเทศของตระกูลลี ในสิงคโปร์ และการเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของกัมพูชาอย่างยาวนานกว่า 30 ปีของสมเด็จฮุน เซ็น
ด้านคุณกีรติกร นาคสมภพ ผู้ดำเนินรายการ Good Morning ASEAN ทางสถานีวิทยุ FM100.5 ตั้งข้อสังเกตว่า สื่อในสิงคโปร์ไม่ได้มีเสรีภาพมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ นอกภูมิภาค หากอ้างอิงจากดัชนี้ชี้วัดเสรีภาพสื่อมวลชนที่จัดทำโดยผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ขณะที่ การจัดลำดับด้านอื่นๆ เช่น นโยบายการส่งเสริมการลงทุน การจัดการการท่องเที่ยว ระบบคมนาคมขนส่ง รวมถึงการเข้าถึงการบริการสุขภาพของประชาชนนับว่าสิงคโปร์อยู่ในสถานะที่ค่อนข้างเสรี
นอกจากนี้ คุณกีรติกร ยังได้กล่าวถึง มีเดียคอร์ป (MediaCorp) ว่าเป็นกลุ่มบริษัทสื่อเชิงพาณิชย์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในสิงคโปร์ มีสถานีโทรทัศน์ในสังกัดจำนวน 7 ช่อง และสถานีวิทยุจำนวน 12 ช่อง ส่งผลให้มีเดียคอร์ปมีสถานภาพการให้บริการสื่อรายใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ บริหารจัดการโดยบริษัทเทมาเส็กโฮลดิงส์ (Temasek Holdings) โดยมีกระทรวงพาณิชย์ของสิงคโปร์เป็นผู้ถือหุ้นรายเดียว ส่งผลให้หลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลสิงคโปร์ดำเนินการปิดกั้นสื่ออยู่หรือไม่
ขณะที่ รัฐบาลสิงคโปร์มองว่า มีเดียคอร์ปไม่ใช่เครื่องมือในการควบคุมสื่อของรัฐบาล เนื่องจากรายได้ของมีเดียคอร์ปไม่ได้มาจากการลงทุนของรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียวอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ แต่มาจากค่าโฆษณา พร้อมอธิบายถึงสาเหตุที่รัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามาจัดการสื่อว่า หากปล่อยให้เอกชนดำเนินกิจการโดยปราศจากข้อบังคับบางประการ สื่อเอกชนก็จะนำเสนอเนื้อหาด้วยภาษาอังกฤษแต่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากต้องการเข้าถึงผู้รับสารให้ได้มากที่สุด ซึ่งในประเด็นนี้อาจเป็นการลดความสำคัญของภาษาอื่นในสิงคโปร์ลง ได้แก่ ภาษามาลายู จีนแมนดาริน และภาษาทมิฬ เป็นต้น ดังนั้น การเข้าไปจัดการสื่อของรัฐบาลก็เพราะต้องการคงไว้ซึ่งสังคมพหุวัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยการใช้ภาษาที่หลากหลายไว้