นายโจโก วิโดโด (โจโกวี) ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเสี่ยงคะแนนนิยมตกหลังจากออกพระราชกฤษฎีกาแบนกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง Hizbut Tahrir
พระราชกฤษฎีกาที่ลงนามโดยประธานาธิบดีนี้ให้อำนาจรัฐบาลในการยกเลิกการพิจารณาคดีกลุ่มใดก็ตามที่ท้าทายปัญจศีล (Pancasila) ซึ่งเป็นหลักการแห่งชาติที่ตั้งขึ้นเพื่อสร้างความสามัคคีของคนในชาติ ความยุติธรรมทางสังคม และประชาธิปไตยควบคู่ไปกับความเชื่อในพระเจ้า และความหลากหลายทางศาสนา กล่าวได้ว่าเป็นการแยกรัฐกับศาสนาออกจากกันอย่างชัดเจน จากพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวส่งผลให้กระทรวงกฎหมายและสิทธิมนุษยชนได้สั่งแบนกลุ่มอนุรักษ์นิยมอิสลามHizbut Tahrir โดยกล่าวว่าเพราะกลุ่มดังกล่าวได้ทำการสนับสนุนหลักศาสนาอิสลามและกิจกรรมอื่น ๆ ที่เบี่ยงเบนไปจากหลักปัญจศีลอินโดนีเซีย
โจโกวีกล่าวว่าการใช้อำนาจเป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากภัยคุกคามต่อความสามัคคีและอำนาจอธิปไตยของอินโดนีเซียนั้นกำลังเพิ่มขึ้น ฉะนั้นประเทศต้องกล้าที่จะใช้อำนาจในการควบคุม อย่างไรก็ตามพรรคฝ่ายค้านบางส่วนวิจารณ์การกระทำดังกล่าวของโจโกวีว่าเป็นการเพิ่มอำนาจของรัฐสภามากขึ้นในช่วงเวลาทีโจโกวีต้องการกระตุ้นการเก็บภาษีเพื่อแผนการใช้จ่ายของเขา พรรคของโจโกวียังครองเสียงข้างมากในสภาราว 70% จาก 560 ที่นั่งในรัฐสภา แต่ในสภาเองก็ยังมีความเห็นที่ขัดแย้งกันในบางครั้งแม้กระทั่งฝ่ายที่สนับสนุนโจโกวีก็ตาม
นายมาดานี่ อาลี เซร่า รองเลขาธิการพรรคฝ่ายค้านจากพรรค Prosperous Justice กล่าวว่าฝ่ายค้านมีความกังวลว่าการออกพระราชกฤษฎีกาที่ใช้ปราบปราบองค์กรต่าง ๆ ที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวกับรัฐบาลนั้นจะนำไปสู่รัฐเผด็จการได้ วิธีการจัดการปัญหากลุ่มอิสลามหัวรุนแรงทีมีประสิทธิภาพมากที่สุดคือการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ใช่การออกกฎหมายมากำจัดองค์กรฝ่ายตรงข้ามกับรัฐ
ที่มา todayonline.com