home

โรฮิงญา: ปัญหาความมั่นคงหรือวิกฤตมนุษยธรรม?

ตุลาคม 13, 2017
โรฮิงญา: ปัญหาความมั่นคงหรือวิกฤตมนุษยธรรม?

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2560 สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “เข้าใจโรฮิงญา: ปัญหาความมั่นคงหรือวิกฤตมนุษยธรรม?” เพื่อทำความเข้าใจปัญหาเกี่ยวชาวมุสลิมโรฮีนจาในเมียนมา รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่เชื่อมโยงกับประเทศไทย รวมถึงด้านปัญหาผู้อพยพและเรื่องที่เกี่ยวข้อง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนงานวิชาการด้านเอเชียศึกษา

ปัจจุบัน สถานการณ์ปัญหาโรฮีนจาในรัฐยะไข่ตกอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดอย่างยิ่ง อันเป็นผลมาจากการปะทะกันระหว่างกองกำลังติดอาวุธชาวโรฮีนจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารของเมียนมา ส่งผลให้ชาวโรฮีนจาจำนวนหนึ่งอพยพมายังประเทศไทยทั้งทางบกและทางทะเล สถานการณ์ดังกล่าวจึงมีความเกี่ยวข้องกับไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ กระทั่งในวันที่ 30 สิงหาคม 2560 พลเอกอาวุโสมิน อ่อง ไหล่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา เดินทางมาเข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อชี้แจงถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมขอให้รัฐบาลไทยใช้คำว่า “เบงกาลี” ในการเรียกผู้อพยพกลุ่มนี้แทนคำว่าโรฮีนจา ซึ่งฝ่ายไทยก็แสดงการตอบรับเพราะเห็นว่าเป็นประเด็นอ่อนไหว ขณะที่หลายฝ่ายมองว่าความพยายามในการเปลี่ยนคำที่ใช้เรียกชาวโรฮีนจาที่เกิดขึ้นนั้น เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้องค์กรระหว่างประเทศมองชาวโรฮีนจาในฐานะ “กลุ่มมุสลิมติดอาวุธ” เพื่อสร้างความชอบธรรมในการขับไล่คนกลุ่มนี้ออกจากเมียนมา

ความพยายามในการผลักดันให้ชาวโรฮีนจาที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ออกนอกประเทศนั้น ส่งผลให้คนกลุ่ม (ส่วนใหญ่) นี้จำต้องไปอาศัยอยู่ตามแคมป์ผู้ลี้ภัยที่มีสภาพแร้นแค้นและไม่อาจทราบได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของตนในอนาคต ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วชาวโรฮีนจากลุ่มนี้ ได้อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่มาหลายชั่วอายุคน แต่หลังจากที่เมียนมาได้รับเอกราชจากอังกฤษ พวกเขากลับถูกกดดันให้ออกจากประเทศ เนื่องจากรัฐบาลเมียนมามองว่าชาวโรฮีนจาเป็นผู้อพยพที่มาจากบังกลาเทศในสมัยที่เมียนมาตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ ส่งผลให้รัฐบาลเมียนมาไม่ยอมรับว่าคนกลุ่มนี้เป็นชนพื้นเมืองของประเทศตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญเมียนมา ชาวโรฮีนจาจึงไม่ได้รับสิทธิการคุ้มครองใดๆ จากรัฐบาล เช่น การเข้าถึงการศึกษา และสิทธิในการรักษาโรค เป็นต้น อีกทั้งยังถูกคุกคามอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะประเด็นทางศาสนาและเชื้อชาติ

คุณศิรวงศ์ สุขทวี ผู้ประสานงานเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (Coalition for the Rights of Refugees and Stateless Persons) กล่าวว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาถือได้ว่าเป็นอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับมนุษยชาติที่กระทำโดยรัฐบาลเมียนมา ผ่านการสร้างภาพว่าชาวโรฮีนจาที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่เป็นชาวเบงกาลี กระทั่งกลายเป็นฉันทามติในสังคมเมียนมาที่ว่ากลุ่มคนเหล่านี้คือผู้อพยพชาวเบงกาลี ส่งผลให้รัฐบาลเมียนมามีความชอบธรรมในการผลักดันให้คนกลุ่มนี้เดินทางออกนอกประเทศ ขณะเดียวกันความพยายามในการพลักดันชาวโรฮีนจาออกนอกประเทศของรัฐบาลเมียนมาได้ก่อผลย้อนกลับให้ชาวโรฮีนจาลุกขึ้นมาต่อต้าน โดยทางรัฐบาลเมียนมาเรียกกลุ่มต่อต้านนี้ว่า “กลุ่มผู้ก่อการร้าย” เพื่อเพิ่มความชอบธรรมในการเข้าปราบปราม

ด้านอาจารย์ ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซียมีความพยายามที่จะผลักดันประเด็นดังกล่าวไปสู่เวทีในระดับอาเซียนนับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา หลังพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างศาสนาพุทธและอิสลามที่เกิดขึ้นในเมียนมา พร้อมกล่าวถึงวิสัยทัศน์ของ ดร สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ที่เคยกล่าวไว้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในเมียนมาจะแพร่ออกไปยังประเทศอื่น เนื่องจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาภายในประเทศเมียนมาแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับภายนอกและปัจจัยที่หลากหลาย

นอกจากนี้ อาจารย์ ดร.ศรีประภา ยังกล่าวถึงประเด็นที่ว่า แม้ชาติสมาชิกอาเซียนจะพยายามผลักดันให้เกิดการพูดคุยในประเด็นนี้มากขึ้น แต่หากยังมองว่าการไม่ยอมรับชาวโรฮีนจาของรัฐบาลเมียนมา กระทั่งชาวโรฮีนจาจำต้องเดินทางหลบเลี่ยงหนีภัยออกนอกประเทศนั้นเป็นเพียงการเคลื่อนย้ายแบบไม่ปกติ (irregular migration) ทางทะเลหรือการมองว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงว่าเป็นเพียงเป็นเพียงปัญหาการค้ามนุษย์นั้น ก็อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงจุด

ส่วน ดร.ศราวุฒิ ฮาเร็ม รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงคำใช้เรียกชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในรัฐขะไข่ของเมียนมาว่า “เบงกาลี” หมายถึงกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในหลายพื้นที่และเต็มไปด้วยวัฒนธรรมที่หลากหลาย โดยส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามและอาศัยอยู่ในอ่าวเบงกอซึ่งอยู่ทางตอนตะวันออกของประเทศอินเดีย ส่วนคำว่า “โรฮีนจา” บางส่วนสืบเชื้อสายมาจากชาวเบงกาลี และมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ในรัฐยะไข่ของเมียนมามาเป็นเวลานาน ทั้งนี้รัฐบาลเมียนมาพยายามอธิบายว่าชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในรัฐขะไข่เป็นชาวเบงกาลี อันเป็นการสร้างความเข้าใจที่ว่าคนกลุ่มนี้ไม่ใช่ชาวเมียนมาแต่เป็นชาวบังคลาเทศ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการผลักดันคนกลุ่มนี้ออกนอกประเทศ

Leave A Response

คลังข้อมูล

พบกับเราที่ Facebook

Tweets ล่าสุด

No tweets found.

แผนที่อาเซียน